Think In Truth

'สัญญาปีศาจ'กลืนเลือด!เพื่อชาติเดินต่อ โดย : หมาเห่าการเมือง



สื่อต่างชาติวิจารณ์ประเด็น ทักษิณกลับบ้าน-เศรษฐาขึ้นแท่นว่าที่นายกฯ ไม่ต่างจากการทำ “สัญญาปีศาจ” เพื่อครองอำนาจครั้งสุดท้ายก่อนพรรคหมดอนาคต มองรัฐบาลใหม่ส่อแววไร้เสถียรภาพ-ประสิทธิภาพ

เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักยังต่างประเทศถึง 17 ปี ได้สร้างเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยการเดินทางกลับแผ่นดินเกิดในวันเดียวกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ผ่านการรับรองจากรัฐสภาให้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลผสมชุดใหม่ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

สื่อมวลชนหลายสำนักจากทั่วโลก รวมถึงบีบีซีเกาะติดรายงานข่าว โดยส่วนใหญ่มองว่าเหตุการณ์สำคัญทั้งสองมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันอย่างลึกซึ้ง ในแบบที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน

โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวของบีบีซีประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานว่า ทักษิณมีความมั่นใจว่าตนเองจะต้องรับโทษจำคุกหลังกลับไทย แต่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น โดยคาดว่าเขาจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษในไม่ช้า ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลาแค่ 1-2 เดือน

เฮด มองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษนิยม

ผลของการเจรจารอมชอมกันครั้งนี้ เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองไทย โดยกลุ่มผู้นิยมสถาบันกษัตริย์อย่างสุดโต่ง (ultra-royalist) ยอมสงบศึกและหันมาจับมือกับพรรคเพื่อไทยของทักษิณ เนื่องจากมองว่าขบวนการปฏิรูปของคนรุ่นใหม่ ซึ่งนำโดยพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้ง จะเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์และฝ่ายอนุรักษนิยมยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มุ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า การที่เศรษฐาได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบอย่างท่วมท้นเหนือความคาดหมาย (แต่ไม่เกินคาดในแวดวงสื่อไทย) ทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกที่เคยออกเสียงสกัดกั้นพรรคก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาลนั้น แสดงถึงการย้ายข้างเปลี่ยนขั้วของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ซึ่งทำให้การเมืองไทยเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง โดยพรรคการเมืองของกองทัพที่เคยทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของตระกูลชินวัตรถึงสองครั้ง หันมาให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และยอมรับการกลับมาของทักษิณ

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานความเห็นของ รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่นว่า“นี่เป็นการลงทุนเพื่อหวังผลระยะสั้น โดยไม่ได้มองการณ์ไกลเอาเสียเลย การตัดสินใจเช่นนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือผู้ที่ลงคะแนนสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่เพื่อผลประโยชน์ของตัวทักษิณเองเท่านั้น” รศ.ปวิน กล่าว

“สัญญาปีศาจ” ที่แลกมาด้วยอนาคตของเพื่อไทย

ด้านสำนักข่าวเอพี รายงานความเห็นของ .ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “ในอดีตนั้น ประชาชนมองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแข็งขันที่สุด แต่มาตอนนี้ ความรู้สึกยกย่องชื่นชมที่ประชาชนเคยมีให้มาก่อน กำลังสลายหายไป

ส่วนนิตยสารไทม์ เสนอบทความเชิงวิเคราะห์โดยพาดหัวข่าวว่า “ในที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองประชานิยมของไทยก็ชนะการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง ?”

ไทม์ รายงานว่า ในตอนนี้ การเมืองไทยได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นยุคแห่งการยึดกุมอำนาจไว้ในมือได้เป็นครั้งสุดท้าย ของทั้งพรรคเพื่อไทยและกลุ่มอำนาจเก่าฝ่ายอนุรักษนิยม

ไทม์ ยังรายงานความเห็นของ รศ.ดร.มาร์ก เอส. โคแกน จากมหาวิทยาลัยคันไซไกไดของญี่ปุ่นว่า “พรรคเพื่อไทยได้ทำลายตนเองและทำลายความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคก้าวไกล เห็นได้ชัดว่าเพื่อไทยมองแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นมากเกินไป ในขณะที่การยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล จะเป็นผลดีต่อขบวนการปฏิรูปในระยะยาว”

ดร.ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิจัยรับเชิญที่สถาบันยูซอฟ อิชัก เพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ของสิงคโปร์ แสดงความเห็นกับนิตยสารไทม์ว่า “การที่เพื่อไทยหันไปจับมือกับพรรคการเมืองที่กองทัพสนับสนุน เท่ากับปิดตายโอกาสทางการเมืองที่จะได้เป็นพันธมิตรกับพรรคก้าวไกลและขบวนการประชาธิปไตยในอนาคต นอกจากนี้ จุดยืนในปัจจุบันของพรรคเพื่อไทย ยังทำให้พรรคสูญเสียความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ด่างพร้อยมีมลทินไปแล้ว ในสายตาของขบวนการเสรีนิยมและกลุ่มผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย”

รัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ-ประสิทธิภาพ

สื่อต่างชาติหลายสำนักมองว่า รัฐบาลผสม 11 พรรคที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และมีพรรคฝ่ายเผด็จการที่อดีตรัฐบาลทหารสนับสนุนเข้าร่วม รวมทั้งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีที่ควบคุมกระทรวงสำคัญด้วย จะเป็นรัฐบาลที่ต้องประสบปัญหาการขาดเสถียรภาพเป็นอย่างมาก และไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่เคยลั่นวาจาเอาไว้

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานความเห็นของ .ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า “แม้รัฐบาลชุดใหม่จะไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ แต่หลายฝ่ายตั้งความหวังว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาเรื้อรังต่าง ๆ ของประเทศ มากกว่ารัฐบาลชุดก่อน ทั้งเรื่องหนี้สินครัวเรือน, สังคมที่เต็มไปด้วยประชากรสูงวัย, และปัญหาอาชญากรรมที่พุ่งสูงขึ้น”

แต่อย่างไรก็ตาม ดร.ณพล จาตุศรีพิทักษ์ ได้แสดงความเห็นกับนิตยสารไทม์ต่อ ว่า “การที่เพื่อไทยจับมือกับฝ่ายเผด็จการ จะทำให้พบกับข้อจำกัดมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้านโยบายต่าง ๆ ที่เคยให้คำมั่นกับประชาชนไว้ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทยไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่าที่ควร เพราะต้องคอยประนีประนอมกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อประคับประคองรัฐนาวาที่ขาดเสถียรภาพให้คงอยู่ต่อไปได้

ส่วน .ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แสดงความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้กับสำนักข่าวเอพีว่า “การที่รัฐบาลผสมมีผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายมุ่งหวังมากมายหลากหลายเกินไป จะทำให้รัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่กลุ่มพันธมิตรที่จับมือกันอย่างสุขสันต์ชื่นมื่นเท่าใดนัก เพราะต้องคอยตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายที่มาจากกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามกัน”

ความเสียสละยอมตระบัดสัจจ์ เพื่อเป็นตัวกลางประสานความสามัคคีในชาติ”

นั่นคือมุมมองของสื่อต่างประเทศที่วิเคราะห์ตามข้อมูลเชิงประจักษ์ ตามสถานการณ์การณ์ที่เกิดขึ้น โดยอาศัยฐานข้อมูลของประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองแบบตะวันตกมาประเมินสรุปเพื่อคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคต  ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว การเมืองในประเทศไทยยังคงมีความลึกซึ้งและมีปัจจัยในการนำมาวิเคราะห์เพื่อประเมินสถานการณ์การเมืองในอนาคตได้ ปัจจัยพิเศษทางการเมืองโดยเฉพาะวัฒนธรรมจิ้มกล้อง ที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย หรือแม้แต่หลักแห่งพรหมวิหารที่ยังคงอยู่ใต้จิตสำนึกของคนไทยยังคงมีอิทธิพลต่อต่อความรู้สึกนึกคิดของคนไทยอยู่มาก การวิเคราะห์เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ขาดข้อมูลที่ซ่อนเร้นและความรู้สึกนึกคิดของคนไทยแล้ว ก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ทำให้วิเคราะห์การเมือง การปกครองของไทยผิดพลาด

ก่อนที่จะมีการโหวตรับรองนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ภายหลังร่วมประชุมหารือกับพรรคก้าวไกล เมื่อผู้สื่อข่าวถาม ว่า วันนี้ในที่ประชุมได้มีการขอโทษ หรือขอขมาพรรคก้าวไกลตามที่ออกข่าวหรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุว่า ก็ได้ขอโทษไปแล้ว ถ้าอะไรที่ตนทำไปแล้ว และรู้สึกว่าผิดพลาด ตนก็พร้อมขอโทษเพราะอยากให้ประเทศเดินหน้า อะไรก็ได้ที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ แต่ทุกอย่างก็ได้พูดคุยกันแล้ว ทุกคนก็นำไปคิดต่อ ซึ่งทุกอย่างยังมีเวลา เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะมีโอกาสกลับมาจับมือพรรคก้าวไกล เป็นพรรคร่วมฯ 312 เสียง เหมือนเดิมหรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า “อีกสักครู่ ไม่นาน ก็จะได้ทราบ”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นนักกิจกรรมยุค 14 ตุลาฯ ที่มีความสำคัญในการเคลื่อนไหวกลุ่มนักศึกษา โดยเป็นผู้วางยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหว นั่นถือว่านายภูมิธรรมมียุทธวิธีในการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว โดยมีเป้าหมายอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถพูดได้ และอาจจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องเสียสละอย่างมากที่ต้องยอมเจ็บ เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ ชึ่งอาจจะแลกด้วยการสูญเสียมวลชนบางส่วน ประหนึ่งดั่งบทประพันธ์สามัคคีคำฉันท์ ที่ประพันธ์โดยนายชิต บุรทัต แต่เมื่อ พ.ศ.2457 ในรัชสมัย รัชการที่ 6 หรือตามกระแสพระราชดำรัสต่างๆของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเน้นย้ำเรื่องความเสียสละและสามัคคี จึงขอยกตัวอย่างพร้อมคำอธิบายดังนี้:

“…ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้ปรากฏตลอดว่า ชาติใดเสื่อมสูญย่อยยับอับปางไป ก็เพราะประชาชาติขาดสามัคคีธรรม แตกแยกเป็นหมู่คณะ เป็นพรรคเป็นพวก คอยเอารัดเอาเปรียบ ประหัสประหารซึ่งกันและกัน บางพรรคบางพวกถึงกับเป็นไส้ศึกให้ศัตรูมาจูโจมทำลายชาติของตนดังนี้ ข้าพเจ้าจึงขอชักชวนพี่น้องชาวไทยทั้งหลายให้ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ ซึ่งได้กอบกู้รักษาบ้านเกิดเมืองนอนของเรามานั้นให้จนหนักแล้วถือเอาความสามัคคี ความยินยอมเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติเป็นคุณธรรมประจำใจอยู่เนืองนิจ จึงขอให้ชาวไทยทั้งหลาย จงบำเพ็ญกรณียกิจของตนแต่ละคนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อดทนและกล้าหาญ แล้วอุทิศความเสียสละส่วนตัว ความเหน็ดเหนื่อยลำบากยากเค้นเป็นพลีบูชาบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้ก่อสร้างชาติเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเราชาวไทยจนบัดนี้…”

กระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2494 วันที่ 31 ธันวาคม 2493

สัญญาปีศาจ ที่อาจจะเป็นหนทางแห่งความเป็นเอกภาพของคนในชาติ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของความศิวิไลซ์ของบ้านเมืองในอนาคต”