ECO & ESG
วิธีการเชิงระบบสู่พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ในอาเซียนที่กำลังพัฒนาสู่ความสมดุล

วิธีการเชิงระบบสามารถช่วยเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ภูมิภาคกำลังพัฒนาสู่ความสมดุลระหว่างการเติบโต ความมั่นคง และ ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ
กรุงเทพฯ – 6 พฤษภาคม 2568 – ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) กำลังทบทวนลำดับความสำคัญและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลก
รายงาน "เศรษฐกิจสีเขียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ฉบับที่ 6 ซึ่งจัดทำโดย Bain & Company, GenZero, Google, Standard Chartered และ Temasek และเผยแพร่ในวันนี้ นำเสนอวิธีการเชิงระบบ (systems-based approach) เพื่อปลดล็อกการเติบโตและผลกระทบเชิงบวกในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นความร่วมมือในระดับเอเชียแปซิฟิก (APAC) ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ โดยเศรษฐกิจของกลุ่ม SEA-6* จะสามารถเพิ่ม GDP ได้สูงสุดถึง 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างงานใหม่ได้ถึง 900,000 ตำแหน่ง และลดช่องว่างการปล่อยคาร์บอนได้สูงถึง 50% ภายในปี 2573
รายงานเน้นว่า การสร้างผลลัพธ์อย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นจะต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจสีเขียวของ SEA เป็นระบบที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกัน วิธีการเชิงระบบนี้ประกอบไปด้วยการระบุต้นตอและอุปสรรคในเชิงระบบที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนซ้ำๆในรูปแบบเดิมๆ ค้นหาแนวทางแก้ไขที่จะทำให้เกิดผลกระทบสูงเป็นวงกว้าง และให้ความสำคัญกับแนวทางที่มีศักยภาพสูงที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน
แนวทางเหล่านี้จะช่วยให้ SEA ยังคงก้าวเดินต่อไปได้แม้เผชิญความไม่แน่นอนในระดับมหภาค พร้อมปลดล็อกเส้นทางใหม่ในการเติบโตสีเขียว เพิ่มความสามารถในการฟื้นตัว และลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดย SEA และภูมิภาค APAC มีโอกาสเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายดังกล่าว
Dale Hardcastle พาร์ทเนอร์และผู้อำนวยการร่วมของ Global Sustainability Innovation Center, Bain & Company กล่าวว่า "วิสัยทัศน์เดิมๆนั้นมองว่าภาวะเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันจะชะลอความคืบหน้าในเศรษฐกิจสีเขียว แต่แท้จริงแล้ว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจจะเห็นการเร่งตัวของการพัฒนา เมื่อรัฐบาล บริษัท และนักลงทุนปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญ ด้วยการมุ่งเน้นที่โซลูชันเชิงระบบที่สามารถขยายผลได้และมีผลกระทบเป็นวงกว้าง SEA สามารถกำหนดนิยามใหม่ให้กับเศรษฐกิจสีเขียว พลิกความท้าทายเป็นโอกาส โดยจะต้องขับเคลื่อนสองเป้าหมายควบคู่กัน คือ การลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญ และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภูมิภาคนี้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ พร้อมสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งในระยะยาว"
รายงานปีนี้ยังเน้นความสำคัญของการขยายความร่วมมือระหว่าง SEA และ APAC เพื่อปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในภูมิภาค เช่น ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้น ความกังวลด้านความมั่นคงทางพลังงานที่มีร่วมกัน เงินลงทุนจากต่างประเทศที่มีอัตราสูง และการร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนรูปแบบพลังงาน
APAC และ SEA มีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับโลก โดย APAC คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซทั่วโลก และ SEA คิดเป็น 7.5% ขณะที่ทั้งสองภูมิภาคต่างพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างหนัก แม้หลายๆประเทศจะมีการตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2573 ส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มที่จะไม่สามารบรรลุเป้าหมายได้ โดยช่องว่างที่จะบรรลุเป้าหมายของการปล่อยคาร์บอนจะยิ่งมากขึ้นภายในปี 2583 และ 2593 ซึ่ง SEA อยู่ในสถานะที่เปราะบางเป็นพิเศษ และจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วน
Franziska Zimmermann กรรมการผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน ของ Temasek กล่าวว่า "เหลือเวลาอีกเพียงห้าปีก่อนจะถึงปี 2573 เราจำเป็นต้องเร่งขับดันมาตรการและมุ่งเน้นโซลูชันที่ได้ผลจริงในระยะสั้นเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกภาคส่วนในภูมิภาคนี้มีโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านวิธีการเชิงระบบมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน ความยั่งยืน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ"
สามโซลูชันเชิงระบบสำหรับ SEA: เศรษฐกิจชีวภาพเพื่อความยั่งยืน, การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้ารุ่นใหม่, และระบบนิเวศเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
รายงานฉบับนี้ระบุว่ามีสามโซลูชันเชิงระบบหลักๆ ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตและการลดคาร์บอนใน SEA ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพเพื่อความยั่งยืน การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้ารุ่นใหม่ และระบบนิเวศเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
เศรษฐกิจชีวภาพถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในกลุ่ม SEA-6 โดยมีสัดส่วนการจ้างงานราว 25–30% ของตลาดแรงงานในสินค้าโภคภัณฑ์หลัก เช่น น้ำมันปาล์ม ยางพารา และข้าว อย่างไรก็ตาม วิธีการปฏิบัติในปัจจุบันยังคงส่งเสริมการปล่อยคาร์บอนและการตัดไม้ทำลายป่า คิดเป็นประมาณ 30% ของการปล่อยทั้งหมดในกลุ่ม SEA-6 โดยมีอุปสรรคเชิงระบบ เช่น การครอบครองโดยเกษตรกรรายย่อย โครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานที่อ่อนแอ สิทธิในที่ดินที่ไม่ชัดเจน กฎระเบียบซับซ้อน และตลาดคาร์บอนที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปสรรคที่ชะลอไม่ให้เศรษฐกิจชีวภาพของภูมิภาคนี้เติบโตเต็มศักยภาพ
การเพิ่มคุณค่าในภาคการเกษตรและการใช้ที่ดิน (การเพิ่มผลผลิตทางเกษตร การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือ nature-based solutions) การสร้างคุณค่าจากของเสีย (เช่น เชื้อเพลิงชีวมวลยุคที่สอง) และการปฏิรูประบบในวงกว้าง (เช่น สิทธิในที่ดิน ห่วงโซ่อุปทาน) สามารช่วยสร้างมูลค่ามหาศาล ในขณะที่ความร่วมมือระดับภูมิภาค APAC เช่น ข้อตกลงการรับซื้อผลผลิต การลงทุน และการแบ่งปันเทคโนโลยีการเกษตร สามารถช่วยเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจชีวภาพได้
ในขณะเดียวกัน โครงข่ายไฟฟ้าในประเทศ SEA จำเป็นที่จะต้องมีการเร่งขยายและปรับปรุงเพื่อรองรับการบูรณาการพลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน และแหล่งพลังงานแบบกระจายตัว รวมถึงการขยายการเชื่อมต่อข้ามพรมแดนเพื่อเร่งการลดคาร์บอนในระบบไฟฟ้า รัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาโครงข่ายผ่านการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อช่วยเอื้อให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน การซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดน และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
โครงการ Green Industrial Clusters เป็นอีกแนวทางที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนในโครงการพลังงานหมุนเวียน โครงข่ายไฟฟ้า และโซลูชันพลังงานสีเขียวอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากดำเนินการอย่างเหมาะสม ต้นทุนสุทธิในการลดคาร์บอนของโครงข่ายไฟฟ้าใน SEA อาจลดลงได้ถึง 11% ภายในปี 2593 ผ่านความร่วมมือระดับภูมิภาค
ในส่วนของภาคคมนาคมขนส่งทางถนน ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาค SEA อันเนื่องมาจากความต้องการการเดินทางที่เพิ่มขึ้น อัตราการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ใน SEA ยังอยู่ในระดับต่ำ โดย 80% ของการผลิตยานยนต์ยังมุ่งเน้นไปที่เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิม หาก SEA ไม่สามารถตามให้ทันกระแส EV โลกได้ อาจเผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอนาคต ภูมิภาคจึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์คู่ขนาน ทั้งเร่งสร้างอุปสงค์และยกระดับการผลิตภายในประเทศ เพื่อรักษาความได้เปรียบด้านการผลิตและขับเคลื่อนการลดคาร์บอนอย่างคุ้มค่าที่สุด
การพัฒนาคอร์ริดอร์สีเขียว (Green Corridors) สามารถช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านของยานพาหนะเชิงพาณิชย์ไปสู่ระบบไฟฟ้า ขณะที่ความร่วมมือระดับ APAC จะยิ่งช่วยเพิ่มคุณค่า โดยผ่านการลงทุนร่วม และการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่ การผลิต EV และระบบชาร์จไฟฟ้า โดยอาศัยวัตถุดิบที่มีอยู่ใน SEA
สามโซลูชันสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้โซลูชันเชิงระบบประสบความสำเร็จ – การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน, ตลาดคาร์บอน, และ AI สีเขียว
รายงานยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของ "สามโซลูชันสนับสนุนหลัก" ที่จำเป็นในการเสริมความสำเร็จของโซลูชันเชิงระบบ
การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียว (Climate and Transition Finance) กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังคงมีช่องว่างทางการเงินมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มจะขยายตัวภายใต้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาค แม้ว่าการเงินแบบผสมผสาน (Blended Finance) จะเริ่มเติบโต แต่ยังคงเผชิญข้อจำกัด ทั้งดีลที่มีขนาดเล็ก ความล่าช้าด้านกระบวนการ และการจับคู่ที่ไม่ตรงกลุ่มนักลงทุน เป้าหมายสำคัญคือต้องเร่งผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน การพัฒนาบุคลากร และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กลไกทางการเงินรูปแบบใหม่ เช่น การระดมทุนผ่านข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้า (Offtake-based Financing) และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Funds) กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับการพัฒนารูปแบบให้มีมาตรฐานเพื่อที่จะสามารถก่อให้เกิดการทำซ้ำๆได้ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
รายงานยังเน้นว่า ความร่วมมือข้ามภาคส่วนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง — ภาครัฐต้องเร่งกำหนดมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Taxonomies) และขยายกลไกการร่วมลงทุน (Co-financing) ในขณะที่นักลงทุนเชิงพาณิชย์ก็ต้องเร่งขยายการลงทุนให้สอดรับกัน
Chow Wan Thonh หัวหน้าฝ่าย Coverage ประเทศสิงคโปร์และ ASEAN ของ Standard Chartered กล่าวเสริมว่า "การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมีความสำคัญและเร่งด่วนกว่าที่เคย Standard Chartered มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนเพื่อช่วยให้ลูกค้าของเราก้าวสู่รูปแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน"
ภูมิภาค SEA มีความคืบหน้าในการพัฒนาตลาดคาร์บอน ซึ่งเห็นได้จากการออกเครดิตที่มากขึ้นและความก้าวหน้าในกฎระเบียบ แต่ยังคงต้องเร่งขยายผลเพื่อสร้างแรงจูงใจทางการเงิน เพื่อการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ การขยายตลาดคาร์บอนจำเป็นต้องกระตุ้นอุปสงค์ พัฒนาอุปทาน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวย พร้อมทั้งจัดตั้งกลไกข้อปฏิบัติ (compliance) ที่ชัดเจน
Anshari Rahman ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและวิเคราะห์ของ GenZero กล่าวเสริมว่า “ตลาดคาร์บอนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังสามารถทำได้มากกว่านี้เพื่อปลดล็อกศักยภาพด้านสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ การขยายอุปทานคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูง (High-integrity Credit Supply) ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกรอบนโยบายที่ชัดเจนและคาดการณ์ได้ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวย เป็นสิ่งจำเป็นที่จะดึงดูดการลงทุนและกระตุ้นอุปสงค์ นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อุปทานจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น ICVCM และ CORSIA ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับความต้องการทั่วโลก หากมีการดำเนินงานอย่างสอดประสานกัน ตลาดคาร์บอนจะสามารถเป็นรากฐานสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย Net-zero และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้”
AI ถือเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว ความต้องการศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ 19% จนถึงปี 2573 สืบเนื่องมาจากทั้งปริมาณงานที่เกี่ยวกับ AI และงานทั่วไป การเติบโตของศูนย์ข้อมูลอาจส่งผลให้เกิดการปล่อยคาร์บอนสูงถึง 2% ของการปล่อยในกลุ่ม SEA-6 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ผ่านนวัตกรรมด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด
การเติบโตอย่างยั่งยืนของศูนย์ข้อมูลจำเป็นจะต้องใช้โซลูชันพลังงานสีเขียวที่หลากหลาย ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการเพิ่มการเข้าถึงโครงข่ายพลังงานสะอาด (Clean Energy Grids) รวมไปถึงการเปิดช่องทางจัดหาพลังงานผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements) หรือกลไกการชดเชยคาร์บอนที่มีความน่าเชื่อถือสูง
นอกจากนี้ AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนได้ 3–5% ในภาคส่วนที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น เกษตรกรรมและทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และการคมนาคมขนส่ง ซึ่งการปลดล็อกศักยภาพดังกล่าวจะต้องอาศัยการลงทุนที่ตรงเป้าหมาย การสนับสนุนนโยบาย และการเร่งการนำ AI ไปใช้ในวงกว้าง
Spencer Low หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน ภูมิภาค APAC ของ Google กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจาก AI และศูนย์ข้อมูลอย่างมีความรับผิดชอบ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของโมเดล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ และการลดการปล่อยคาร์บอน Google กำลังมุ่งสู่เป้าหมายการใช้พลังงานสะอาด 24 ชั่วโมงทุกวัน (24/7 Carbon-Free Energy) พร้อมลงทุนในรูปแบบ Catalytic Investments ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น โครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานลมนอกชายฝั่ง นอกจากนี้ สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือการค้นหาและเร่งขยายการใช้งาน AI Applications ที่สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในระบบโครงข่ายไฟฟ้า ภาคการเกษตร การผลิต และภาคส่วนอื่น ๆ”
การลงทุนสีเขียว (Green investment) เพิ่มขึ้น 43% นำโดยพลังงานแสงอาทิตย์และการบริหารจัดการขยะ
กลุ่มประเทศ SEA-6 มีการเติบโตของการลงทุนสีเขียวจากภาคเอกชนอย่างโดดเด่นในปี 2024 โดยเพิ่มขึ้น 43% เป็นมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมาเลเซียและสิงคโปร์มีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 60% ของจำนวนดีลทั้งหมด ภาคพลังงานยังคงครองสัดส่วนสองในสามของการลงทุนสีเขียวในภูมิภาคนี้ พร้อมทั้งมีแนวโน้มขนาดดีลที่ใหญ่ขึ้น ภายในภาคพลังงาน การลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 100% ขณะที่ดีลในกลุ่มการจัดการของเสียเติบโต 60% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยได้แรงหนุนจากโครงการบำบัดน้ำและการรีไซเคิล
ภาคเอกชนยังคงเป็นผู้นำหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนสีเขียวใน SEA เช่นเดียวกับที่พบในอินเดียและเกาหลีใต้ ในขณะเดียวกัน ความสนใจในภูมิภาคจากกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Funds) และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Funds) ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้น 4 เท่า และ 14 เท่า ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ การลงทุนจากต่างประเทศนอกภูมิภาค APAC เข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวของกลุ่ม SEA-6 เพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าในปีที่ผ่านมา ในขณะที่การลงทุนข้ามพรมแดนจากภูมิภาค APAC เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า อย่างไรก็ตาม การลงทุนภายในกลุ่มประเทศของ SEA-6 เอง ลดลง 40% ทั้งๆที่ผู้ลงทุนเหล่านี้ยังคงมีบทบาทในโครงการสีเขียวในพื้นที่อื่น ๆ ของ APAC
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวด้วยวิธีการเชิงระบบ (Systems-based Approach) จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน — ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน นักลงทุน และรัฐบาล การลดการปล่อยคาร์บอนใน SEA ต้องก้าวข้ามการตั้งเป้าหมายเชิงนโยบาย มุ่งสู่การสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในทางปฏิบัติ การลดคาร์บอนไม่ใช่ต้นทุนอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตเชิงกลยุทธ์ ที่สร้างทั้งผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจให้กับอนาคตของภูมิภาค
*SEA-6 ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
# การลดการปล่อยมลพิษราว 300 MtCO₂ คำนวณมาจากการคาดการณ์การใช้โซลูชันคาร์บอนต่ำในอนาคต รวมไปถึงผลกระทบจากกระบวนการผลิต การใช้งาน ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และอื่นๆ; โซลูชันเชิงระบบที่มีศักยภาพสามารถช่วยปิดช่องว่างระหว่างการปล่อยมลพิษที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในกรอบนโยบายแผนปัจจุบัน กับข้อตกลงที่ให้ไว้สำหรับปี 2573 ได้ถึง 50%