Think In Truth

'อิสราเอล'...ขุมทองแสนล้านแรงงานไทย โดย .... พินิจ จันทร



เชื่อว่ายังมีคนเป็นจำนวนมากยังไม่รู้ว่าอิสราเอลเป็นตลาดแรงงานที่มีคนไทยเข้าไปทำงานมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากไต้หวัน ทั้งนี้แม้จะรู้ว่าเป็นแผ่นดินเลือดแผ่นดินสงครามระหว่าง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” มานานนับร้อยปีหรือถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์แล้วว่ากันเป็นพันปี (อ่านในบทต่อไป) แต่เมื่อแลกกับรายได้จำนวนมากแล้วก็ย่อมเสี่ยง เพราะในช่วง 50 ปีมานี้ยังไม่ปะทุความรุนแรงและไม่มีผลกระทบเท่าใดนัก

“อิสราเอลถูกปกคลุมด้วยทะเลทรายกว่าครึ่งหนึ่งและมีพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเพียง 20% แถมยังมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมแต่ปัจจุบัน อิสราเอลสามารถพลิกทะเลทรายให้สามารถปลูกพืชได้ และกลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีการเกษตรอันดับต้นๆของโลกรวมถึงยังมีผลผลิตเหลือจากการบริโภคมากพอที่จะส่งออกได้อีกด้วย”

แต่หลังจากหลังความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้กำลังเข้าประหัตประหารกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสครั้งใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาได้เกิดประเด็นที่นำไปสู่ความกังวลมากที่สุดคือ ความปลอดภัยเพราะนอกจากเสียชีวิตกว่า 30 คนแล้วยังถูกจับไปเป็นตัวประกันเกือบ 20 คนโดยทุกฝ่ายกำลังหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มที่อยู่ในขณะนี้

จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566  มีแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอล รวมกันทั้งสิ้น 25,962 คน หรือคิดเป็น 19% ของจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ยังคงทำงานในต่างประเทศ (131,846 คน) โดยอิสราเอลเป็นประเทศในลำดับที่ 2 ต่อจากไต้หวัน รวม 48,747 คน หรือคิดเป็น 36.97% ที่มีจำนวนแรงงานไทยยังคงทำงานในต่างประเทศมากที่สุด 

ทั้งนี้หากย้อนดูสถิติแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงานในประเทศอิสราเอลรายปี มีดังนี้ คือในปี 2561 : รวม 8,409 คน (7.32%) : จากจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ไปทำงานต่างประเทศ 114,801 คน / ปี 2562 : รวม 9,122 คน (8%) : จากจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ไปทำงานต่างประเทศ 113,801 คน / ปี 2563 : รวม 2,547 คน (5.74%) : จากจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ไปทำงานต่างประเทศ 44,410 คน / ปี 2564 : รวม 6,081 คน (16.28%) : จากจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ไปทำงานต่างประเทศ 37,347 คน และในปี 2565 : รวม 9,417 คน (10.68%) : จากจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ไปทำงานต่างประเทศ 88,154 คน 

นอกจานี้แล้วจากสถิติของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ระบุว่า มีจำนวนแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล รวม 25,887 คน แบ่งเป็นชาย 25,237 คน 97.5% หญิง 650 คน 2.5% โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานจากจังหวัดอุดรธานี มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 รวม 4,042 คน (15.61%) อันดับที่ 2 เป็นแรงงานจากจังหวัดเชียงราย 2,174 คน (8.4%) อันดับที่ 3 เป็นแรงงานจาก จังหวัดนครราชสีมา 2,163 คน (8.36%) อันดับที่ 4 มาจากจังหวัดนครพนม 2,136 คน (8.25%) และอันดับที่ 5 มาจากจังหวัดหนองบัวลำภู" 1,311 คน (5%)

สำหรับเมืองในประเทศอิสราเอล ที่แรงงานไทยเข้าไปทำงาน ได้แก่ 1. ตอนใต้ของประเทศ (Hadarom) : 12,665 คน (48.92%) 2. ตอนกลางของประเทศ (Hamerkaz) : 5,849 คน (22.59%) 3. ตอนเหนือของประเทศ (Hazafon) : 3,865 คน (14.93%) 4. เมืองไฮฟา (Haifa) : 1,397 คน (5.4%) 5. กรุงเทลอาวีฟ (Tel Aviv) : 710 คน (2.74%) 6. เมืองอื่นๆ : 508 คน (1.96%) 7. เขตเวสต์แบงก์ (Westbank) : 395 คน (1.53%) 8. เขตเยรูซาเล็ม (Jerusalem) : 395 คน (1.53%) และ 9 คือแคว้นยูเดียและสะมาเรีย(Judea and Samaria) :  103 คน (0.40%)

ส่วนอาชีพที่คนไทยเข้าไปทำงานมากที่สุดในประเทศอิสราเอล อันดับที่ 1 ได้แก่ คนงานภาคการเกษตร 21,658 คน หรือ คิดเป็น 83%  อันดับที่ 2. พ่อครัวชั้นหนึ่ง 118 คน หรือ คิดเป็น 0.46% อันดับที่ 3. คนงานทั่วไป 108 คน หรือ คิดเป็น 0.42% อันดับที่ 4. ช่างประกอบท่อ 74 คน หรือ คิดเป็น 0.29% และอันดับที่ 5 ได้แก่ กุ๊ก 74 คน หรือ คิดเป็น 0.29%

ทั้งนี้โดยมีรายได้ขั้นต่ำตามที่มีการอ้างอิงจากเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 นายยูอาฟ เบน ซูร์(Yoav Ben Tzur)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของอิสราเอล ได้ลงนามหนังสือขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 5,571.75 เชคเกล (51,382.23 บาท) หรือ ชั่วโมงละ 30.61 เชคเกล หรือ 282.28 บาท (สำหรับการทำงานเดือนละ 182 ชั่วโมง) หรือ ชั่วโมงละ 29.95 เชคเกล หรือ 276.20 บาท (สำหรับการทำงานเดือนละ 186 ชั่วโมง) จากเดิมอยู่ที่ 5,300 เชคเกล (48,880บาท) หรือ ชั่วโมงละ 29.12 เชคเกล หรือ 268.54 บาท (สำหรับการทำงานเดือนละ 182 ชั่วโมง) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นมา

หมายเหตุ อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2566

สำหรับโควตาแรงงานไทยในภาคการเกษตรของอิสราเอลตามที่ได้อ้างอิงจากถ้อยแถลงของกระ ทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ระบุว่า โควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคการเกษตรในประ เทศอิสราเอล ปี 2566 อยู่ที่ 6,500 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 5,000 คน และจากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุถึงคุณสมบัติของผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานภาคการเกษตรในประเทศอิสราเอลดังต่อไปนี้ 

1. เพศชาย (พ้นภาระการรับราชการทหารแล้ว) 

2. อายุระหว่าง 25-41 ปี 

3. สัญชาติไทย 

4. ไม่มีประวัติอาชญากรรม 

5. ไม่มีคู่สมรส บุตร หรือ บิดา มารดาพำนักอยู่ในประเทศอิสราเอล และไม่เคยทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอล 

6. สุขภาพแข็งแรง ตาไม่บอดสี ไม่เสพสารเสพติด 

7. ต้องมีประสบการณ์ทำงานภาคการเกษตร (ปลูกพืช/เลี้ยงสัตว์)

สัญญาการว่าจ้างและรายได้จากอาชีพภาคการเกษตรในอิสราเอลตามที่ได้อ้างอิงจากข้อมูลของกระ ทรวงแรงงาน ระบุว่า โควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคการเกษตรในประเทศอิสราเอล ปี 2566 จะมีระยะเวลาการจ้างงานตามสัญญาจ้าง 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน ส่วนรายได้ ที่แรงงานไทยจะได้รับนั้นเป็นเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษี เดือนละ 5,300 เชคเกล (48,880 บาท) หมายเหตุ อ้างอิง อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2566 

ค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานในการเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลตามที่ได้อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลเอาโดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวม 65,250 บาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 

1. ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง เช่น ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม, ค่าธรรมเนียมการขอรับหนังสือเดินทาง, ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวจากประเทศไทยไปอิสราเอล, ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 

2. ค่าใช้จ่ายหลังจากเดินทางไปถึงตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล ประมาณ 37,000 บาท

เปิดสถิติแรงงานไทยในต่างแดนส่งเงินกลับประเทศผ่านธนาคาร ย้อน 5 ปีหลังสุด คือในปี 2561 : 144,451 ล้านบาท /  ปี 2562 : 192,903 ล้านบาท / ปี 2563 : 200,988 ล้านบาท / ปี 2564 : 217,343 ล้านบาทและเมื่อปี 2565 : 233,989 ล้านบาท

จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - สิงหาคม ปี 2566 ยอดประมาณการรายได้ที่คนหางานในต่างประเทศส่งกลับโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย มียอดรวมทั้งสิ้นแล้ว 164,779 ล้านบาท

นับว่าเป็นการนำรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล แต่ถ้าหาก “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ยังไม่สิ้นกลิ่นเลือดก็เป็นที่น่าเสียดายที่ไทยจะต้องยอมเสียรายได้เพื่อความปลอดภัยในชีวิตโดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ติดกับฉนวนกาซา.