In Bangkok

ผู้ว่าฯกทม.สั่งเอาจริงจยย.ขี่บนทางเท้า เตรียมตั้งกล้อง8จุดตรวจจับปรับรถมักง่าย



กรุงเทพฯ-(7 มิ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีต้นไม้ล้มในพื้นที่เขตปทุมวันเมื่อวานนี้ (6 มิ.ย. 66) ว่า จากข้อมูลเดิมในพื้นที่กรุงเทพฯ มีต้นไม้ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านต้น ทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ริมถนนที่สำนักงานเขตดูแลและในสวนสาธารณะที่สำนักสิ่งแวดล้อมดูแล ปัจจุบันกรุงเทพมหานครไม่มีรุกขกรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ที่แท้จริง แนวทางหนึ่งคือการมีรุกขกรประจำเขต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมรุกขกร จากเหตุต้นไม้ล้มที่เขตปทุมวัน ขณะนี้ต้องทำการตรวจสอบต้นไม้ที่เหลืออยู่ โดยจะขอความร่วมมือจากสมาคมรุกขกรในการดำเนินการ และในปี 2567 จะมีการขอจัดสรรงบประมาณตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 40,000 ต้น เพื่อเป็นฐานข้อมูล และจะทำ 2 เรื่องขนานกันไป เรื่องแรก คือ สำรวจต้นไม้ที่มีความเสี่ยงในพื้นที่เขตก่อน โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินการและให้คนที่มีความเชี่ยวชาญไปตรวจสอบสภาพรากว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากต้นไม้ล้มเมื่อวานก็เกิดจากรากเปื่อยพอพายุมาก็โค่น จึงต้องทำดาต้าเบสให้ชัดหากต้องมีการค้ำยันต้นไม้ก็ทำ อีกเรื่องคือการเสริมสร้างบุคลากร มีการอบรมรุกขกรเพื่อให้มีประจำทุกเขต 

สำหรับการตรวจสอบความแข็งแรงของต้นไม้นั้นผู้เชี่ยวชาญจะมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจ แต่หากมีความจำเป็นกรุงเทพมหานครก็อาจต้องเตรียมไว้ นอกจากนี้ในการปลูกต้นไม้ก็ต้องเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมและมีการดูแลต้นไม้เก่าให้ดีด้วย

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ส่วนปัญหามอเตอร์ไซต์บนทางเท้านั้น ปัจจุบันเขตจะมีการจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่อยู่แล้ว แต่การให้เทศกิจไปเดินจับคนขี่มอเตอร์ไซต์บนทางเท้าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้เต็มที่ ซึ่งทั้ง 50 เขต มีจุดหลักประมาณ 77 จุด นอกจากเทศกิจลงพื้นที่ตรวจแล้วก็จะมีการติดตั้งกล้องช่วยในการจับปรับผู้กระทำผิดด้วย เบื้องต้นจะติดตั้งกล้อง 8 จุดก่อน โดยกล้องสามารถตรวจจับและอ่านทะเบียนรถได้เลย สามารถนำมาปรับได้เลย เพราะเทศกิจมีอำนาจในการปรับรถขับขี่บนทางเท้า ซึ่งอัตราสูงสุดจะอยู่ที่ 5,000 บาท แต่ตอนนี้ปรับอยู่ 2,000 บาท จริง ๆ ไม่ได้อยากได้เงินค่าปรับ เพราะรู้ว่าทุกคนก็เดือดร้อน แต่อยากให้ทางเท้าเป็นทางเท้าจริง ๆ หัวใจคือความมีระเบียบและวินัย ถ้าให้มีการทำผิดซ้ำ ๆ ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นได้

นอกจากนี้จะขอความร่วมมือไปยังบริษัทส่งอาหารหรือสิ่งของให้กำชับพนักงานหรือไรด์เดอร์ รวมถึงมีการอบรมหรือมีมาตรการแจ้งพนักงานเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามขณะเดียวกันก็มีปัญหาที่ต้องคิด คือ การก่อสร้างที่มีการปิดถนนยาว ๆ ทำให้รถจักรยานยนต์ไปกลับรถไกล มีทางไหนที่จะทำให้สะดวกขึ้นไหม เช่น การเปิดช่องให้กลับรถไม่ไกล 

ส่วนกรณีวินมอเตอร์ไซต์บนฟุตบาทที่ได้รับอนุญาตมานานแล้วนั้น ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าจุด ก็ต้องดูว่าจะเอาออกจากฟุตบาทไปอยู่ที่ไหนได้บ้างแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เบื้องต้นขอให้ไม่ขับบนฟุตบาท ให้จูงรถลงมาจากฟุตบาทและขึ้นข้างล่าง ช่วยทำให้ผู้ใช้ทางเท้าได้รับความปลอดภัยมากขึ้น