In Bangkok

เขตบางซื่อเข้มตรวจติดตามโรงชำแหละ ซากสุกรทำตามมาตรฐานสธ.เคร่งครัด



กรุงเทพฯ-นายโรจน์ ไตรวิทยาศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางซื่อ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตบางซื่อ กทม. กล่าวถึงการติดตามตรวจสอบสถานประกอบการโรงชำแหละซากสุกรในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางสาธารณสุข ภายหลังตรวจสอบพบมีการประกอบกิจการที่ไม่ถูกสุขอนามัย สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนว่า ในพื้นที่เขตบางซื่อมีสถานประกอบการโรงชำแหละซากสุกร 1 ราย ที่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งสถานประกอบการดังกล่าวต้องดำเนินการตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 หมวด 2 การควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ข้อ 10 ผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นการค้าให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามหมวด 3 ของข้อบัญญัติ กทม. นี้ โดยต้องจัดสถานที่สำหรับประกอบกิจการและดำเนินการให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะ ประกอบด้วย สถานที่ต้องตั้งในบริเวณที่เหมาะสม ไม่มีน้ำท่วมขัง และสามารถระบายน้ำออกได้โดยสะดวก ทำทางระบาย หรือบ่อพักน้ำซึ่งรับน้ำเสียด้วยวัตถุถาวร มีลักษณะเรียบ ไม่ซึม ไม่รั่ว น้ำไหลได้สะดวก การระบายน้ำต้องไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้น้ำในทางน้ำสาธารณะ หรือแก่ผู้อาศัยใกล้เคียง จัดให้มีการบำบัด หรือการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสีย หรือกากของเสียตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ถังดักไขมัน หรือบ่อดักไขมัน หรือการบำบัดด้วยวิธีการอื่นที่มีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่าการบำบัดด้วยถังดักไขมัน หรือบ่อดักไขมัน และน้ำทิ้งต้องได้มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือแนะนำจากเจ้าพนักงานสาธารณสุขให้ดำเนินการแก้ไขสุขลักษณะให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม. และจะดำเนินการตรวจติดตามตามหนังสือแนะนำทุก 7 วัน ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ หากครบกำหนดให้ปรับปรุงแก้ไขตามระยะเวลาที่ระบุในแบบตรวจแนะนำแล้ว ผู้ก่อเหตุรำคาญยังไม่ปรับปรุงแก้ไขเพื่อระงับเหตุรำคาญ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่ปรับปรุงแก้ไข เมื่อครบกำหนดเวลาที่ให้ไว้ในคำสั่ง จะตรวจสอบว่ามีการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่อย่างไร กรณีที่ผู้รับคำสั่งไม่ใส่ใจต่อคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเห็นข้อเท็จจริงว่า เป็นกรณีเหตุรำคาญที่เกิดในสถานที่เอกชน แต่ไม่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะสั่งให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขเข้าดำเนินการแก้ไขในสถานที่เอกชนนั้นได้ โดยคิดค่าใช้จ่ายจากเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่นั้น และจะดำเนินการลงโทษโดยการเปรียบเทียบปรับ หรือดำเนินคดีทางศาลแล้วแต่กรณี ตามอำนาจในมาตรา 85 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 แต่หากมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ จะออกคำสั่งเป็นหนังสือห้ามไม่ให้ใช้ หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้สถานที่นั้นทั้งหมด หรือบางส่วนจนกว่าจะได้มีการระงับเหตุรำคาญนั้น (คล้ายกับการสั่งให้หยุดกิจการ)

ขณะเดียวกัน สำนักงานเขตฯ จะเพิ่มมาตรการตรวจสอบและติดตามสถานประกอบการที่ต้องจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย เช่น ร้านอาหาร สถานที่ประกอบอาหาร ตลาด เป็นต้น พร้อมดำเนินการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่สถานประกอบกิจการที่เกี่ยวกับอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขอนามัยของประชาชนและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่สถานประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานทางสาธารณสุขให้ครอบคลุม

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า การประกอบการโรงชำแหละซากสุกรเข้าข่ายเป็นกิจการที่ถูกควบคุมในลักษณะที่เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 และข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2561 หากฝ่าฝืนกฎกระทรวงมีโทษตามมาตรา 68 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามหนังสือแนะนำของเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่นั้นระงับเหตุรำคาญภายในระยะเวลาอันสมควร หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 28 มีโทษตามมาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 45 ในกรณีปรากฏว่าผู้ดำเนินกิจการปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.นี้ หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการดำเนินกิจการนั้น ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้ดำเนินกิจการแก้ไข หรือปรับปรุงให้ถูกต้องได้ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 45 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสองหมื่นห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

นอกจากนี้ สนอ. ยังได้ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่สถานประกอบกิจการที่เกี่ยวกับอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่ 2/2549 อย่างเคร่งครัดในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านสุขลักษณะในการควบคุมการประกอบกิจการฆ่าและชำแหละสัตว์ ทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้ง สภาพหรือสุขลักษณะของสถานที่ฆ่าสัตว์ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้ง สภาพ หรือสุขลักษณะของที่พักสัตว์ หลักเกณฑ์สุขลักษณะของกรรมวิธีการฆ่าและชำแหละ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะเครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต น้ำดื่มน้ำใช้ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสีย มูลฝอย สิ่งปฏิกูล หลักเกณฑ์เกี่ยวกับความปลอดภัยและการป้องกันเหตุรำคาญ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขนส่ง