Biz news

Machine TechมอบCNC HAAS1.6ลบ. หนุนเยาวชนไทยเสริมแกร่งแรงงานอุตฯ



ตรัง-24มีนาคม .ศ. 2568บริษัท แมชชีน เทค จำกัด ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรม ด้วยการมอบเครื่องจักร CNC จาก HAAS รุ่น TM-2 มูลค่า 1.6 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการศึกษาของผู้ชนะการแข่งขันทักษะวิชาชีพระดับชาติ ซึ่งจัดโดยองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 33 ปีของการก่อตั้งบริษัท หวังเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาไทยให้พร้อมก้าวสู่ตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ

ความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรต้นน้ำให้มีทักษะพร้อมใช้งาน ส่งต่อสู่ภาคอุตสาหกรรมปลายน้ำโดยตรง ช่วยลดระยะเวลาในการฝึกอบรมช่างฝีมือใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากพวกเขาจะมีความคุ้นเคยกับเครื่องจักรและกระบวนการทำงานอยู่แล้ว

“การร่วมพัฒนานี้ทำให้สามเสาหลักของการพัฒนาอุตสาหกรรมแข็งแกร่งขึ้น ทั้ง ‘แมน’ (man) ‘แมชชีน’ (machine) และ ‘แมนเนจเมนต์’ (management)” นายรัชศักดิ์ เกิดภู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมชชีน เทค จำกัด กล่าวถึงผลลัพธ์สำคัญของการสร้างห่วงโซ่การผลิตบุคลากรสายอาชีพ

-วิทยาลัยเทคนิคตรังเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขัน ทักษะวิชาชีพระดับประเทศ สาขาช่างกลโรงงาน ครั้งที่ 33

-Haas UMC Series นวัตกรรมเครื่องกัด 5 แกน ใช้งานง่าย ราคาประหยัด เพิ่มผลกำไรเร็ว

เสริมกำลังแรงงานไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ในยุคที่แรงงานและสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามา พร้อมกับความก้าวหน้าของระบบอัตโนมัติและ AI ที่เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ ส่งผลให้เกิดปัญหาการจ้างงานลดลงในภาคธุรกิจบริการ แต่ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมไทยยังขาดแคลนแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ ปัญหานี้เกิดจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุรวมถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

Machine Tech ตระหนักถึงปัญหานี้และให้ความสำคัญกับการแข่งขันทักษะวิชาชีพ ซึ่งเป็นเวทีที่ช่วยพัฒนาทักษะสำคัญของนักศึกษาและช่วยบรรเทาการขาดแคลนแรงงานฝีมือของประเทศ บริษัทจึงให้การสนับสนุนการแข่งขันดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2563 โดยเฉพาะในประเภททักษะการออกแบบและผลิตด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (CAD/CAM) ซึ่งก่อนหน้านี้ขาดเครื่องมือในการสร้างชิ้นงาน CAM ทำให้การแข่งขันไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมอบเครื่องจักร CNC เพื่อใช้ในการแข่งขันระดับภาค ส่งผลให้มาตรฐานการแข่งขันและการเรียนการสอนในสาขานี้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด

พัฒนาเยาวชนไทยสู่ระดับโลก

การแข่งขันทักษะวิชาชีพในปีนี้จัดขึ้นที่ภาคใต้ โดยวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีเป็นเจ้าภาพระดับชาติ ดร. บัญญาลักษณ์ ลือสวัสดิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ และประธานการแข่งขัน เปิดเผยว่าผู้เข้าแข่งขันต้องฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อชิงชัยในเวทีแห่งนี้ ทั้งยังตั้งเป้าหมายว่าสามารถต่อยอดไปสู่การแข่งขันระดับโลก หรือ World Skills ได้ หากได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากทั้งภาครัฐและเอกชน

เครื่องจักรและเครื่องมือที่ทันสมัยเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทักษะของนักศึกษา อย่างไรก็ตามงบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ทำให้สถานศึกษาไม่สามารถจัดซื้อเครื่องจักรที่มีความทันสมัยเทียบเท่ากับที่ใช้ในอุตสาหกรรมได้ ดังนั้นความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น การสนับสนุนจาก Machine Tech ในครั้งนี้ถือเป็นการช่วยเติมเต็มช่องว่างและช่วยสร้างแรงงานฝีมือคุณภาพสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย

ยกระดับมาตรฐานการแข่งขัน

อาจารย์นพดล ชูสิทธิ์ หัวหน้าคณะผู้ตัดสินจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี อธิบายกติกาการแข่งขันประเภทนี้ว่า “นักศึกษาต้องเขียนแบบด้วยโปรแกรม CAD และส่งคำสั่งผลิตชิ้นงาน CAM โดยใช้เครื่อง CNC รุ่นเดียวกันทุกทีม ซึ่งในปีนี้คือเครื่องจาก HAAS” เป้าหมายคือให้นักศึกษาทุกทีมสามารถออกแบบและผลิตชิ้นงานที่สมบูรณ์ถูกต้องแม่นยำ และมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

ในปีนี้นายนรากร ไชยมณี นักศึกษาชั้น ปวส.2 สาขาเทคนิคการผลิต วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี คว้ารางวัลชนะเลิศ โดยเผยว่า เคล็ดลับสำคัญคือการวางแผนและฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ด้านอาจารย์รุฒิพงศ์ จุลชัยวรกุล หัวหน้าแผนกวิชาช่างกลโรงงานและเทคนิคการผลิต กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยี CAD/CAM มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หากสถาบันการศึกษาไม่สามารถตามทัน ก็จะไม่สามารถผลิตแรงงานที่ตรงตามความต้องการของตลาดได้

สร้างแรงงานคุณภาพ พร้อมสู่ตลาดอุตสาหกรรม

การสนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายโครงการที่ Machine Tech ร่วมมือกับภาคการศึกษาเพื่อยกระดับบุคลากรให้พร้อมสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย คุณรัชศักดิ์ เกิดภู่ กรรมการผู้จัดการของบริษัท กล่าวว่า “การลงทุนในบุคลากรต้นน้ำเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรม การสนับสนุนของเราไม่เพียงช่วยสร้างแรงงานที่มีความพร้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระของผู้ประกอบการในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานคุณภาพที่สามารถทำงานได้ทันที”

ภาคเอกชนที่สนับสนุนการศึกษาสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ถึง 2 เท่า นอกจากเป็นการพัฒนาแรงงาน ยังเป็นโอกาสในการสร้างชื่อเสียงและความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน