Think In Truth

ย้อนรอยความขัดแย้งพันปี'อิสราเอล- ปาเลสไตน์' โดย ... พินิจ จันทร



ตามที่เคยสัญญาเอาไว้ว่าจะนำเสนอปัญหาความขัดแย้ง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์”ที่เกิดขึ้นมานานนับพันปีนั้น ในบทนี้จึงขอย้อนประวัติความเป็นมาแบบลำดับโดยย่อเพื่อให้เข้าใจกันง่ายยิ่งขึ้น

ขอย้อนไปเมื่อ2,000 ปีก่อนคริสตกาลเมื่ออับราฮัม (Abraham) ได้นำชาวฮีบรู (Hebrew)  เดินทางอพยพจาก “ดินแดนเมโสโปเตเมีย” เข้ามาในดินแดนคานาอัน (Canaan)หรือดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promise Land) ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้กับชาวฮีบรู

 

ชาวฮีบรู

ราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล : ภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้ชาวฮีบรู ตัดสินละทิ้งดินแดนคานาอัน และอพยพไปยังอียิปต์แต่พวกเขาก็ได้กลายเป็นทาสที่อียิปต์ยาวนานหลายร้อยปี

ราว 1,300 ปีก่อนคริสตกาล :  โมเสส (Moses) ได้ช่วยเหลือและอพยพชาวฮีบรูออกจากอียิปต์ เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างเอ็กโซดัส (Exodus) ที่โมเสสได้แยกทะเลแดง เพื่อให้ชาวฮีบรูสามารถหลบหนีจากทหารอียิปต์รวมไปถึงเหตุการณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานบัญญัติ 10 ประการ (Ten Commandments) เพื่อให้โมเสสใช้สั่งสอนแก่ชาวฮีบรูเมื่อชาวฮีบรูอพยพมาถึงดินแดนคานาอัน ปรากฏว่าในขณะนั้นดินแดน“คานาอัน” ได้ตกเป็นของชาวฟิลิสไตน์ (Philistine)ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ปาเลสไตน์ (Palestine)

“ด้วยเหตุนี้ชาวฮีบรูจึงต้องทำสงครามกับชาวฟิลิสไตน์เพื่อแย่งชิงดินแดนคานาอัน”

ราว 1,020 ปีก่อนคริสตกาล :  ซาอูล(Saul) ผู้นำของชาวฮีบรู ได้ถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของชาวฮีบรูและในช่วงเวลาเดียวกัน เด็กหนุ่มนามว่า เดวิด (David) ก็ได้สร้างวีรกรรมในการสังหารแม่ทัพโกไลแอธ (Goliath) ของฟิลิสไตน์ จนเป็นที่เลื่องลือของชาวฮีบรู

ราว 1,010 ปีก่อนคริสตกาล : ซาอูลสิ้นพระชนม์ ชาวฮีบรูได้เลือกเดวิดเป็นกษัตริย์และได้สถาปนา

อาณาจักรอิสราเอล (Kingdom of Israel) โดยมีกรุงเยรูซาเล็ม (Jerusalem) เป็นเมืองหลวง(แสดงให้เห็นว่าชาวฮีบรูเอาชนะชาวฟิลิสไตน์ได้อย่างเด็ดขาด)

ราว 970 ถึง931 ปีก่อนคริสตกาล : อาณาจักรอิสราเอลรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของกษัตริย์โซโลมอน (Solomon)มีการก่อสร้างมหาวิหารโซโลมอน (Solomon's Temple) อันเป็นศาสนสถานที่สำคัญของชาวฮีบรู

ราว 926 ปีก่อนคริสตกาล : หลังโซโลมอนสิ้นพระชนม์ เกิดความแตกแยกภายในหมู่ชาวฮีบรู จนทำให้อาณาจักรอิสราเอลแตกออกเป็น 2 ส่วนคือ

  1. อาณาจักรอิสราเอล (เดิม) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงซามาเลีย (Samalia)
  2. อาณาจักรยูดาห์ หรือยิว (Kingdom of Judah) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่นครเยรูซาเล็ม

ราว 722 ปีก่อนคริสตกาล : อาณาจักรอิสราเอล ล่มสลาย จากการบุกโจมตีของจักรวรรดิอัสซีเรียใหม่

ราว 587 ปีก่อนคริสตกาล: อาณาจักรยูดาห์ ล่มสลายจากการบุกโจมตีของจักรวรรดิบาบิโลนใหม่มหาวิหารโซโลมอนถูกทำลาย ชาวฮีบรูถูกกวาดต้อนไปที่ กรุงบาบิโลน

ราว 530 ปีก่อนคริสตกาล : จักรวรรดิเปอร์เซีย ขยายอำนาจและยึดครองบาบิโลนพระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) กษัตริย์เปอร์เซีย ทรงปลดปล่อยชาวฮีบรูในบาบิโลน ให้เดินทางกลับมายังดินแดนบ้านเกิดพร้อมกันนั้นชาวฮีบรูได้ฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็มและก่อสร้างมหาวิหารเฮรอด (Herod's Temple) เพื่อทดแทนมหาวิหารโซโลมอนที่ถูกทำลายไป

ราว 331 ปีก่อนคริสตกาล : พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แห่งจักรวรรดิมาชิโดเนีย บุกยึดครองอิสราเอล

ราว 64 ปีก่อนคริสตกาล : โรมัน ได้ผนวกอิสราเอลให้เป็นส่วนหนึ่งของโรมันในชื่อแคว้นยูเดีย (Judea) ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่ชาวฮีบรูได้ถูกเรียกโดยโรมันว่าชาวยิว

 

ชาวฮีบรูได้ถูกเรียกโดยโรมันว่าชาวยิว

ค.ศ. 5 ถึง 30:       ช่วงชีวิตของพระเยซู (Jesus) ศาสดาของศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นชาวยิวที่อาศัยอยู่ในแคว้นยูเดีย

ค.ศ. 66 – 73:        ชาวยิวในแคว้นยูเดียก่อกบฏ เพื่อต่อต้านอำนาจของโรมัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จกรุงเยรูซาเล็มและมหาวิหารเฮรอดถูกเผาทำลาย ชาวยิวถูกเข่นฆ่าเป็นจำนวนมาก

ค.ศ. 131-135:      ชาวยิวพยายามก่อกบฏต่อต้านโรมันอีกครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกในช่วงเวลานี้เองที่ชาวยิวได้เริ่มอพยพออกจากแคว้นยูเดียและเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วทั้งทวีปยุโรป

ศตวรรษที่ 5 :       ดินแดนอิสราเอลตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิไบแซนไทน์ มีการปราบปรามชาวยิวครั้งใหญ่ทำให้ชาวยิวอพยพออกจากอิสราเอลมากยิ่งขึ้น

ศตวรรษที่ 7 :       ดินแดนอิสราเอล ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิอิสลาม ชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม เริ่มอพยพเข้าไปอยู่ใน ดินแดนอิสราเอลพวกเขาจะกลายมาเป็นชาวปาเลสไตน์ ในเวลาต่อมาดินแดนอิสราเอลเริ่มถูกเรียกชื่อเป็น ดินแดนปาเลสไตน์

ศตวรรษที่ 11 ถึง 13 : นครเยรูซาเล็ม และดินแดนปาเลสไตน์ ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของสงครามครูเสด

ค.ศ. 1516 :           ดินแดนปาเลสไตน์ ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิออตโตมัน

ศตวรรษที่ 15 จนถึง 19 : ชาวยิวที่กระจัดกระจายทั่วทั้งยุโรป (รวมไปถึงทั่วโลก) ก็ได้ตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากพวกเขาอยู่อย่างเร่ร่อน ไม่มีหลักแหล่งและเป็นที่รังเกียจของชาวยุโรป (โดยเฉพาะกับชาวคริสต์)หลังจากที่พวกเขาต้องร่อนเร่ กว่าพันปี นั่นจึงทำให้มีชาวยิวบางกลุ่ม ต้องการที่จะเดินทางกลับมายังดินแดนอิสราเอล (หรือดินแดนปาเลสไตน์) อันเป็นดินแดนที่พวกเขาจากมา

ค.ศ.1897หรือ พ.ศ.2440: ชาวออสเตรีย เชื้อสายยิวนามว่าธีโอดอร์เฮิร์ตเซิล (Theodor Herzl) ได้ก่อตั้งขบวนการ ไซออนิสต์ (Zionist)องค์กรที่มีเป้าหมายสำคัญในการก่อตั้งรัฐของชาวยิว ในดินแดนปาเลสไตน์

 

ธีโอดอร์เฮิร์ตเซิลผู้ก่อตั้งขบวนการ ไซออนิสต์

ค.ศ.1917(2460): ปฏิญญาบัลฟอร์ (Balfour Declaration) อังกฤษสนับสนุนขบวนการไซออนิสต์ในการก่อตั้งรัฐชาวยิวในปาเลสไตน์

ค.ศ.1918(2461): ดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันในภูมิภาคตะวันออกกลาง ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ และ ฝรั่งเศสโดยดินแดน ปาเลสไตน์อยู่ภายใต้การปกครองอังกฤษ ในสถานะ รัฐอารักขา(อาณัติ)

ทศวรรษที่ 1920 : ชาวยิวเริ่มอพยพเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์  ก่อให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกับชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านั้น

ทศวรรษที่ 1930 : ปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เริ่มลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น ทางการอังกฤษพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ยและออกนโยบายจำกัดจำนวนของชาวยิว ที่จะอพยพเข้ามาในปาเลสไตน์

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945 หรือ พ.ศ.2482-2488): ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปถูกนาซีเยอรมันจับเข้าค่ายกักกันและถูกสังหาร เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust)  ที่ทำให้มีชาวยิวล้มตายมากกว่า 6 ล้านคน

ค.ศ.1945(2488): หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ชาวยิวนับล้านคนที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้เดินทางเข้าไปในปาเลสไตน์ ปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เกิดขึ้นอีกครั้ง

ค.ศ.1947(2490): ทางการอังกฤษไม่สามารถยุติความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายได้ อังกฤษจึงถอนตัวออกจากปาเลสไตน์และนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อทางสหประชาชาติเพื่อให้เป็นผู้แก้ไขปัญหาสุดท้ายสหประชาชาติก็มีมติให้ แบ่งดินแดน ของปาเลสไตน์ ออกเป็น 2 ส่วนคือดินแดนของชาวยิวกับ ดินแดนของชาวปาเลสไตน์ โดย กรุงเยรูซาเล็มอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ

ค.ศ.1948(2491): 14 พฤษภาคม 1948 ดินแดนของชาวยิว ในปาเลสไตน์ประกาศก่อตั้งรัฐอิสราเอล (State of Israel)โดยมี เดวิด เบนกูเรียน (David Ben Gurian) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล

การก่อตั้งประเทศอิสราเอลได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับกลุ่มประเทศอาหรับ ดังนั้น กลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งประกอบไปด้วยอียิปต์, ซีเรีย, จอร์แดน, เลบานอนและอิรัก  จึงได้ก่อตั้งสันนิบาตอาหรับ (League of Arab) เพื่อต่อต้านอิสราเอล

ค.ศ.1948-1949(2491-2492) : สันนิบาตอาหรับได้ส่งกองทัพรวมกัน 700,000 คนบุกโจมตีอิสราเอลเกิดเป็นสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 1ปรากฏว่าอิสราเอลที่มีกำลังพล 200,000 คน (ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ) สามารถเอาชนะ กองทัพของสันนิบาตอาหรับได้แม้ว่าสันนิบาตอาหรับจะเป็นฝ่ายแพ้สงครามแต่สันนิบาตอาหรับก็สามารถยึดครองดินแดนบางส่วนของอิสราเอลได้โดยอียิปต์เข้ายึดครองดินแดนที่เรียกฉนวนกาซ่า (Gaza Strip)ส่วนจอร์แดน เข้ายึดครองดินแดน เวสต์แบงก์ (West Bank)

นอกจากนี้ กรุงเยรูซาเล็ม ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 ให้เยรูซาเล็มตะวันตก เป็นของ อิสราเอล

ส่วนที่ 2 ให้เยรูซาเล็มตะวันออก เป็นของจอร์แดน

ผลของสงครามในครั้งนี้ ทำให้ชาวปาเลสไตน์นับแสนคนต้องอพยพออกจากดินแดนปาเลสไตน์ ที่บัดนี้กลายเป็นของอิสราเอล ไปยังดินแดนประเทศอาหรับรอบๆ ข้างแทน

ค.ศ.1956(2499): เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis)หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่2 โดยอังกฤษและ ฝรั่งเศส สนับสนุนอิสราเอลทำสงครามกับอียิปต์แต่ชัยชนะในสงครามตกเป็นของอียิปต

ค.ศ.1964(2507):  ยัสเซอร์อัล-อาราฟัต(Yasser al-Arafat) ผู้นำของชาวปาเลสไตน์ก่อตั้งองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์หรือขบวนการ PLOเพื่อต่อสู้กับอิสราเอล และทวงคืนดินแดนปาเลสไตน์จากชาวยิว

ทศวรรษที่ 1960 ถึง 1980 : PLO ก่อเหตุวินาศกรรมและก่อการร้ายภายในอิสราเอล

ค.ศ.1967(2510): สงครามหกวัน (Six Day War) หรือ  สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 3อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะสงครามและยึดครองฉนวนกาซ่าและเวสต์แบงก์จากฝ่ายอาหรับได้นอกจากนี้ยังยึดครองแหลมไซนาย (Sinai) ซึ่งเป็นดินแดนของอียิปต์ได้อีกด้วยและที่สำคัญยังยึดครองเยรูซาเล็มตะวันออก ที่เป็นของจอร์แดนได้ ดังนั้นเยรูซาเล็มทั้งหมดจึงตกเป็นของอิสราเอล

ปี 1980 (2523) อิสราเอลประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของประเทศ

 

ค.ศ.1973(2516): สงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 4อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะสงครามและยึดครองดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์

ค.ศ.1978(2521): อิสราเอลและอียิปต์ทำข้อตกลงสันติภาพแคมป์เดวิด (Camp David Accord) โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง

ค.ศ.1982 (2525): อิสราเอลส่งกองทัพเข้าไปในเลบานอน เพื่อกวาดล้างกลุ่ม PLO ที่ซ่อนตัวอยู่ในเลบานอนโดยมีชาวเลบานอนบางส่วนจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล

ค.ศ.1985(2528): กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ขับไล่กองทัพอิสราเอลให้ออกไปจากเลบานอนได้สำเร็จ นับแต่นั้นฮิซบอลเลาะห์จึงกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดในเลบานอน

ค.ศ.1988(2531): 15 พฤศจิกายน  1988 ยัสเซอร์อัล-อาราฟัต ประกาศก่อตั้ง รัฐปาเลสไตน์ (State of Palestine)และประกาศยุติการก่อร้ายของ PLO และจะใช้สันติวิธีเพื่อเจรจากับอิสราเอลอีกทั้ง PLO ยังได้ก่อตั้งกลุ่มการเมืองที่เรียกว่ากลุ่มฟาตะห์หรือฟะตะห์ (Fatah) ที่เน้นการต่อสู้แบบสันติวิธีทำให้มีชาวปาเลสไตน์บางส่วนไม่พอใจและก่อตั้งกลุ่มฮามาส(Hamas) ที่เน้นใช้ความรุนแรงในการต่อสู้

ค.ศ.1993(2536): อิสราเอลและปาเลสไตน์ทำสนธิสัญญาสันติภาพออสโล (Oslo Accord) โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลางนอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเส้นเขตแดนใหม่โดยให้ ฉนวนกาซ่า และ เวสต์แบงก์ เป็นดินแดนของปาเลสไตน์โดยมีเมือง รามัลเลาะห์(Ramallah) ในเวสต์แบงก์เป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์

กล่าวว่า ถึงแม้ว่าอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพมาแล้วหลายรอบด้วยกันแต่ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายก็ยังคงเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เท่านั้นหากแต่ภายในปาเลสไตน์เองก็ได้เกิดความแตกแยกกันเองเช่นกันโดยภายในปาเลสไตน์ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มที่ 1บริเวณฉนวนกาซ่า อยู่ภายใต้อำนาจของ กลุ่มฮามาส

กลุ่มที่ 2 บริเวณเวสต์แบงก์อยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มฟาตะห์ ซึ่งเป็นรัฐบาลของปาเลสไตน์

จากสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” แม้ว่าจะยืดยาวมานานนับพันปีหรือแม้แต่ในอนาคต ก็ยากที่จะหาสันติภาพและความสงบสุขได้ในดินแดนแห่งนี้.