In Thailand

เกษตรกรกาฬสินธุ์พลิกผืนไร่นาหาอาชีพ หันมาเลี้ยงกุ้งก้ามกรามสร้างรายได้งาม



กาฬสินธุ์-เกษตรกรชาวอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ พลิกพื้นที่จากการปลูกข้าวและทำไร่อ้อยปรับเปลี่ยนเป็นบ่อทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามสร้างรายได้อย่างงาม

วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ที่ฟาร์มกุ้งพ่อจ่อย บ้านโนนภักดี ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พบกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกำลังใช้อวนตาข่ายลากดักกุ้งก้ามกราม เพื่อนำออกมาจำหน่ายให้กับลูกค้าที่นิยมชื่นชอบบริโภคในรสชาติของเนื้อกุ้งก้ามกรามที่มีลักษณะแตกต่างจากกุ้งในพื้นที่อื่นๆ เพราะกุ้งกาฬสินธุ์จะมีรดชาติที่นุ่ม เนื้อแน่น น้ำหนักดี เลี้ยงง่ายโตเร็ว และในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ มีเขื่อนลำปาวที่เป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่สามารถนำน้ำไปหล่อเลี้ยงเพื่อทำการเกษตร ใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคได้หลากหลายกิจกรรม ซึ่งปริมาณน้ำที่มีปริมาณที่มาก เพียงพอสำหรับนำไปหล่อเลี้ยงบ่อกุ้ง บ่อปลา และเพื่อการอุปโภค บริโภคของประชากร ครอบคุมในหลายอำเภอและส่งน้ำไปยังพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย

นายทรงชัย ภูผาวงศ์ หรือ พ่อจ่อย อายุ 47 ปี เจ้าของฟาร์มกุ้งพ่อจ่อย กล่าวว่า ตนมีพื้นที่ทั้งหมด 16 ไร่ ทำการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในปัจจุบัน เดิมทำการเกษตรด้วยการทำนาปลูกข้าว และทำไร่อ้อยมาได้หลายปี แต่ราคาก็ขึ้นๆลงๆ ยิ่งทำไปยิ่งติดลบขนาดทุน ไม่สามารถนำเงินมาจุนเจือในครอบครัวเท่าที่ควร การเงินก็ติดลบ จากนั้นทางเขื่อนลำปาวได้ขยายพื้นที่ทำคลองส่งน้ำบริเวณบ้านโนนภักดี โดยตัดผ่านพื้นที่นาไร่ของตน จึงพูดคุยกับครอบครัวตกลงกันว่าจะลองทำฟาร์มกุ้งก้ามกรามดู โดยเลี้ยงมาประมาณ 5 ปี ตนได้ไปปรึกษาหาความรู้จากผู้ที่เลี้ยงกุ้งในบริเวณนี้อยู่ก่อน จึงได้ทดลองเลี้ยงดูปรากฎว่า จากการลองผิดลองถูกมาหลายปีจนสามารถพลิกผืนไร่นามาทำฟาร์มกุ้งสร้างรายได้อย่างดี 

โดยจำหน่ายในราคาหน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 250 บาท จะมีพ่อค้าลงพื้นที่มาซื้อที่หน้าฟาร์มเลย ซึ่งจะเลี้ยงกุ้งประมาณ 5-6 เดือนก็สามารถจับขายได้แล้ว กุ้งทั้งหมดที่เราเลี้ยงมีอยู่ 6 บ่อด้วยกัน มีการทำท่อส่งน้ำทั่วถึงกันทั้งหมด ทั้งนี้วันนี้มีลูกค้าที่นิยมมีความชื่นชอบในรสชาติของกุ้งก้ามกรามเขื่อนลำปาวที่สามารถนำไปทำอาหารทั้ง ลวก ทำเป็นต้มยำกุ้ง หรือจะเผา และหลากหลายเมนู สิ่งที่แปลกอีกอย่างหนึ่งกุ้งกาฬสินธุ์จะมีเนื้อที่แน่น มีความนุ่ม เนื้อหอม ใครที่ได้ลองชิมรับรองว่า ติดใจแน่นอน

อย่างไรก็ตามในพื้นที่บ้านโนนภักดีและในตำบลนาเชือก มีชาวบ้านการทำบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามประมาณ 1,000 ไร่เศษ ที่มีความต้องการอยากให้หน่วยงานทางภาครัฐเข้ามาส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เพื่อที่จะหาป้องกันและดูแลลูกกุ้งในช่วงการเลี้ยงหรือหาตลาดเพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ต่อไปด้วย