In Bangkok
รองผู้ว่าฯทวิดาเข้าร่วมหารือถอดบทเรียน มาตรการรับมือแผ่นดินไหว

กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯ ทวิดา ร่วมหารือถอดบทเรียนมาตรการรับมือแผ่นดินไหวที่กรมทรัพยากรธรณี เสริมความปลอดภัยเมืองหลวง
(8 พ.ค. 68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการหารือเพื่อการเตรียมความพร้อมและมาตรการรับมือเหตุแผ่นดินไหว โดยมี นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธานการหารือ ณ ห้องประชุมกรมทรัพยากรธรณี ชั้น 1 อาคารเพชร กรมทรัพยากรธรณี เขตราชเทวี
สำหรับประเด็นหารือการเตรียมความพร้อมและมาตรการรับมือเหตุแผ่นดินไหวระหว่างกันในวันนี้ ประกอบด้วย 1. รอยเลื่อนมีพลังที่มีความเสี่ยง 2. แนวทางความปลอดภัย กรณีเกิดแผ่นดินไหว และ 3. แนวทางลดผลกระทบและเตรียมความพร้อม กรณีเกิดแผ่นดินไหว
รองผู้ว่าฯ ทวิดา เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือ ว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาสะท้อนว่าอาคารในกรุงเทพฯ ที่ควบคุมโดย พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร มีความแข็งแรงกฎหมายใช้ได้ มีเพียงหนึ่งอาคารที่ถล่มซึ่งสาเหตุต้องไปหาว่าเกิดจากอะไร และจากเหตุการณ์นี้ทำให้เรามีความรู้กันมากขึ้นว่ากรุงเทพมหานครเป็นดินอ่อน มีจุดต่ำ ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนที่เสี่ยงภัยกรุงเทพมหานคร แต่สัณฐานหรือองค์ประกอบข้างใต้ดินต้องอาศัยผู้มีความรู้อย่างกรมทรัพยากรธรณี ทั้งนี้ ความร่วมมือแรกคือทางกรมทรัพยากรธรณีอยากทำการสำรวจทบทวนกรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเรื่องที่ดี อีกทั้งกรุงเทพมหานครเข้าร่วมโครงการ Resilient City ของ UN คือจะมีการวัดว่าเมืองเตรียมพร้อมและสามารถรับมือกับเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนฟื้นกลับคืนได้ดีเพียงใด โดยหนึ่งในแผนปฏิบัติการที่ กทม. มีอยู่คือเรื่องของแผ่นดินไหวและหรือภัยใด ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดผลที่ตามมาก็คืออาคารถล่ม ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงอาคารจะเกี่ยวกับฐานรากข้างล่างด้วย ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีมีความรู้และความเชี่ยวชาญมาก
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว ต่อไปว่า ความร่วมมือเรื่องที่ 2 คือ จากการรับฟังข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีความรู้เรื่องนี้สูงและมีนวัตกรรมมากมาย สิ่งที่เขานำเสนอเป็นเรื่องการปรับอาคารที่มีอยู่เดิมให้แข็งแรงขึ้น การทำให้อาคารยืดหยุ่นมากขึ้น หรือการทำให้อาคารมีอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงรูปแบบการสื่อสารด้วย เขามีความรู้ในเรื่องของการวิเคราะห์สูง ดังนั้นสิ่งที่ กทม. ทำอยู่น่าจะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ในแง่การวิเคราะห์ทำให้เมืองปลอดภัย เพราะเมื่อเราร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณี ก็สามารถคอบคลุมไม่ใช่เพียงเรื่องแผ่นดินไหว แต่รวมถึงภัยอื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้สิ่งที่ กทม. ต้องการคือเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูงโดยเฉพาะติดตั้งในโรงพยาบาล เรายังคงเดินหน้าเสนอเรื่องเข้าสภากรุงเทพมหานครอีกครั้ง กรุงเทพมหานครดูแลโรงพยาบาล 12 แห่ง ซึ่งมีอาคารสูงรวมถึงหอพักแพทย์พยาบาลด้วย โดยวชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช อาจสามารถใช้งบวิจัยบางส่วนดำเนินการนำร่องไปก่อนได้ อีกแห่งที่ติดตั้งแล้วอยู่ที่อาคารธานีนพรัตน์ หากในอนาคตเรามีเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่ออาคารที่มีกลุ่มเปราะบางและสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ด้วย
“เมื่อมองกรุงเทพฯ หรือมองประเทศไทย เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายและอาคาร รวมถึงการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีเดิม ว่าจุดใดเป็นดินอ่อน ดินแข็ง จุดใดปลอดภัย ที่ผ่านมาเราทำได้ดี ถ้าไม่นับรวมอาคารที่มีปัญหาถือว่าประเทศไทยใช้ได้เลย เรามีคนมีความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วยเครื่องมือ ต้องนำออกมาใช้และให้ความสำคัญ ประกอบกับระบบเตือนภัย Cell Broadcast ก็ทดสอบแล้ว ถึงเวลาที่ต้องนำทุกอย่างมาประกอบร่างกันและร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อทำให้เมืองเราปลอดภัย” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวทิ้งท้าย
ในการนี้ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมไทย และสมาคมอาคารชุดไทย ร่วมการหารือ