In Thailand

ธรรมนัสพาสส.เปิ้ลดูน้ำเค็มคลองประเวศ สั่งตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาหลังปชช.เดือดร้อน



ฉะเชิงเทรา-ธรรมนัส ระดมคณะผู้ตรวจการกระทรวงรองอธิบดีกรมที่เกี่ยวข้อง ตั้งวอร์รูมแก้ไขปัญหาน้ำเค็มเข้าคลองประเวศบุรีรมย์ที่ประตูน้ำท่าถั่ว หลังเขื่อนทำนบดินในไซด์งานก่อสร้างขยายสถานีสูบน้ำพังทลายเมื่อ 10 วันก่อน ให้เร่งมือทำงานจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ล่าสุดกระทบพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งผลิตน้ำประปาเป็นวงกว้าง  

วันที่ 18 เม.ย.67 เวลา 13.15 น. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่มายังสถานีสูบระบายน้ำปากคลองประเวศบุรีรมย์ (ประตูน้ำท่าถั่ว) ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อติดตามสถานการณ์และเร่งรัดการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มที่ไหลทะลักเข้ามายังภายในคลองประเวศบุรีรมย์ หลังจากเขื่อนทำนบดินภายในไซด์งานก่อสร้างโครงการขยายสถานีสูบระบายน้ำท่าถั่วแตก พังทลายลงทั้ง 2 ชั้นตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 9 เม.ย.67 เวลา 19.30 น. ที่ผ่านมา

หลัง ร.อ.ธรรมนัส เดินทางมาถึง ได้เข้ารับฟังการรายงานสรุปถึงสถานการณ์ในพื้นที่ล่าสุด ภายในห้องประชุมของไซด์งาน เพื่อรับทราบถึงผลกระทบที่กระจายออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ 2 จังหวัด ทั้ง จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สมุทรปราการ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร รวมถึงโครงการประปาหมู่บ้านโดยที่ จ.ฉะเชิงเทรา ในหลายตำบล หลังการรับฟังรายงานสรุปแล้วได้สั่งการอย่างเร่งด่วนให้ตั้งวอร์รูมคณะทำงานของกระทรวงเกษตรขึ้น 

ซึ่งประกอบด้วยผู้ตรวจการกระทรวง และอธิบดีรวมถึงรองอธิบดีที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ จ.ฉะเชิงทรา ที่มีทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ส.ส.ในพื้นที่ ให้มานั่งทำงานยังที่ห้องประชุมภายในประตูน้ำท่าถั่วแห่งนี้ และให้เริ่มทำงานในทันที ทั้งยังมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพของดินในพื้นที่น้ำเค็มเข้าด้วย ที่อาจจะกลายสภาพเป็นดินเค็ม

นอกจากนี้ยังได้เร่งระดมเครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทาน มาจากพื้นที่อื่นที่มีอยู่ทั่วประเทศให้มาช่วยแก้ไขวิกฤตใน 2 จังหวัดนี้ก่อน โดยให้เคลื่อนย้ายมาในวันนี้ทันที พร้อมกับระดมคนจากทุกกรมให้เข้ามาช่วยด้วย เพราะถือเป็นวิกฤต พร้อมออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ละจากงานอื่นก่อนเพื่อมาทำให้ทั้ง 2 จังหวัดนี้รอดพ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังได้ให้ระดมน้ำจืดต้นทุนที่อยู่ใกล้ที่สุดลงมาช่วยก่อน เพื่อให้เห็นผลภายระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน 

ส่วนการบรรเทาปัญหาผลกระทบด้านน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ประปาหมู่บ้านผลิตไม่ได้ ได้สั่งการให้เร่งระดมรถบรรทุกน้ำจากพื้นที่อื่นให้เข้ามาช่วยบรรทุกน้ำแจกจ่ายให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน และมอบหมายให้อธิบดีกรมประมงสำรวจประชาชนที่เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาทั้งหมด เพื่อรีบระดมเข้าไปช่วยเหลือ โดยทางกรมประมงได้ชี้แจงตัวเลขเดิม คือ มีเกษตรกรจำนวน 3,389 รายที่น่าจะได้รับผลกระทบ และหากการแก้ไขปัญหาเกินกว่า 7 วันหลังจากนี้น่าจะมีผลกระทบมากขึ้น 

สำหรับศูนย์บัญชาการฉุกเฉินของกระทรวงเกษตรฯ แห่งนี้มี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล ผู้ตรวจการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน มี น.ส.อิงอร ปัญญากิจ ผู้ตรวจการกระทรวงเกษตรฯ เป็นรองประธาน โดยให้กรมการข้าวลงพื้นที่เข้ามาช่วย และให้รองอธิบดีทุกกรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบลงมาเข้าเวรเพื่อร่วมทำงาน สั่งการภายในศูนย์บัญชาการแห่งนี้ในการแก้ไขปัญหาจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

 หลังการประชุมสรุปว่าให้กรมชลประทานทำหน้าที่ในเรื่องของการไล่น้ำเค็มออกจากลำคลอง และทำนบกั้นปากคลองด้านล่างของลำคลองประเวศ เพื่อไม่ให้น้ำเค็มเข้า โดยจะใช้น้ำจากคลองรังสิตซึ่งมีค่าความเค็มอยู่ที่ 0.5 กรัมต่อลิตรและอยู่ใกล้ที่สุดเข้ามาก่อน ที่จะรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ผ่านมาทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ ที่อยู่ไกลกว่าถึง 170 กม.ที่ต้องใช้เวลาประมาณ 10 วันมวลน้ำจึงจะมาถึง

นอกจากนี้ยังจะขอให้ทางสำนักงานชลประทานที่ 12 ทยอยลำเลียงน้ำมารอไว้อีกทางหนึ่งด้วย โดยจะขอความร่วมมือจากทางสำนักงานชลประทานที่ 10 เส้นทางชัยนาท- ป่าสัก ลดการใช้น้ำลงเพื่อดึงน้ำต้นทุนให้มารอไว้ทั้ง 2 แผน ขณะเดียวกันให้เพิ่มจำนวนรถขนส่งน้ำอุปโภคบริโภคไปช่วยเหลือประชาชน จากการระดมรถบรรทุกน้ำขนาด 12,000 ลิตรให้เข้ามาในพื้นที่ 

ส่วนทางด้านประมงนั้นจะเข้าไปดูในเรื่องของระดับน้ำในบ่อเลี้ยงปลา หากระดับต่ำลงกว่า 120 ซม. จะเติมน้ำจืดและใส่ EM เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของบ่อ ในการกำจัดน้ำเสียในคลองนั้นทางกรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทานจะเร่งกำจัดซากผักตบชวาออกจากลำคลอง และการแก้ไขผลกระทบเรื่องพืชในระยะสั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบชัดเจน จะมีการพิจารณาชดเชยตามระเบียบดูแลในปัจจัยที่มีให้ และจะมีการเฝ้าระวัง ตรวจวัดคุณภาพดินและน้ำสำหรับชาวนาที่จะทำนาในฤดูกาลต่อไป

โดย น.ส.ฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ได้รายงานถึงสภาพพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดึงระบายน้ำเค็มออกจากพื้นที่คลองเปรง ซึ่งยังคงมีค่าความเค็มสูงมากว่า สภาพพื้นที่นั้นไม่ได้อยู่ในลักษณะของการระบายน้ำจากพื้นที่สูงลงสู่ที่ต่ำ จึงเป็นอุปสรรคในการเร่งระบายน้ำเค็มออกจากลำคลองตั้งแต่ในช่วงแรกที่มีน้ำเค็มไหลเข้าไป น.ส.ฉัตรประอร ระบุ

หลังการประชุมสิ้นสุดลงในเวลา 14.30 น. รมว.เกษตรฯ จึงได้เดินไปดูตัวเขื่อนทำนบดินที่สร้างขึ้นมาทดแทนใหม่และสามารถปิดกั้นน้ำเค็มจากปากคลองประเวศได้สำเร็จแล้วที่หน้างาน หลังจากทางผู้รับเหมาได้พยายามตั้งทำนบ สร้างแนวเขื่อนปิดกั้นน้ำเค็มขึ้นมาใหม่ถึง 2 ครั้งแต่ไม่สำเร็จจนเกิดปัญหาบานปลายมีน้ำเค็มไหลลงคลองประเวศในช่วงภาวะน้ำทะเลหนุนถึง 9 ครั้ง 

จากนั้นในเวลา 14.45 น. จึงได้เดินทางต่อไปยังที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำพระยาวิสูตร ใน ต.สองคลอง อ.บางปะกง และไปร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มเข้าพื้นที่ ร่วมกับทางผู้ราชการ จ.สมุทรปราการ ต่อไป

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทร