Biz news

สกพอ.ร่วมเอชเอสบีซีเชื่อมโยงการลงทุน สร้างโอกาสดึงเงินลงทุนเป้า5แสนล.



กรุงเทพฯ-ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี และนายจอร์โจกัมบาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจธนาคารเอชเอสบีซีประเทศไทยร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนระดับโลกสู่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมมูลค่าสูงโดยจะเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงนักลงทุนซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงในระดับภูมิภาค แต่ยังรวมถึงนักลงทุนระดับโลกในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญผ่านเครือข่ายระดับนานาชาติของธนาคารเอชเอสบีซีใน 58 ประเทศและเขตดินแดนสร้างโอกาสการลงทุนจากตลาดสำคัญอาทิ จีน ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยจะมุ่งพัฒนากลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซี พร้อมให้การสนับสนุนด้านโซลูชันทางการเงินและคำปรึกษาครบวงจรเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนจากทั่วโลก

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กรมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนสกพอ.ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจริงในพื้นที่รวม 5 แสนล้านบาทภายใน5 ปี พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ5 คลัสเตอร์ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมสีเขียว BCG และอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของไทยในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลก

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซีกล่าวว่า “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ถือเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป้าหมายหลักคือการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลงทุนที่มีมูลค่าสูงและเชื่อมโยงไปถึงพื้นที่และชุมชน ที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีเป็นอย่างมาก การขยายขีดความสามารถของพื้นที่และระบบบริหารจัดการที่เอื้อต่อการลงทุนเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเติบโตของอีอีซีการผนึกกำลังร่วมกับธนาคารเอชเอสบีซี ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินที่มีความเชี่ยวชาญและเครือข่ายที่แข็งแกร่งใน 58 ประเทศและเขตดินแดน จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนการลงทุนจากทั่วโลกและเชื่อมโยงอีอีซีกับองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ”

 

ภายใต้การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ทั้งสององค์กรจะร่วมมือในการแสวงหานักลงทุนที่มีศักยภาพ อำนวยความสะดวกในการลงทุนผ่านโครงการต่าง ๆ และอาศัยความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติของธนาคารเอชเอสบีซี เพื่อปลดล็อคโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ โดยในปี 2568 ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทยจะให้การสนับสนุนในกิจกรรมโรดโชว์เพื่อส่งเสริมการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซีในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญอาทิจีน สิงคโปร์ ยุโรป ไต้หวันและญี่ปุ่น

“สกพอ. มุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุนและดำเนินธุรกิจผ่านการสนับสนุนตลอดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเจรจาสิทธิประโยชน์จนถึงการเริ่มต้นประกอบกิจการ ความร่วมมือกับธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทยไม่เพียงเปิดโอกาสให้เราสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าระดับโลกของธนาคารฯซึ่งครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจสำคัญแต่ยังเข้ามาสนับสนุนด้านการนำเสนอโซลูชันทางการเงินที่ครบวงจรให้แก่นักลงทุนซึ่งจะเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้สอดรับกับแนวโน้มของตลาดโลกเราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานในระดับโลก และตอกย้ำบทบาทของอีอีซีในฐานะจุดหมายของการลงทุนชั้นนำสำหรับอุตสาหกรรมมูลค่าสูงในระดับภูมิภาค” ดร.จุฬา กล่าวเสริม

นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทยกล่าวถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการสนับสนุนเป้าหมายของการลงทุนในประเทศไทยว่า “ในขณะที่ธุรกิจระหว่างประเทศยังคงปรับแผนด้านห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ และอีโคซิสเต็มในด้านการผลิตที่ครอบคลุม ในปี 2567ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติเป็นมูลค่ารวมราว7.27แสนล้านบาทถือเป็นสถิติยอดการลงทุนสูงสุดในรอบ20 ปีและอีอีซีถือเป็นศูนย์กลางของการเติบโตนี้โดย78% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี (ราว 5.68 แสนล้านบาท)สะท้อนถึงบทบาทของอีอีซีในฐานะแรงขับเคลื่อนหลักของกลยุทธ์การลงทุนของประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (2.56แสนล้านบาท)อุตสาหกรรมดิจิทัล (9.5 หมื่นล้านบาท) และยานยนต์แห่งอนาคต (8.7 หมื่นล้านบาท)”

 

ธนาคารเอชเอสบีซีเล็งเห็นถึงแนวโน้มความสนใจของธุรกิจจีนในการขยายกิจการสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนขององค์กรธุรกิจจีนที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในอาเซียนผ่านเครือข่ายของธนาคารในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้น 80%จากปีก่อนหน้าโดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนที่สำคัญ ทั้งนี้แม้การลงทุนจากประเทศจีนจะครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีมูลค่ารวมนับตั้งแต่ปี 2561จนถึงไตรมาสสามปี2567 ราว2.75แสนล้านบาทนอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบความสำเร็จในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากมีแหล่งพลังงานที่มั่นคงเพียงพอ และมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยล่าสุดสกพอ.ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลที่หลากหลายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ อินเดีย และตะวันออกกลาง ยังถือเป็นระเบียงการลงทุนที่สำคัญสำหรับประเทศไทยด้วยเช่นกันด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งและโอกาสจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกันโดยเครือข่ายธุรกิจที่
แข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญด้านการเงินของธนาคารเอชเอสบีซีในประเทศเหล่านี้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสู่พื้นที่อีอีซีได้มากยิ่งขึ้น

“เอชเอสบีซี จะอาศัยความเชี่ยวชาญของธนาคารฯ ในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างประเทศ เข้ามาสนับสนุนสกพอ. ในการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากระเบียงเศรษฐกิจสำคัญที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านการนำเสนอโซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจร อำนวยความสะดวกในการเริ่มดำเนินธุรกิจ และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับสกพอ.ในครั้งนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก กระตุ้นการจ้างงานทักษะสูง และบรรลุเป้าหมายในการเสริมศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ตลอดจนเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยต่อไปในอนาคต” นายกัมบา กล่าว

ภายหลังพิธีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือยังมีการสัมมนาเกี่ยวกับศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอกาสที่ธุรกิจระดับนานาชาติจะได้รับจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทย และการสนับสนุนในเชิงนโยบายจากสกพอ.

โดยในงานแถลงข่าวและการสัมมนา มีบุคคลสำคัญและผู้แทนกว่า 50 ราย จากบริษัทระดับโลกชั้นนำ ตลอดจนสถานทูตและหอการค้าระหว่างประเทศเข้าร่วมงานเช่น สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาสถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทยและหอการค้าอังกฤษ-ไทย เป็นต้น