In News

เผยครม.ไฟเขียวเอ็มโอยูส่งเสริมความ สัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-ซาอุดีฯ



กรุงเทพฯ-วันที่ 9 พฤษภาคม 2567  นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (7 พฤษภาคม 2567) มีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย กับสำนักงานการค้าต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียว่าด้วยการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว. พณ.) (ในขณะนั้น) และ รมว. พณ. ซาอุดีฯ ได้เห็นพ้องจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOC) ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อเป็นกลไกหารือทางการค้า ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ต่อมาฝ่ายซาอุดีฯ ได้มีการขอปรับรูปแบบเอกสารเป็นบันทึกความเข้าใจฯ และพร้อมที่จะลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในช่วงการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ รมว. พณ. ซาอุดีฯ ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม 2567

ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

วัตถุประสงค์ – เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันด้านพาณิชยการ การขจัดอุปสรรคและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น

สาขาความร่วมมือ – สนับสนุนให้มีความร่วมมือในสาขาต่างๆ เช่น (1) แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ ในสาขาพาณิชยการ โอกาสทางการค้า และให้คำปรึกษาแก่กันและกัน เพื่อขยายและสร้างความหลากหลายทางการค้าทวิภาคี และพัฒนาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าให้ดียิ่งขึ้น (2) การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และกิจกรรมส่งเสริมการค้าอื่นๆ ที่จัดขึ้นบนดินแดนของแต่ละฝ่าย เพื่อส่งเสริมสินค้าและบริการ และการแสวงหาโอกาสทางการค้าระหว่างกัน

กลไกการดำเนินการ – จัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ โดยจะจัดให้มีการประชุมคณะทำงานเป็นระยะๆ ตามที่ตกลงร่วมกัน

ผลบังคับใช้ – มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่แจ้งครั้งสุดท้ายระหว่างคู่ภาคีผ่านช่องทางการทูต โดยใช้บังคับเป็นเวลา 3 ปี และต่ออายุอัตโนมัติ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะยกเลิกหรือไม่ต่ออายุ

ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไทยจากการกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือทางการค้ากับซาอุดีฯ ซึ่งเป็นตลาดยุทธศาสตร์ของไทยในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า โดยซาอุดีฯ มีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจในโลกอิสลาม กลุ่มอาหรับ และภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในปี 2566 ซาอุดีฯ เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทย และอันดับที่ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง