Authority & Harm
นายฮ้อยอีสานโอด!'แอนแทรกซ์'ทำยอด 'ซื้อ-ขายวัว-ควาย'มีชีวิตหายไป90%

กาฬสินธุ์-บรรยากาศที่ซื้อขายวัว-ควายตามตลาดนัด แถบภาคจังหวัดรอบในภาคอีสานซบเซาหนักสุดในรอบ 30 ปี นายฮ้อยโอดครวญตั้งแต่มีข่าวโรคแอนแทรกซ์ในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่งผลให้การซื้อขายวัว-ควายเงียบเหงาหายไป 90% เคยมีวัว-ควายลงตลาดนัดครั้งละ 500-1,000 ตัว เงินหมุนเวียนครั้งละ 10 ล้านบาท กลับเป็น 0 บาท เพราะไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น ด้านปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ รุดลงพื้นที่ตรวจเข้ม ยืนยันในพื้นที่ยังไม่มีรายงานพบเชื้อแอนแทรกซ์ระบาดในสัตว์เลี้ยงหรือคน รับรองความปลอดภัย พร้อมให้กำลังใจเกษตรกรและนายฮ้อย แนะให้หมั่นเฝ้าระวังการเกิดโรคทุกชนิดสัตว์เลี้ยง
วันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ที่ตลาดนัดวัว-ควายบ้านกุดหว้า ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย พ.อ.กฤศกร เทียนยุทธ หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าว ผู้แทน กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ (ฝ่ายทหาร) และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการในตลาดนัด ทั้งในส่วนของการป้องกันโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยง การพ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหะขนส่งสัตว์เลี้ยง การตรวจเช็คประวัติสัตว์เลี้ยง และตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงเบื้องต้น โดยมีนายคุณาวุฒิ ธวันทา ปศุสัตว์ อ.กุฉินารายณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เครือข่ายปศุสัตว์ นายฮ้อยหรือผู้ประกอบการค้าขายวัว-ควาย และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ รายงานสถานการณ์
นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่มีข่าวจากต่างจังหวัดกรณีพบสัตว์เลี้ยงได้รับเชื้อแอนแทรกซ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ประเภทวัว-ควาย รวมทั้งผู้ประกอบการซื้อขายเกี่ยวกับวัว-ควายมีชีวิตและเนื้อสัตว์ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ที่มีการทำปศุสัตว์และมีตลาดนัดซื้อขายวัว-ควายหลายแห่ง ทำให้บรรยากาศการซื้อขายสะดุด ฉุดให้ราคาวัว-ควายตกต่ำ ทั้งนี้ หลังจากมีกระแสข่าวเกิดขึ้นดังกล่าว จากการประสานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเครือข่ายปศุสัตว์ทุกอำเภอ ยังไม่พบสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ได้รับเชื้อแอนแทรกซ์แต่อย่างใด
นายสุทินกล่าวว่า เพื่อให้กำลังใจเกษตรผู้เลี้ยงสัตว์ และให้ความมั่นใจกับนายฮ้อยหรือผู้ที่อยู่ในแวดวงการซื้อขายวัว-ควาย และพี่น้องประชาชนชาวจ.กาฬสินธุ์ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวังการเกิดโรคในสัตว์เลี้ยง เช่น แอนแทรกซ์ และปากเท้าเปื่อย จึงได้ลงพื้นที่ที่ตลาดนัดวัว-ควายบ้านกุดหว้าในครั้งนี้ และอีกหลายแห่งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ถือได้ว่าเป็นจังหวัดรอบใน ที่อาจจะมีการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้ามาในรูปแบบของการค้าขาย จึงได้มอบนโยบายการคุมเข้มให้กับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ นำเจ้าหน้าที่ตรวจติดตาม ให้กำลังใจ และให้ข้อสังเกตดูอาการสัตว์เลี้ยงด้วย หากมีอาการผิดปกติ เช่น น้ำลายไหล ยืนขาสั่น ให้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที ทั้งนี้ ในส่วนกรณีการเกิดโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์เลี้ยงที่ต่างจังหวัด ได้มีการควบคุมโรคในรัศมี 5 กม. จึงขอยืนยันและรับรองความปลอดภัย ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์เรายังป้องกันได้ ไม่มีการพบเชื้อดังกล่าว
ด้านนายอุดม เชยชัยภูมิ อายุ 56 ปี นายฮ้อยชาว อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ตนประกอบอาชีพนายฮ้อยหรือพ่อค้าวัว-ควายมานับ 10 ปี เพิ่งจะมีช่วงนี้ที่การซื้อขายวัว-ควายเงียบเหงามาก ซึ่งมีสาเหตุจากข่าวการพบวัวติดเชื้อแอนแทรกซ์ที่ต่างจังหวัด ขณะที่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์บ้านเรา และตามตลาดนัดวัว-ควายทุกแห่ง ที่นำวัวไปลงตลาดเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทำการตรวจเช็คประวัติสัตว์เลี้ยงทุกตัว ที่นำเข้าออกตลาดนัดอย่างเข้มข้น ไม่พบว่ามีวัว-ควายติดเชื้อแม้แต่ตัวเดียว
“ปัจจัยที่ทำให้การซื้อขายตามตลาดนัดวัว-ควายในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์และต่างจังหวัดทั่วไปซบเซา มีสาเหตุจากข่าวลือดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาชีพค้าขายวัว-ควายเป็นอย่างมาก อย่างที่เรียกได้ว่าในรอบ 30 ปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์และเขียงเนื้ออีกด้วย ที่การค้าขายแทบหยุดชะงักไปเลย จึงอยากให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริง และหามาตรการควบคุมราคาซื้อขายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วย เพื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และผู้บริโภคอยู่ได้ ไม่ได้รับผลกระทบและเกิดความเดือดร้อนอย่างนี้” นายอุดมกล่าว
ขณะที่นายมล เชียงขวัญ อายุ 45 ปี นายฮ้อยชาว จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า เดิมบรรยากาศการซื้อขายวัว-ควายตามตลาดนัดในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์และหลายจังหวัดในภาคอีสาน คึกคักและเงินสะพัดมาก ตลาดนัดแต่ละแห่งมีนายฮ้อยนำวัว-ควายลงตลาด เพื่อซื้อขายไม่น้อยกว่านัดละ 500-1,000 ตัว ซื้อขายกันราคาตัวละประมาณ 15,000-30,000 บาทขึ้นไป เงินสะพัดครั้งละไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท สำหรับตนซื้อขายแบบซื้อมาขายไป มีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 50,000-100,000 บาท ระยะหลังลดลงเรื่อยๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ เหลือเดือนละ 20,000-30,000 บาท แต่ก็พอมีเงินทุนหมุนเวียนซื้อขายและเลี้ยงครอบครัวได้
“พอมีข่าวโรคแอนแทรกซ์เข้ามาเมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้การค้าขายซบเซาลงกว่า 90% มีวัวเข้าตลาดนัดนับตัวได้ บางแห่งไม่ถึง 50 ตัว และแทบจะไม่มีการซื้อขายกันเกิดขึ้นเลย เคยมีเงินสดพัดนักละกว่า 10 บ้านบาทแต่วันนี้กลายเป็น 0 บาทเพราะไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น อย่างวันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และนายฮ้อยนำวัว-ควายมาลงตลาดนัดน้อยมาก และไม่มีการซื้อขายเลย วัวบางตัวลดราคาลงต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมาหลายพันบาทก็ยังไม่ได้ขาย ขณะที่วัวงามบางตัวราคาขายลดต่ำลงเฉลี่ยตัวละ 5,000-10,000 บาทก็ขายไม่ได้ เพราะไม่มีคนซื้อไปเลี้ยงหรือเข้าโรงฆ่าสัตว์ เพราะกลัวติดเชื้อโรคตามที่ได้ยินข่าว ก็ต้องขนย้ายวัว-ควายกลับบ้านมือเปล่า แถมยังเสียทั้งเวลาและค่าน้ำมันขนส่งอีกด้วย ถือเป็นยุคตกต่ำของวงการนายฮ้อยและวงการค้าขายวัว-ควายก็ว่าได้ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็วๆนี้” นายมลกล่าวในที่สุด