Think In Truth

'นกหัสดีลิงค์'สัตว์หิมพานต์ที่คอยแย่งศพ ผู้มีบารมี  : โดย ฟอนต์ สีดำ



นกหัสดีลิงค์ เป็นชื่อนกใหญ่ชนิดหนึ่งในเทวนิยาย อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะตัวส่วนใหญ่เป็นนก แต่มีงอยปากมีลักษณะเป็นงวงอย่างงวงช้าง นกหัสดีลิงค์มักถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมฌาปนกิจแสดงว่า ผู้ตายมีบุญบารมีมาก จึงอยู่บนหลังนกได้ โดยนกหัสดีลิงค์สามารถนำดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ได้ การทำเมรุนกหัสดีลิงค์ปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้าง แต่ที่อุบลราชธานี มีประเพณีเฉพาะคือ ต้องเชิญนางเทียมเจ้านางสีดามาทำพิธีฆ่านกตามจารีตเดิม

นิยามและลักษณะ

นกหัสดีลิงค์ ปรากฏเป็นภาษาบาลีว่า หตฺถิลิงฺคสกุโณ มาจากคำสามคำสมาสกัน สามารถแยกเป็น หัตถี+ลิงค์+สกุโณ คำว่า หัตถี หมายถึง ผู้มีมืออันโดดเด่นขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือ งวงของช้าง คำว่า ลิงค์ คือ การแสดงเพศ และคำว่า สกุโณ แปลว่านก ชาวล้านนานิยมเรียกย่อว่า นกหัส หรือ นกงางวง ออกสำเนียงลื้อยองเป็น งาโงง เช่นเดียวกับภาษาสันสกฤต หัสดิน + ลิงคะ แปลว่า นกที่มีงวงอันโดดเด่น ภาษาไทยใช้ว่า นกหัสดีลิงค์ ชาวล้านนานิยมเรียกชื่อย่อว่า “นกหัส” หรือไม่ก็ “นกงางวง”

คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ภาค 2 ระบุว่า นกหัสดีลิงค์เป็นนกขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะผสมของสัตว์สี่ชนิด ดังนี้ ลำตัวเป็นนก ใบหน้าเป็นสิงห์ จะงอยปากเป็นงวงช้างเขี้ยวหน้าเป็นงา มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ 3–5 เชือกรวมกัน

หนังสือไตรภูมิ บรรยายลักษณะของนกหัสดีลิงค์ว่า ลำตัวเป็นหงส์ หัวเป็นช้าง ทำหน้าที่คาบซากศพไปทิ้ง เพื่อมิให้ดินแดนอุตตรกุรุทวีปสกปรก

ตำนานแห่งเมืองหริภูญชัย

บนแผ่นดินล้านนารู้จักสัตว์ในจินตนาการชนิดนี้มาตั้งแต่ยุค 1,400 ปีก่อน ชื่อของนกหัสดีลิงค์ปรากฏในตำนานการสร้างนครหริภุญไชย ว่าเหล่าฤๅษีทั้งสาม (วาสุเทพฤๅษี สุกทันตฤๅษี และอนุสิสฤๅษี) ที่ช่วยกันวางรากฐานเมืองลำพูน ได้เรียก “นกหัสดีลิงค์” ออกมาจากป่าหิมพานต์ ให้ทำหน้าที่บินไปคาบ “หอยสังข์” (สัญลักษณ์หนึ่งในสี่สวัสดิมงคลของพระนารายณ์หรือวิษณุเทพของฮินดู ประกอบด้วย ดอกบัว สังข์ จักร คทา แทน ดิน น้ำ ลม และไฟ) จากห้วงมหาสมุทร เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างเมืองลำพูน

เหล่าฤๅษีใช้ไม้เท้าขีดเส้นเขตแดนเมืองตามขอบรูปร่างของหอยสังข์นั้น กลายเป็นแผ่นดินที่พูนนูนขึ้นตอนกลางคล้ายกระดองเต่าและมีน้ำล้อมรอบ อันเป็นที่มาของผังเมืองโบราณยุคทวารวดีที่มีอายุเกินพันปีมักมีรูปยาวรีแบบหอยสังข์ซึ่งเชื่อว่าเป็นผังเมืองที่จะทำให้ผู้อาศัยมีความสมบูรณ์พูนสุข

จะเห็นได้ว่า “นกหัสดีลิงค์” ทำหน้าที่เสมือนดั่งทูตสวรรค์ที่ได้นำ “หอยสังข์” จากท้องสมุทรามาสู่ผืนแผ่นดิน มีบทบาทในฐานะผู้กำเนิดฐานรากหรือผู้วางผังเมืองให้แก่หริภุญไชยนคร
แล้วนกหัสดีลิงค์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพิธีส่งสการศพชาวล้านนาได้อย่างไร? จากทูตที่เคยทำหน้าที่เชื่อมมหาสมุทรเข้ากับแผ่นดิน กลายมาเป็นทูตที่เชื่อมแผ่นดินเข้ากับแผ่นฟ้าด้วยตั้งแต่เมื่อไหร่?

“พงศาวดารโยนก” กล่าวถึงการสร้างพิมานบุษบกบนหลังนกหัสดีลิงค์ในงานถวายพระเพลิงศพนางพระญาวิสุทธิเทวี กษัตรีย์แห่งราชวงศ์มังรายผู้ครองเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้าย ราวปี พ.ศ. 2121 ถือว่าเป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมชิ้นแรกที่กล่าวถึงนกหัสดีลิงค์ในล้านนา

“จุลศักราช 940 ปีขาล สัมฤทธิศก เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ…..นางพระญาวิสุทธิเทวี….ตนนั่งเมืองนครพิงค์…ถึงสวรรคต พระญาแสนหลวงจึงแต่งการพระศพ….ทำเป็นวิมานบุษบกตั้งอยู่บนหลัง….นกหัสดินทร์ตัวใหญ่….แล้วฉุดลากไปด้วยแรงช้างคชสาร……ชาวบ้าน ชาวเมืองเดินตามไป…..เจาะกำแพงเมืองออกไปทางทุ่งวัดโลกโมฬี….และทำการถวายพระเพลิง ณ ที่นั้น…..เผาทั้งรูปปนกหัสฯและวิมานบุษบกนั้นด้วย….”

พิธีปลงศพด้วยนกสักกะไดลิงค์ที่อุบลราชธานีในอดีตนั้นมีความหรูหราอลังการมาก นั่นคือต้องชักลากปราสาทศพออกไปบำเพ็ญกุศลกลางท้องทุ่งศรีเมืองเป็นเวลา 3 ถึง 5 วันจึงจะเผา เจ้าภาพต้องจัดโรงทานไว้ตลอดงานสำหรับคนที่มาร่วมงานพิธีฆ่านก ผู้ฆ่าต้องเป็นนางทรงที่สืบสกุลจากเจ้านางสีดา ซึ่งมีการสืบทอดเชื้อสายกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ก่อนมีพิธีฆ่านก เจ้าภาพจะจัดพิธีทอดผ้าบังสุกุลตามพุทธศาสนาเสียก่อน หลังจากเผานกและเมรุแล้ว คืนนั้นจะมีมหรสพสมโภชอัฐิไปด้วย รุ่งเช้าเก็บอัฐิและอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย แล้วนำอัฐิไปก่อธาตุบรรจุต่อไป
การสืบทอดเชื้อสายนางสีดา จะมีการสืบต่อโดยผ่านแม่สู่ลูกสาวและหลานสาว โดยการรำฆ่านกหัสดีลิงค์จะมีเพียงตระกูลเดียวเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ์ในการทำพิธีฆ่านกนี้ได้ตามคตินิยม คือ ตระกูลปราบภัย ซึ่งตามตำนานเล่าว่า ตระกูลเจ้านางสีดาได้อพยพมาพร้อมกับพระวอพระตา หนีภัยจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) มาอาศัยที่หนองบัวลุ่มภู ปัจจุบันก็คือ จ.หนองบัวลำภู

จากนั้นท้าวคำผง บุตรพระตาได้พาผู้คนเดินทางโดยเรือเลียบแม่น้ำโขงมาจอดที่หาดวัดใต้ มาก่อร่างสร้างเมืองอุบล เมื่อประมาณปี พ.ศ.2316 และปี พ.ศ.2524 ได้มีพิธีฆ่านกครั้งแรกใน จ.อุบลราชธานี ต่อมาเมืองอุบลได้สถาปนาขึ้นเป็น “เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย” เมื่อปี พ.ศ.2335 โดยมีพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี ซึ่งการสืบเชื้อสายตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น คือแม่ให้ลูกสืบทอด หรือในเครือญาติเท่านั้น

ในวันที่ 29 มกราคม เวลา 18.00 น. ในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่ พระเทพวิทยาคม(หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) มีพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ตามขนบอีสานโบราณ ผู้ทำหน้าที่ ทายาทนางสีดา ผู้ฆ่านกหัสดีลิงค์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก “นางงัว” คนที่รำฆ่านกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2324 นั่นก็คือ น.ส.เมทินี หวานอารมณ์ อายุ 45 ปี ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นนักวิชาการตรวจสอบภายใน ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต 3 อุบลราชธานี จะเป็นผู้รำฆ่านกหัสดีลิงค์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่เมรุชั่วคราววัดหนองแวง พระอารามหลวง

นั่นเป็นเป็นพิธีกรรมในการปลงศพคนสำคัญที่มีบารมี ที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมที่ให้ความเคารพศรัทธา ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาที่ล้ำเลิศในการที่จะกระตุ้นคนในสังคมได้รักษาซึ่งคุณงามความดี ที่เป็นอริยธรรมที่ประเสริฐ ที่ผู้ล่วงลับได้สร้างไว้ คุณงามความดีที่เอ่ยถึงเป็นมากกว่าวัตถุที่เกิดขึ้นจากการสร้างของผู้ล่วงลับ แต่เป็นหลักคิด หลักปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามต่อตนเอง และสังคมโดยรวม นกหัสดีลิงค์ ไม่ได้หมายถึงนกผู้นำดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่สวรรค์ แต่นกหัสดีลิงค์ เป็นเหมือนฑูตผู้ที่จะแย่งชิงศพหรือคุณงามความดี ที่เป็นอริยธรรมอันประเสริฐนั้นหายไปจากสังคม หากจะต้องรักษาคุณงามความดีและอริยธรรมอันประเสริฐให้อยู่คู่กับสังคม และสังคมเกิดวิวัฒนาการและพัฒนาฏษณให้ดีกว่าเดิม สังคมจะต้องฆ่านกหัสดีลิงค์ทุกครั้งที่มีผู้ที่มีบารมี มีคุณูปการต่อสังคมสูงต้องจากโลกนี้ไป ดังนั้น นางสีดา ซึ่งเป็นตัวแทนในการฆ่านกหัสดีลิงค์ คือคนในสังคมทั้งหลาย ต้องร่วมกันรักษาคุณงามความดีและอริยธรรมที่ประเสริฐนั้นไว้ให้อยู่กับสังคม ตลอดไป