Think In Truth

จับตาอภิมหาเมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ 1ลลบ.(ตอนที่3) โดย ... พินิจ จันทร



ในบริบทนี้จะเป็นเรื่องต่อจากจับตาอภิมหาเมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้านบาท(ตอนที่2)โดยจะขอย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้มีการขุด “คอคอดกระ” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น “คลองไทย” และมีแนวโน้มว่าจะจบลงที่แลนด์บริดจ์ หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ด้วยเหตุและผลตามรายละเอียดต่อไปนี้

กล่าวว่าจากกระแสการขุด “คลองไทย”แม้จะเงียบหายไปช่วงหนึ่ง แต่ในช่วงไม่กี่ 10 ปีที่ผ่านมาก็มีการปลุกขึ้นมาอีก จนถึงขั้นมีการตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรคคลองไทยเพื่อผลักดันเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ และที่สำคัญของความพยายามว่ากันว่าได้รับการผลักดันจากประเทศจีนที่เล็งเห็นประโยชน์ในการเชื่อมต่อนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ BRI ซึ่งจะลดค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงในการขนส่งพลังงานและสินค้าผ่านทางช่องแคบมะละกาว่ากันว่าเพื่อจะสร้าง “จุดยุทธศาสตร์ใหม่”เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐอเมริกาและอินเดีย รวมทั้งยึดกุมความได้เปรียบต่อบรรดาประเทศอาเซียน ที่มีปัญหาพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้กับจีน

ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์ 2 มหาสมุทรของจีนหรือ Two-Ocean Strategyซึ่งหมายถึงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย นั้น การขุด “คลองไทย” หรือคลองกระ (Kra Canal)  เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าว

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/566000009212921.JPEG

จีนศึกษาเรื่องการขุด “คลองกระ”หรือ ในภาษาจีนคือ เค่อลายุ่นเหอ(克拉运河) มานานแล้ว โดย อดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน เคยพูดไว้ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ปี 2546 ว่า หากขุดคอคอดกระสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหา วิกฤตมะละกา (Malacca Dilemma) ที่จีนเผชิญอยู่ เพราะจีนต้องพึ่งพาเส้นทางช่องแคบมะละกาในการนำเข้าน้ำมันถึง 80% และวัตถุดิบต่างๆ เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าจีนไปทั่วโลก

แต่การจราจรในช่องแคบมะละกาค่อนข้างหนาแน่น แต่ละปีมีเรือกว่า 84,000 ลำขนส่งสินค้า 30% ของสินค้าทั่วโลกสัญจรผ่าน และจำนวนเรือได้เพิ่มขึ้นจนมากกว่า 122,000 ลำ ซึ่งเกินความสามารถสูงสุดในการรองรับของช่องแคบมะละกา จีนจึงต้องมองหาเส้นทางใหม่ทดแทน โดยถ้าขุดคลองที่คอคอดกระ จะสามารถร่นระยะเวลาเดินทางอ้อมแหลมมลายูได้ 1-2 วัน

นอกจากความสำคัญทางเศรษฐกิจและการค้าแล้ว คอคอดกระยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหาร จีนหวั่นว่าวันหนึ่งช่องแคบมะละกาอาจถูกปิดหากสถานการณ์ความขัดแย้งในอินโดแปซิฟิกทวีความตึงเครียดขึ้น เพราะด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งแล้ว จีนเสียเปรียบในหลายด้านคือ

สหรัฐอเมริกา : มีฐานทัพอยู่ที่สิงคโปร์ ถ้าหากเกิดความขัดแย้งกับจีน ก็สามารถปิดช่องแคบมะละกา ตัดเส้นทางขนส่งน้ำมันของจีน โดยที่จีนไม่สามารถส่งเรือรบไปคุ้มครองกองเรือจีนได้ทันเพราะไกลเกินไป

อินเดีย : ที่มีปัญหากับจีนที่พรมแดนเทือกเขาหิมาลัย สามารถปิดฝั่งตะวันตกของช่องแคบมะละกา ตัดเส้นทางเดินเรือของจีนได้ง่ายๆ

ทั้งนี้ หากขุด “คลองกระ”เชื่อมอ่าวไทย ในมหาสมุทรแปซิฟิก กับทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดียได้ กองทัพเรือของจีนจะสามารถย่นระยะทางเดินเรือข้ามจากทะเลจีนใต้ไปยังมหาสมุทรอินเดีย เนื่องจากปัจจุบันจีนได้เข้าไปเช่าฐานทัพเรือเรียม ในกัมพูชา เป็นระยะเวลา 30 ปี เพื่อเตรียมการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/566000009212923.JPEG

ทั้งนี้ จีนเริ่มกระตือรือร้นผลักดันเรื่องคอคอดกระอย่างเป็นจริงเป็นจัง ภายหลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศแนวคิด“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ BRI”โดยวางพื้นที่นี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล

เมื่อปี 2558 สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี สื่อทางการของรัฐบาลจีน เคยเผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง เส้นทางสายไหมสู่อนาคต ตอนที่ 2 (Silk Road to the Future)โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการขุดคลองกระ เพื่อให้เรือเดินสมุทรสามารถตัดผ่านจากมหาสมุทรอินเดียข้ามไปยังอ่าวไทยได้อย่างสะดวก โดยร่นระยะทางได้กว่า 3 วัน

ซีซีทีวีระบุว่า จีนกำลังเป็นผู้นำในการทำการศึกษาข้อเสนอเพื่อก่อสร้างและให้เงินสนับสนุนโครงการ ปัจจุบันได้มีการศึกษาทางเลือกความเป็นไปได้ในการขุดคอคอดกระจำนวน 13 เส้นทาง โดยเส้นทางที่จะใช้งบประมาณมากที่สุดนั้น ใช้งบสูงถึง 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1 ล้านล้านบาท (ข้อมูลเมื่อปี 2558) หากโครงการก่อสร้างดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการจริง ก็ต้องใช้เวลาการก่อสร้างนานถึง 10 ปี พร้อมให้ความเห็นด้วยว่า“การขุดคลองกระ”นั้นอาจมีความสำคัญกับโลกพอ ๆ กับเมื่อครั้งมี “การขุดคลองสุเอซ” ในอียิปต์ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และ “คลองปานามา”เพื่อเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าด้วยกันเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20

 

บรรยายใต้ภาพ : แผนที่โลกเส้นทางสายไหมยุคใหม่ทั้งทางบกและทางทะเล ระบุที่ตั้งคลองสุเอซ, คลองปานามา และคลองกระ - รายงานของซีซีทีวี เรื่องคลองกระเมื่อเดือนตุลาคม 2558

ในปี 2559 ทีมวิศวกรชาวจีนได้ลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ในการขุดคลองลัดผ่านคลองกระเชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับทะเลจีนใต้ โดยจีนได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ขึ้นเพื่อสนับสนุนเมกะโปรเจคของนโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ ฝ่ายจีนยังให้การสนับสนุนจัดตั้ง ศูนย์วิจัยเส้นทางสายไหมทางทะเลไทยจีนที่คลองกระ, จัดสัมมนาเชิญนักวิชาการจากจีนมาพูดเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้จากการขุดคอคอดกระ, ให้งบประมาณสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง, มีการจัดตั้ง “สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา” , ตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคคลองไทย”โดยมี ดร.สายันห์อินทรภักดิ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นหัวหน้าพรรค และยังมีการล็อบบี้ผ่านบุคคลที่ติดต่อกับฝ่ายจีนทั้งทหาร ข้าราชการพลเรือน นักการเมืองและที่ฮือฮามากที่สุด คือ อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี นายธานินทร์กรัยวิเชียร ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เสนอให้ฟื้นโครงการขุดคอคอดกระขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งถึง 2 ครั้ง 2 ครา

และโดยเฉพาะครั้งที่สองที่แนะนำด้วยว่าให้ปรึกษากับทางจีนได้ ทั้งยังทิ้งวาทะด้วยว่า หากคอคอดกระถูกขุดขึ้นจริงก็จะเป็นการพลิกแผ่นดินให้เป็นแผ่นทองและยังมีข่าวถึงขนาดที่ว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงนามในเอ็มโอยูกับฝ่ายจีนที่เมืองกวางโจวในศึกษาโครงการขุดคอคอดกระ แต่ต่อมาทั้งคนใกล้ชิดบิ๊กจิ๋ว, กระทรวงการต่างประเทศไทย และทางการจีนปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เป็นเพียงปล่อยข่าวลวงเท่านั้น

แต่ทั้งนี้จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สนับสนุนการขุดคลองกระ โดยให้สัมภาษณ์ว่า “ต้องหารือกันก่อนว่ามีข้อดีข้อเสียอะไร โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคง จะมองแต่ประโยชน์ด้านเดียวไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าโทษมีอะไรบ้าง ซึ่งประเด็นความมั่นคงที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปว่าหากแบ่งแยกดินแดนออกเป็น 2 ตอน จะคุ้มค่าหรือไม่ และจะควบคุมดูแลได้มากน้อยอย่างไร”

ด้านนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องจีน ระบุว่า ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมาที่มีราชการไปจีนนั้น หลายครั้งหลายครามักได้รับการกระตุ้นจากเจ้าหน้าที่จีนในระดับต่าง ๆ ให้ช่วยเสนอรัฐบาลไทยฟื้นโครงการขุดคลองกระขึ้นมาให้ได้

การกระตุ้นนี้เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระและต่างบุคคล เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่จีนทั้งในและนอกวงวิชาการ และเกิดขึ้นโดยชักแม่น้ำทั้งห้าว่า ประโยชน์จะมีมากมายเพียงใดหากคอคอดกระถูกขุดขึ้นจริง ประโยชน์นี้ใช่แต่เฉพาะไทยเท่านั้นที่จะได้รับ แม้นานาประเทศก็จักได้รับด้วยเช่นกัน

สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ กล่าวในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 ว่า มีความพยายามที่จะด้อยค่าโครงการแลนด์บริดจ์ รับงานเชียร์“คลองไทยพยายามสร้างวาทกรรมผิด ๆ ขึ้นมาอีกหลายอย่างด้วยว่า สำหรับ การขนส่งทางเรือ ถ้าผ่านช่องแคบมะละกา หรือ หากขุดคลองไทย จะใช้เรือลำเดียวไม่ต้องเสียเวลาขนถ่ายและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายใด ๆ แต่ถ้าหากเป็นแลนด์บริดจ์ ต้องใช้เรือสองลำ ทั้งยังจะต้องยกของลง และขึ้น รถไฟ-รถบรรทุก สองรอบ เสียเวลาอีก เพื่อไปยังอีกท่าเรืออีกฝั่งหนึ่ง โดยย้ำอีกว่า“นี่คือความฉิบหายแห่งชาติที่จะเกิดขึ้นจากการหลอกลวงไม่พูดความจริงกัน

“อยากจะบอกว่า ใครกันแน่ที่ไม่พูดความจริง มาอ้างนู่นอ้างนี่ว่า แลนด์บริดจ์ต้องยกสินค้าขึ้นลง ต้องใช้เรือสองลำ ไม่คุ้มค่าเท่า ขุดคลองไทยที่ใช้เรือแค่ลำเดียว โลกมันไปถึงไหนแล้ว คุณคิดว่าเรื่องพวกนี้คนออกแบบโครงการเขาไม่คิด เขาไม่คำนวณไว้แล้วเหรอว่าจะคุ้มทุนหรือไม่คุ้มทุน แล้วจะทำยังไงให้ มูลค่าโครงการและอุตสาหกรรม-ภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมันสามารถเดินหน้าไปได้เขาคำนวณไว้หมดแล้ว

“ที่สำคัญเขาคำนวณ และวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาตร์เอาไว้แล้วด้วยว่า ไอ้เมกะโปรเจ็กต์ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลอาจจะถึง 5 ล้านล้านบาท ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มากมายมหาศาลอย่างไม่มีวันคืนทุนได้เลยก็คือการขุดคลองกระ-คลองไทย”ที่คุณกำลังเชียร์อยู่นั่นเอง” นายสนธิกล่าวและว่า ในช่วงหลายเดือนหลังมานี้มีนักวิชาการ นักวิชาเกิน หรือ บางทีก็คนที่อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นอาจารย์ เป็นกูรูออกมา รับลูกนโยบายของจีนแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ โดยออกมาต่อต้าน ให้ล้มโครงการ “แลนด์บริดจ์”และเชียร์ให้กลับไปขุดคลองไทย

“ท่านผู้ชมที่กล่าวหาผมมาตลอดเวลาว่าผมเชียร์จีนมาตลอดเวลานั้น ท่านผู้ชมเข้าใจผิดแล้ว ผมเชียร์จีนในการสู้กับอเมริกา แต่อะไรถ้าเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทย ผมยืนข้างประเทศไทยตลอด” นายสนธิก กล่าว

คนที่ต่อต้านแลนด์บริดจ์นั้น อ้างว่าแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่า และคลองไทยจะทำให้เศรษฐกิจไทยรุ่งโรจน์อีกครั้ง บอกประเทศโน้นประเทศนี้ก็มีเกาะ แยกออกไปอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างเพื่อนบ้านมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็มีเกาะแก่งไม่เห็นจะมีปัญหา แต่นั่นเป็นเกาะแก่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ขณะที่เรากำลังจะสร้างเกาะแก่งขึ้นมาใหม่

นอกจากนั้น คนเหล่านี้ที่โจมตีโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ไม่กล่าวถึง “จุดอ่อน-จุดตาย” ของโครงการคลองไทย หรือ คลองกระ เลยก็คือ

1.การขุดคลองไทย จะงบประมาณมากมายมหาศาล โดยจากการศึกษาเบื้องต้นคือ อย่างต่ำ 2 ล้านล้านบาทหรืออาจบานปลายถึง เกือบ 4.7 ล้านล้านบาท! (ตามผลการศึกษาของจุฬาเมื่อปี 2565)

2.งบประมาณดังกล่าวไม่คิดรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้วว่าจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน และเคลื่อนย้ายประชากรอีกจำนวนมาก เนื่องจากคลองไทยจะมีระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตร, กว้าง 300 - 400 เมตร, ความลึก 25 - 35 เมตร

3.ที่สำคัญก็คือ “การขุดคลองไทย” จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนอย่างมากมาย กล่าวคือ

-  ผลกระทบต่อเส้นทางไหลของน้ำทั้งน้ำบนบก และน้ำในมหาสมุทร

-ผลกระทบต่อภาคการประมง การจับสัตว์น้ำ และเลี้ยงสัตว์น้ำต่าง ๆ

- เทคโนโลยีที่นำมาใช้ขุดคลองที่เคยศึกษาเมื่อหลายสิบปีก่อนคือถ้าขุดแบบเครื่องจักรกล ต้นทุนจะแพงมาก แต่หากขุดโดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ต้นทุนจะอยู่ราวครึ่งหนึ่ง

- ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ที่เมื่อมีการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ระดับล้านล้าน ระหว่างการก่อสร้างเป็นเวลาสิบกว่าปี จะทำลายภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งใกล้เคียงกับการก่อสร้าง ไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าว่าแต่การขุดคลองไทยเลย แม้แต่การสร้างท่าเรือน้ำลึก หรือ นิคมอุตสาหกรรมริมชายฝั่งทะเลหลาย ๆ แห่งก็มีเสียงต่อต้านจากชาวบ้านอยู่บ่อย ๆ

ที่สำคัญก็คือการตัด “คลองไทย” นั้นในเชิงสัญลักษณ์เท่ากับ การตัดแบ่งแยกแผ่นดินออกจากกัน ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อประเด็นด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาการแบ่งแยกดินแดน

ทางด้านนักวิชาการชาวไทยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน คืออาจารย์บวรศักดิ์ มหัทธโนบลระบุว่า การขุดคอคอดกระไม่ได้ช่วยร่นระยะเวลาในการขนส่งลงได้มากนัก แต่ที่สำคัญคือ คอคอดกระจะกลายเป็นปัญหาความมั่นคง ทำให้ “แผ่นดินทอง” อาจลุกเป็น “แผ่นดินเพลิง” ไปก็ได้ ทั้งจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้

ทั้งนี้ ไม่เพียงจีนเท่านั้นที่ต้องการเข้ามาแผ่อิทธิพลผ่านนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) แต่สหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตกก็รุกหนักเช่นเดียวกัน

กล่าวว่าในช่วงหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 มีความเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกรัฐปาตานี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทรกซึมเข้าไปสู่กระบวนการนักศึกษา โดยอ้างว่าทดลองทำประชามติแบ่งแยกรัฐปาตานี โดยอ้างถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง (Self-Determination) ของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ แผนที่ออกมาว่ารัฐปาตานีที่จะตั้งเป็นรัฐเอกราชครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ พื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและ4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/566000009212929.JPEG

ภาพจาก Lue History

นอกจากนี้แล้วยังแผนที่อีกชิ้นหนึ่งซึ่งเคยถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้าเป็นแผนที่ที่ใหญ่กว่า เป็นแผนที่อาณาเขตของรัฐปัตตานี (Map of Patani State) ที่จัดทำขึ้นนานแล้ว โดย โดยขบวนการ‘เบอซาตู (BERSATU) ซึ่งเป็นองค์การร่มหรือองค์การกลางของขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่มสำคัญ ๆ ได้แก่ บีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี และ มูจาฮิดิน ปัตตานี พยายามอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนให้ขยายออกไปเหนือพื้นที่ของปัตตานีเดิม กล่าวคือ ได้อ้างพื้นที่ด้านบนสุดไปจนถึงจังหวัดระนอง - ชุมพร ซึ่งประจวบเหมาะกับจุดที่เป็น “คอคอดกระ” พอดิบพอดี

 

ภาพจาก Lue History

ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า“การขุดคลองไทย”หรือ“คลองกระ”ไม่ได้เป็นปัญหาภายในของไทยเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนโดยตรง เพียงเท่านั้น หากยังสร้างประเด็นปัญหาที่ไทยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงนั่นคือ “ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้” รวมไปถึงปัญหาทางจุดยุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ของการเมืองในระดับโลก ด้วย

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาทะเลจีนใต้เรื้อรังมานานหลายสิบปีแล้ว โดยประเทศที่เป็นคู่พิพาทคือจีน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไนฟิลิปปินส์ ไต้หวันซึ่งมีการเชื้อเชิญชาติตะวันตก คือสหรัฐอเมริกาเข้ามาพัวพันด้วย แต่ปัญหาดังกล่าว ในทางตรงคือประเทศไทยของเราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามหากมีการขุด “คลองไทย”ขึ้นมาจริง ๆ พื้นที่นี้ก็มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็น “จุดปะทะใหม่” เหมือนกับช่องแคบมะละกาหรือคลองสุเอซที่ในยุคอดีต เคยเป็นทั้งเส้นทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ที่สำคัญ จนนักล่าอาณานิคมตะวันตกต่างแย่งชิง และรุมทึ้งเพื่อหวังจะยึดครองกันมาก่อน

ดังนั้นจากมุมมองดังกล่าว “คลองไทย” จะกลายเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกมหาอำนาจโจมทั้งจากจีน รัสเซีย สหรัฐฯ อินเดีย ออสเตรเลีย จะรุมทึ้งไทย จะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน จนทำให้เกิดเหตุการณ์ช้างสารชนกันเหนือจุดยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นจริงหญ้าแพรกอย่างไทยก็มีแต่จะแหลกลาญเท่านั้น

          ท้ายที่สุดถ้าไม่มีทางเลือกอื่น “แลนด์บริดจ์” จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างสูงสุด.