In Bangkok

ไลฟ์สไตล์คนกรุงWorkไร้Balanceกทม. ชูแผนลดอ้วนลุยสร้างเมืองเอื้อสุขภาพ



กรุงเทพฯ-ไลฟ์สไตล์คนกรุง Work ไร้ Balance กทม. ชูแผนลดอ้วนเชิงรุก เดินหน้าสร้างเมืองเอื้อต่อสุขภาพ รับมือวิกฤตโรคอ้วนเด็กและคนเมือง

(7 พ.ค. 68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาหัวข้อ “ยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อลดแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนของเด็กรุ่นใหม่” ในงาน “Public Policy Forum : Obesity - A National Threat to Health and Wealth, Act Now for Our Future Generations” ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กฯ ซอยสาทร 1 เขตสาทร โดย นพ.เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อํานวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ นายเอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเสวนา โอกาสนี้ นายแดนนี แอนนัน (H.E. Mr. Danny Annan) เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดงาน

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวถึงผลกระทบของโรคอ้วนในสังคมเมืองว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ตรวจสุขภาพคนกรุงเทพฯ ไปมากกว่า 789,300 คน พบว่า โรคที่พบมากอันดับหนึ่ง คือ ไขมัน ส่วนโรคเบาหวาน ติดอยู่ที่อันดับ 3 – 4 สถานการณ์โรคอ้วนในกรุงเทพฯ แย่กว่าค่าเฉลี่ยประเทศเยอะ จากการตรวจสุขภาพประชาชนมากกว่า 789,300 คน ปรากฏว่า 58% น้ำหนักเกิน ส่วนใหญ่จะอายุ 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งข้าราชการสังกัดกรุงเทพมหานครมีค่า BMI หรือค่าน้ำหนักเกินอยู่ 68% ขณะเดียวกันเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 โรงเรียน ตรวจสุขภาพ 220,000 คน พบน้ำหนักเกิน มีโรค 21.65% เด็กประถมจะสูงสุด และตัวเลขคนกรุงเทพฯ อ้วนสูงมาก ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะว่า Lifestyle เป็นแบบ Work ไร้ Balance และอาหารคลีนก็แพง ไม่ง่าย และเสียง่ายมาก มันไม่อำนวยความสะดวก และโรคไตไม่ชนะก็แพ้เบาหวานแค่อันดับเดียว เพราะอาหารคนเมืองส่วนใหญ่จะเค็ม มีโซเดียมเกิน ถ้าเข้าไปในฐานข้อมูล https://health2.bangkok.go.th/ นี้จะเห็นข้อมูลโรคต่าง ๆ 

ปีที่แล้วกรุงเทพมหานครใช้งบประมาณตนเองในการตรวจสุขภาพประชาชนประมาณโรงพยาบาลละ 3 – 6 ล้านบาท รวมประมาณ 50 ล้านบาท พอ สปสช. ทราบตั้งแต่มกราคม เป็นต้นมา อนุญาตให้การตรวจเพิ่มของกรุงเทพมหานครทั้งหมดเบิกได้จะทำให้เห็นสุขภาพประชาชนที่แท้จริงสามารถกำหนดได้ว่าจะทำอะไรบ้างเกี่ยวกับสุขภาพประชาชน ทั้งนี้ปัจจุบันกรุงเทพมหานครส่งเสริมการเดินด้วยการทำ Walkway ตอนนี้ทำได้ 1,100 กิโลเมตร นอกจากนี้มีการจัดกิจกรรมวิ่งล้อมเมือง เป็นความร่วมมือของเครือข่ายอย่างแท้จริง เป็นรายการวิ่งเดียวของกรุงเทพมหานครที่คนร่วมวิ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการจัดกันเอง ไม่จ้าง Organizer แต่มีอาหารเครื่องดื่มบริการพร้อม เป็นกิจกรรมที่ชวนคนกรุงเทพฯ มาวิ่งฟรี ระยะ 3, 5 และ 10 กิโลเมตร ถ้าวิ่งครบระยะมีเหรียญรางวัลให้ ขณะนี้จัดไปแล้ว 5 ครั้ง มีคนร่วมกิจกรรมประมาณ 8,000 คน ถ้าจัดครบ 50 เขต น่าจะมีคนร่วมกิจกรรมประมาณ 50,000 คน เพราะแต่ละเขตจะมีการเลือกสวนหรือถนนใกล้บ้านให้วิ่ง เสร็จแล้วจะดูว่ามีคนร่วมกิจกรรมซ้ำหรือร่วมกิจกรรมใหม่เป็นอย่างไร ซึ่งในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและส่งเสริมสุขภาพประชาชนทำได้ไม่ง่าย แต่กรุงเทพมหานครพยายามทำให้สิ่งแวดล้อมเอื้อกับการที่คนจะรู้สึกว่าไม่ยากเกินไป

สำหรบกิจกรรมดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานดังกล่าวเพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามในระยะยาวของโรคอ้วนต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการโรคอ้วนอย่างครอบคลุม และความจำเป็นในการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้กำหนดนโยบาย และภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน