Biz news

กลุ่มสุราผลไม้เมืองแปดริ้วตื่นตัวเตรียม เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่หลังยอดขายขยับ 



ฉะเชิงเทรา-กลุ่มสุราผลไม้แปดริ้ว ตื่นตัวเตรียมเพิ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรสูตรใหม่เข้าสู่ตลาด รอรับรัฐบาลยุคถัดไปในอนาคตที่จะผลักดันสุราก้าวหน้า หลังยอดขายเริ่มขยับดีขึ้น แจงในอดีตติดขัดปัญหาด้านการทำตลาดให้เติบโตจากข้อจำกัดรอบด้าน วอนปรับแก้ให้ผู้ผลิตมีโอกาสเปิดตัวทำตลาดเพิ่มขึ้น พร้อมเดินหน้าแปรรูปสินค้าการเกษตรตกไซด์ผิดขนาด สร้างเป็นมูลค่าแทนการทำลายทิ้งไปอย่างสูญเปล่า

วันที่ 7 พ.ค.66 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.ปคุณา บุญก่อเกื้อ เจ้าของฟาร์มเกษตรเมล่อน วัย 43 ปี ในพื้นที่ ม.1 ต.ท่าพลับ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยสูง ที่ได้นำผลผลิตมาทำการแปรรูปเป็นไวน์ผลไม้ว่า หลังจากมีกระแสเกี่ยวเรื่องสุราก้าวหน้าเข้ามาในสื่อสังคม ปัจจุบันทำให้สุราแช่หรือสุราชุมชนกลับมาได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น จึงอยากขอขอบคุณผู้ที่สร้างกระแสให้เกิดขึ้น 

จนทำให้ปัจจุบันได้มีผู้สนใจในสินค้าของเรา เข้ามาท่องเที่ยวศึกษาดูงานยังที่ฟาร์มของเรามากขึ้น และยังทำให้ยอดการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยถึงร้อยละ 50 จากเมื่อช่วงก่อนหน้า จากเดิมที่เคยวางจำหน่ายได้แต่เพียงหน้าฟาร์ม โดยผลิตภัณฑ์ของเรานั้นเป็นสินค้าที่มาจากชุมชนอย่างแท้จริง ที่เกิดจากการหมักร้อยเปอร์เซ็นต์ จนเป็นไวน์รสหวาน (Sweet wines) รับประทานง่าย โดยมีแอลกอฮอล์แบบเบาๆ ในสูตรแรก จนปัจจุบันสามารถผลิตออกมาได้รวม 5 สูตร 5 รสชาติแล้ว

ประกอบด้วยสุราแช่สีเขียวที่มีความหอมหวานดื่มง่าย ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้มาจากเมล่อนเนื้อสีเขียวหรือสายพันธุ์อาซาฮี ซึ่งเป็นสายพันธุ์จากญี่ปุ่น ที่นำมาปลูกภายในฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นรสชาติ สี กลิ่นและแอลกอฮอล์ที่ได้ในปริมาณ 4.8 เปอร์เซ็นต์นั้น ล้วนได้มาจากการหมักตามกระบวนการทางธรรมชาติทั้งสิ้นรวมระยะเวลา 6 เดือน ขณะที่สุราแช่สีเหลืองนั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ 5 เปอร์เซ็นต์ ได้มาจากเมล่อนเนื้อสีเหลืองสายพันธุ์จันทร์ฉาย สายพันธุ์บารมี และพันธุ์อาซาฮี 

ซึ่งจะมีรสชาติหวานน้อยกว่าสีเขียว เนื่องจากเมล่อนเนื้อสีส้มนั้นจะมีเฉพาะความหวานและกรอบ แต่จะไม่มีความหอม จึงมีกลิ่นหอมน้อยกว่าสีเขียว แต่เมื่อเราดื่มเข้าไปแล้ว สีเหลืองจะมีความละมุนของน้ำมากกว่าจึงเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบความหวานมากนัก ส่วนผลิตภัณฑ์ถัดมานั้นเป็นสาโทไทย ซึ่งมีสีเหลืองใส ที่ได้จากการหมักด้วยข้าว กข43 จากผลผลิตในนาข้าวของกลุ่มสมาชิก ที่ทำการเพาะปลูกในท้องนาของคนในชุมชน ที่ได้ปริมาณแอลกอฮอล์ออกมาที่ 5.2 เปอร์เซ็นต์ 

นอกจากนี้ยังมีการผลิตสุราแช่ที่ได้จากการหมักข้าวหอมนิล จะมีน้ำสีเหลืองเข้มและได้ปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้นที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งสีและกลิ่นนั้นออกมาจากเมล็ดข้าวทั้งสิ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ตัวสุดท้ายนั้น ถือเป็นไวน์โดยสมบูรณ์แบบขนาดแอลกอฮอล์ 10 ดีกรี ที่หมักจากเมล่อนมีกลิ่นหอมจางๆ เนื่องจากใช้เวลาหมักนานเป็นเวลา 12 เดือน 

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตไวน์มีสมาชิกจำนวน 8 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยในชุมชน ที่มารวมตัวกันสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ ให้แก่คนสูงวัยในชุมชน ที่ได้นำภูมิปัญญาจากคนยุคเก่ามาใช้ เช่น การหั่นการหมัก และสิ่งที่เป็นความสุขนั้นเมื่อเรานำสินค้าไปออกบูธแนะนำสินค้า หรือนำออกขาย ยังตลาดภายนอกได้รับรู้ ว่าสุราแช่แบรนด์ฟุราโนะ (FURANO) ได้เกิดขึ้นแล้วที่ จ.ฉะเชิงเทราและในโลกใบนี้

โดยที่บรรดาคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มาร่วมกันผลิตนั้นได้มีการโทรศัพท์ไปสอบถามว่า “เป็นอย่างไร บ้างลูกขายได้ไหม” เมื่อเราบอกว่าขายได้ ทำให้คนในชุมชนนั้นเกิดเป็นความดีอกดีใจเป็นอย่างมาก และมีกำลังใจที่จะทำต่อไป จึงเป็นความรู้สึกที่มีคุณค่ามากกว่าคำว่าเงิน ได้ความภูมิใจและมีความสุขที่เราได้ทำงานกับชุมชนด้วย จึงทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเรายังไม่ได้ทำงาน แต่เป็นการทำอะไรที่สนุกอยู่กับฟาร์มของเรา 

หากใครเคยได้มาที่ฟาร์มของเรานับจากจุดเริ่มต้นด้วยเงินทุนเพียงแค่ 3 พันบาท จะเห็นได้ว่าเรามีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่เราปลูกเมล่อนให้แก่คนที่เรารักได้รับประทาน “นั้นคือสามี” และไม่ได้คิดว่าเราจะมาเป็นเกษตรกร จนเมื่อเราได้ลงมือทำและได้รู้ว่าเกษตรกรพื้นบ้านนั้นเก่งในด้านการผลิตมาก มีองค์ความรู้ในด้านการปลูกพืชผักมาก แต่สิ่งที่เขาขาดไปคือการตลาด จึงได้คิดว่าจะต้องมีการรวมกลุ่มกันแล้ว จึงได้มีการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เป็นยังสมาร์ทฟาร์ม หรือเป็นกลุ่มอะไรขึ้นมา

เมื่อเรามีการดำเนินงานในรูปแบบของสหกรณ์ ที่มีสมาชิก 88 ราย มี 153 โรงเรือนแล้วจึงทำให้เราสามารถส่งเมล่อนขายขึ้นเครื่องสู่การบินไทยได้ ตามโครงการของ จ.ฉะเชิงเทรา และยังผลิตและส่งสินค้าไปจำหน่ายยังในห้างโมเดิร์นเทรดหลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผลผลิตประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์นั้นจะเป็นสินค้าตกไซด์ หรือเกรดรองจึงได้นำสินค้าในส่วนนี้มาแปรรูปทำเป็นสุราแช่เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

โดยจุดเริ่มต้นของการนำมาผลิตไวน์เมล่อนนั้น เริ่มขึ้นมาเมื่อช่วงกลางปี 2565 หลังจากได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากแล้ว ได้เกิดภาวะน้ำท่วมขังในช่วงที่ผลผลิตใกล้จะเก็บเกี่ยวโดยเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 5 วัน ที่จะได้เงินแล้วแต่กลับถูกน้ำท่วมแล้วเกิดความเสียหายทั้งหมด จะนำไปทิ้งหรือทำเป็นปุ๋ยนั้น ดูแล้วไม่สามารถที่จะสร้างมูลค่าได้จริง จึงคิดว่าจะหาทางช่วยเพื่อนให้ได้อย่างไร จึงเสมือนเป็นการถูกบีบคั้น เพี่อให้เราหาทางออก จึงได้นำมาทดลองหมักให้กลายมาเป็นไวน์ และดูว่าจะได้ผลไหม เมื่อหมักแล้วได้ผลที่ออกมาทั้งรสชาติและซิกเนเจอร์ทุกอย่างนั้น ได้มาจากกระบวนการตามธรรมชาติจริงๆ 

จึงไม่ใช่เครื่องดื่มที่จะทำให้เมามายอย่างเดียว แต่เป็นการดื่มเพื่อสุขภาพ หรือให้สรรพคุณในทางยาได้ ช่วยระบบย่อยอาหารได้ ทำให้นอนหลับดีและตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่น ช่วยชะลอความแก่ได้ โดยแอลกอฮอล์ที่เกิดจากกระบวนการหมักโดยธรรมชาตินั้นจะให้สรรพคุณมากมาย “ฟุราโนะ”  จึงเป็นสินค้าของชุมชนที่เราทำขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนในชุมชนของเราเองจริงๆ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกสหกรณ์จำนวน 88 รายอีกทางหนึ่งด้วย ที่มีผลผลิตออกมาตลอดทั้งปี เป็นการรองรับผลผลิตล้นตลาด หรือผลผลิตที่มีขนาดตกไซด์ ให้สามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าใหม่ได้ โดยที่ไม่ต้องถูกนำไปทำลายทิ้งอย่างสูญเปล่า 


 
สำหรับกำลังการผลิตสุราแช่หรือไวน์ผลไม้ของเรารวมทุกรสชาตินั้น อยู่ที่สัปดาห์ละ 1 หมื่นขวด ขณะที่ปัจจุบันสามารถขายได้ประมาณ 3 พันกว่าขวดต่อเดือน จึงมีช่องว่างเกิดขึ้นระหว่างกำลังการผลิตกับการจำหน่ายออกสู่ตลาด จึงต้องการหาตลาดหรือคนมาช่วยขายให้ เนื่องจากข้อจำกัดของสุราแช่จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กนั้น จะเก่งในด้านการผลิตแต่ทางด้านการตลาดนั้นไม่เก่ง จึงทำให้ช่องทางการจำหน่ายมีน้อยกว่า    

ในอนาคตหากมีการส่งเสริมสุราก้าวหน้า ทางกลุ่มจะทำการแปรรูปสินค้าเกษตรทุกชนิดที่สมาชิกปลูกในกลุ่ม เช่น มะม่วงหาวมะนาวโห่หรือผลไม้อื่นๆ ที่ปลูกแล้วเกิดการผิดพลาด ผลไม่ได้ขนาด แต่ยังคงมีคุณค่าสมบูรณ์เช่นเดียวกันกับสินค้าพรีเมี่ยมที่คัดเกรดแล้ว รวมถึงการผลิตในปริมาณที่มากเกินไป เราจะทำการรับซื้อจากเกษตรกรเพื่อมาเข้าสู่โรงบ่มทั้งหมด จึงอยากจะขอบคุณกระแสที่ออกมาช่วยสนับสนุนสุราพื้นบ้านให้เกิดความตื่นตัว และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น 

ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรไทย ในการที่จะแปรรูปสินค้าเกษตรแล้วมันสามารถขายได้ทั้งหมด จึงอยากจะฝากไปถึงยังรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ว่าขอให้ช่วยเหลือให้เรามีพื้นที่ยืนในตลาดได้บ้าง กฎหมายบางอย่างควรเปิดโอกาสให้สามารถโฆษณาได้บ้างก็ยังดี รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ จากที่ได้พบมา คือ เวลาที่เราจะไปฝากขายของตามร้านค้าของฝาก หรือห้างร้านอื่นๆ นั้น มีปัญหาในเรื่องของการติดเวลาในการจำหน่าย ที่มีกำหนดให้ขายเฉพาะช่วงเวลาไว้ จนขายไม่ได้ 

จึงทำให้การทำตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้นทำได้ยากมาก จึงอยากให้เปิดกฎหมายบางอย่างให้เราได้ขายง่ายขึ้น หรือมีการอนุญาตโพสต์ขายผ่านทางโซเชียลได้ และลดข้อจำกัดเรื่องเวลาขายได้บ้างหรือไม่ พวกเรามีองค์ความรู้ในการที่จะผลิต และผลิตออกมาได้แล้วรสชาติออกมาอร่อย จะดีไหมถ้าเราทำได้แล้วเราขายได้ด้วย พวกเราไม่อยากมาติดกับดัก หลังจากที่ทำได้แล้วแต่กลับถูกห้ามทำทุกอย่างในการขาย ฉะนั้นเราก็จะกลับไปสู่สภาพเดิมที่ทำออกมาได้แต่ขายไม่ได้

เนื่องจากไม่สามารถที่จะบอกกับคนอื่นได้อย่างโจ่งแจ้ง ว่าเรามีสุราชุมชนมีสุราแช่เกิดขึ้นมาแล้วที่นี่ จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเหมือนกับสินค้าอื่นๆ ที่เคยทำมา จึงอยากให้เปิดช่องเกี่ยวกับกฎหมาย อะไรที่ตึงมากไปขอให้ SME ขอให้เกษตรกรตัวเล็กๆ ได้บอกกับคนอื่นได้บ้างว่าเรามีสินค้าตัวนี้เกิดขึ้นมาแล้วนะ ขอให้เราได้ประกาศออกไปบ้าง

สำหรับที่มาของชื่อ “ฟุราโนะ” แปลว่าอารมณ์ดีสดชื่นสบายๆ มีความสุข อยู่ด้วยแล้วสนุกสนาน เมื่อได้ดื่มแล้วจะรู้สึกสนุกสนาน โดยมีที่มาที่ไปจากการที่สามีได้ซื้อเมล่อนมาจากเมืองๆหนึ่งในญี่ปุ่น และเป็นเมล่อนลูกแรกในชีวิตที่ได้ทดลองชิมเมื่อกว่า 7 ปีที่มาแล้วจากที่นั่นในราคาที่สามีซื้อมาฝากถึงลูกละ 2,700 บาท จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้มาเป็นเกษตรกร และเป็นแรงบัลดาลใจให้แปรรูปมาเป็นสุราแช่ชุมชนอีกต่อหนึ่งด้วยจึงได้ใช้ชื่อนี้ 

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา