In News

ก.อุตสาหกรรมร่วม6หน่วยงานเร่งทำแผน ขนย้ายกากตะกอนแร่เน้นปลอดภัยที่สุด



กรุงเทพฯ-ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยแนวทางร่วม 6 หน่วยงาน เร่งทำแผนขนย้ายกากตะกอนแร่ ย้ำหลักการ “ประสิทธิภาพ” และ “ปลอดภัย” กับ “ประชาชน”

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลการหารือร่วม 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดตาก สมุทรสาคร และชลบุรี เข้าร่วมประชุม ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล) ที่ให้เร่งขนย้ายกากตะกอนแร่จากจังหวัดตากที่ตรวจพบในจังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ ว่า จากการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหากากตะกอนแร่จากจังหวัดตาก ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าควรเริ่มดำเนินการขนย้ายหลังสงกรานต์เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีการเดินทางในช่วงเทศกาล โดยในระหว่างรอการขนย้าย จะทำการจัดเก็บกากตะกอนแร่ภายในถุง Big Bag ในอาคารที่มีวัสดุปิดคลุมอย่างมิดชิดและมีมาตรการป้องกันการชะล้างอย่างมีมาตรฐาน โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในจุดที่ตรวจพบกากตะกอนทั้ง 5 จุด (สมุทรสาคร 3 จุด ชลบุรี 1 จุด และกรุงเทพฯ 1 จุด) ระหว่างรอการขนย้ายกลับไปฝังกลบอย่างปลอดภัยในจังหวัดตาก ทั้งนี้ กากตะกอนแร่จากจังหวัดตากมีคุณสมบัติต่างจากแคดเมียมปกติ (บริสุทธิ์ 100%) ที่ปรากฏเป็นข้อมูลตามอินเตอร์เน็ตทั่วไป คือเป็นกากตะกอนแร่ที่มีส่วนผสมของโลหะหลัก 3 ชนิด คือ แคดเมียม 30-48% สังกะสี 19-35% และทองแดง 11-20% โดยกากตะกอนแร่เหล่านี้ได้รับการปรับสภาพความเป็นกรดด่าง ลดความเป็นพิษ และถูกผสมด้วยปูนซีเมนต์เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายและการชะล้าง จึงมีความอันตรายและโอกาสการเข้าสู่ร่างกายที่ลดลง

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการขนย้ายกากตะกอนแร่กลับคืนสู่บ่อคอนกรีตฝังกลบเดิมในจังหวัดตาก ตามความเห็นร่วมของ 6 หน่วยงาน ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จัดทำแผนการขนย้ายตามหลักการมี “ประสิทธิภาพ” และ “ปลอดภัย” กับ “ประชาชน” ภายใน 3 วัน โดยที่ประชุมได้วางกรอบแนวทางร่วมกัน ดังนี้ 1. เตรียมความพร้อมและพื้นที่ปลายทาง ตรวจสอบสภาพความมั่นคงแข็งแรงของบ่อคอนกรีตฝังกลบในจังหวัดตากให้อยู่ในสภาพปลอดภัยพร้อมใช้งาน มีการปูพื้นและผนังด้านข้างบ่อด้วยวัสดุกันรั่วซึม และจัดทำระบบรวบรวมและระบายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขังของน้ำภายในบ่อฝังกลบ 2. ตรวจสอบสภาพถุง Big Bag และการบรรจุกากตะกอนแร่ต้นทางให้อยู่ในสภาพพร้อมเคลื่อนย้าย ไม่มีการฉีกขาด และปิดผนึกอย่างมิดชิด พร้อมทำความสะอาดสถานที่จัดเก็บ โดยการดูดฝุ่นผงบรรจุในถุง Big Bag นำไปฝังกลบอย่างปลอดภัยด้วย 3. กำหนดเส้นทาง จุดพักรถ วันและเวลา ปริมาณที่จะทำการขนย้ายในแต่ละวันตามศักยภาพในการฝังกลบโดยไม่มีจุดพักคอยหรือจุดจัดเก็บรอการฝังกลบ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม 4. การขนส่งกากตะกอนแร่จะถูกกำกับโดยระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (Manifest) รถที่ใช้ในการขนส่งเป็นรถบรรทุกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมการขนส่งทางบกที่มีการติดตั้งระบบ GPS ระบุรายละเอียดข้อมูลการขนส่ง อาทิ ข้อมูลลักษณะทางกายภาพ น้ำหนักกากตะกอนแร่ พิกัดละติจูด ลองจิจูด ความเร็ว ตลอดจนทิศทางการเดินทาง เป็นต้น โดยสามารถติดตามรถขนส่งได้ตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มนำกากตะกอนแร่ออกจากจุดที่กักเก็บจนกระทั่งทำการฝังกลบอย่างปลอดภัยจนแล้วเสร็จ ซึ่งการขนส่งจะทำการปิดคลุมรถบรรทุกอย่างมิดชิด โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการอำนวยความสะดวกและติดตามการขนส่งอย่างใกล้ชิด 5. การขนย้ายกากตะกอนแร่ จะทำการชั่งน้ำหนักและทำสัญลักษณ์ที่ถุง Big Bag กำกับการขนส่งทั้งก่อนการเคลื่อนย้ายที่ต้นทางและก่อนการฝังกลบที่ปลาย โดยการจัดทำบัญชีการเคลื่อนย้ายอย่างละเอียด 6. ทำความสะอาดรถขนส่งกากตะกอนแร่แคดเมียมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และทำการตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานทุกคน

​“ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจและเชื่อมั่นว่า ภาครัฐจะเร่งดำเนินการขนย้ายกากตะกอนแร่อย่างมี“ประสิทธิภาพ” และคำนึงถึง “ความปลอดภัย” ของ “ประชาชน” เป็นลำดับแรก นอกจากนี้ ขอขอบคุณบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ออกแถลงการณ์ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการขนย้ายกากตะกอนแร่ทั้งหมดกลับมาฝังกลบในจังหวัดตากอย่างปลอดภัย” ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย