In News

'สรวงศ์'ระดมรัฐ-เอกชนถกความปลอดภัย เรียกความเชื่อมั่นหลังเกิดปัญหาฉาวโฉ่!



กรุงเทพฯ-รมว.ท่องเที่ยว ระดมภาครัฐ-เอกชน ถกปัญหาด้านความปลอดภัย เรียกความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว หลังกระแสข่าว นทท.ถูกทำร้าย-เรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา-ภัยคุกคามจากลุ่มอิทธิพลข้ามชาติ และรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เน้นย้ำ “ยิ้มสยามต้องไม่หาย” รัฐ-เอกชนเร่งปั๊มหัวใจท่องเที่ยวไทย ดึงต่างชาติคืน

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 68 นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยที่ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาประเทศไทย ได้กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเนื่องมาจากบทความสื่อสังคมออนไลน์ หัวข้อ “นักท่องเที่ยวฝรั่งต่างชาติหายไปไหน” ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 บทความดังกล่าวได้รวบรวมและแปลความคิดเห็นของชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวและที่ทำงานในไทย (Expats) ต่อการลงข่าวของ Bangkok post learning เรื่อง “Thailand faces lower tourist numbers” ในประเด็นด้านความปลอดภัย การถูกทำร้ายร่างกาย การเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา การเผชิญภัยคุกคามจากกลุ่มอิทธิพลข้ามชาติในพื้นที่ท่องเที่ยว รวมทั้งการถูกรีดไถทรัพย์ ที่อาจเป็นปัจจัยในการลดจำนวนการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยว

นายสรวงศ์ กล่าวว่า กระทรวงฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสียงสะท้อนของนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติในไทยซึ่งสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อคงความเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจในสายตานักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างสมดุล ทั้งด้านคุณภาพ การบริการ และความคุ้มค่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในประเด็นด้านการท่องเที่ยวในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นและกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยจะนำมาตรการที่รัดกุมมาใช้ในการดูแลรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น Thailand Tourist Police ช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถส่งข้อความ รูปภาพ และพิกัดสถานที่เพื่อสอบถามข้อมูล แจ้งเหตุ หรือขอความช่วยเหลือ ทำให้การประสานงานระหว่างนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่มีความสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดสรรเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวประจำทุกจังหวัด รวมทั้งสิ้น 79 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้บริการ ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ประจำประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว

ในการประชุมยังมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในประเด็นการแก้ไขปัญหาด้านค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นและเป็นธรรมต่อนักท่องเที่ยว โดยเน้นย้ำให้มีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รวดเร็ว บริการที่เป็นมิตร จัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือราคาสินค้าและค่าบริการที่เท่าเทียมกันระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวสามารถใช้จ่ายได้อย่างคุ้มค่าโดยไม่ลดทอนคุณภาพของประสบการณ์ท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายของประเทศไทยในการรักษาความสามารถการแข่งขันในตลาดท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านราคาที่พัก ค่าอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่อาจถูกมองว่าราคาของประเทศไทยสูงเกินความเหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับจุดหมายปลายทางข้างเคียง อีกทั้งมีนโยบายในการพัฒนาบริการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์/กิจกรรมท้องถิ่น (Local Experience) อาทิ การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) และการพำนักกับเจ้าบ้าน (Homestay) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายซึ่งตอบโจทย์กับนักท่องเที่ยวที่ชอบการท่องเที่ยวแบบอิสระที่ประหยัดค่าใช้จ่าย

สำหรับมาตรการในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมและมลภาวะด้านการท่องเที่ยวเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง โดยเน้นย้ำให้มีการดูแลความสะอาดของชายหาด การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 การกำกับและควบคุมกลิ่นจากการใช้กัญชาเสรีไม่ให้รบกวนนักท่องเที่ยวและกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว การลดมลภาวะทางเสียงจากการใช้ยานพาหนะให้อยู่ในขีดจำกัด ตลอดจนการพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขโครงสร้างพื้นฐาน และระบบขนส่งสาธารณะรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งแสดงความคิดเห็นต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างตรงไปตรงมา แต่รัฐบาลมองว่านั่นคือโอกาสในการปรับปรุงและพัฒนาโดยเล็งเห็นถึงความจำเป็นและเร่งด่วนกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นายสรวงศ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติดังเดิม ตลอดจนมีภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว และมีความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกด้วย การที่ประเทศไทยจะกลับมาเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลก เราต้องมั่นใจว่า ทุกคนที่เดินทางมาจะรู้สึกปลอดภัยและยินดีที่ได้มาเยือน นายสรวงศ์ กล่าวสรุป

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เน้นย้ำ“ยิ้มสยามต้องไม่หาย” 

อย่างไรก็ตามหลังจากประชุม นายสรวงศ์ และ นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย ร่วมกัน ถอดบทเรียนและเสนอแนวทางฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ให้กลับมาเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจอีกครั้ง ในเวทีสัมมนา “Mission Thailand” โดยสถานีโทรทัศน์ ช่อง TNN (TNN16)  ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการระดมความเห็นระหว่างภาครัฐและเอกชน ภายใต้หัวข้อ “ปั๊มหัวใจท่องเที่ยวไทย ดูดรายได้ต่างชาติ” ณ ห้องแมกโนเลีย บอลรูม ชั้น 10 โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ 

ประเด็นสำคัญของการเสวนาในครั้งนี้ ได้แก่

 • นักท่องเที่ยวจีนลดฮวบ 48% เวียดนามขึ้นแท่นประเทศยอดนิยม

 • ความปลอดภัย-คุณภาพบริการ เป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจเดินทาง

 • เสนอไทยเป็น "จุดหมายปลายทางสุดท้าย" ก่อนกลับบ้าน

 • รัฐเตรียมดัน Entertainment Complex กระจายสู่เมืองรอง

 • โครงการ "เที่ยวไทยคนละครึ่ง" ไม่หาย แต่จะปรับให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ในช่วงท้ายของการเสวนา “นายสรวงศ์” เน้นย้ำว่า จุดแข็งที่แท้จริงของไทยยังคงอยู่ที่ “คนไทย” และ “Service Mind” ที่ทั่วโลกยอมรับ “ยิ้มสยาม” ควรเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ไม่หายไป พร้อมฝากถึงผู้ประกอบการและประชาชนว่า รัฐบาลรับฟังคำวิจารณ์ได้ แต่ขอให้คำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศในทุกการแสดงความเห็น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์

และในยุคที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรุนแรงขึ้น ประเทศไทยต้องหาความต่างและความลึกซึ้งที่ไม่ใช่แค่ราคาถูก หากแต่เป็น “คุณค่า” และ “ประสบการณ์” ที่นักท่องเที่ยวจะไม่มีวันลืม เมื่อรัฐและเอกชนจับมือกันแบบมีเป้าหมายร่วม "Mission Thailand" ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของหัวใจเศรษฐกิจไทย