In Global

ตามติดภารกิจสำรวจดาวอังคาร'เทียนเวิ่น-3'ของจีน



“ดาวอังคาร เป็นดาวที่มีวิวัฒนาการมาก่อนโลก การสำรวจดาวอังคารจึงเป็นกระจกที่ช่วยสะท้อนอนาคตของโลก” นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่หน่วยงานด้านการสำรวจอวกาศของจีน อย่างองค์การสำรวจอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) และ China Aerospace Science and Technology Corp (CASC) ให้ความสำคัญกับการสำรวจและศึกษาดาวอังคาร

ก้าวแรกของการสำรวจดาวอังคารเริ่มขึ้นเมื่อปี 2020 เมื่อมีการส่งยานสำรวจ “เทียนเวิ่น-1” ขึ้นสู่วงโคจร และสามารถลงจอดและส่งหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จเมื่อปี 2021 ล่าสุด China Aerospace Science and Technology Corp ระบุว่า ปีนี้ จีนมีแผนเปิดตัวภารกิจ “เทียนเวิ่น-2” เพื่อบินสำรวจดาวอังคารอย่างใกล้ชิด และจากนั้น ภายในปี 2030 จีนมีแผน “เทียนเวิ่น-3” เพื่อค้นหาแหล่งน้ำและเก็บตัวอย่างจากดาวอังคารมาศึกษา

แม้ว่าจีนจะประสบความสำเร็จในโครงการสำรวจอวกาศหลายโครงการ แต่การสำรวจดาวอังคารเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกมากถึง 230 ล้านกิโลเมตร มีลักษณะและองค์ประกอบที่แตกต่างจากดวงจันทร์ เช่น ชั้นบรรยากาศ แรงโน้มถ่วง และความต้านทาน การส่งยานสำรวจจากพื้นผิวดาวอังคารไปยังวงโคจรจำเป็นต้องใช้พลังงานในการส่งน้ำหนักบรรทุกที่มากขึ้น

ล่าสุด องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เปิดตัวโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในภารกิจสำรวจดาวอังคาร “เทียนเวิ่น-3” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการเก็บตัวอย่างจากดาวอังคาร ส่งกลับมายังโลกเป็นครั้งแรก เพื่อศึกษาสภาพธรณีวิทยาบนดาวอังคาร โครงสร้างภายในของดาวอังคาร ชั้นบรรยากาศ และหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร

โดยทีมสำรวจขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนวางแผนว่า บริเวณที่ลงจอดมี 3 โซน คือ Utopia Planitia ซึ่งเป็นจุดที่ยานสำรวจ “เทียนเวิ่น-1” ลงจอด Amazonis Planitia และ Chryse Planitia ซึ่งมีภูมิประเทศที่มีน้ำ เช่น เป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ แหล่งน้ำ

เมื่อยานสำรวจลงจอดบนดาวอังคาร จะมีการเก็บตัวอย่างบนดาวอังคารโดยเฮลิคอปเตอร์ หรือหุ่นยนต์ 6 ขา ด้วยการสุ่มตัวอย่างพื้นผิวและการเจาะในชั้นดินระดับต่างๆ เพื่อนำกลับมาศึกษา

หากประสบความสำเร็จ ภารกิจสำรวจอวกาศ “เทียนเวิ่น-3” จะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการสำรวจอวกาศ และสำรวจดาวอังคารของจีน ทำให้จีนกลายเป็นผู้นำในการสำรวจดาวเคราะห์  และที่สำคัญคือ ตัวอย่างที่ได้จากดาวอังคารจะช่วยไขปริศนาสำคัญที่ว่า บนดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่ และเป็นประโยชน์ในการต่อยอดองค์ความรู้เพื่อสำรวจดาวอื่นๆ ในอนาคตต่อไป

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ภาพ : CGTN