In Bangkok

'กรุงเทพฯ-โตเกียว'ร่วมพัฒนาเมืองน่าอยู่ ผู้ว่าฯชัชชาติบินเยือนผู้ว่าฯกรุงโตเกียว



กรุงเทพฯ - โตเกียว จับมือพัฒนาเมืองน่าอยู่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เยือนโตเกียว ตามคำเชิญ ผู้ว่าฯ โคอิเกะ ร่วมหารือเมืองอัจฉริยะ – รับมือภัยพิบัติ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 8 - 11 พ.ค. 68 เพื่อร่วมงาน "SusHi Tech Tokyo 2025" ตามคำเชิญของ นางสาวโคอิเกะ ยูริโกะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว (Ms. KOIKE Yuriko, Governor of Tokyo) เมื่อครั้งเดินทางเยือนกรุงเทพมหานครครั้งที่ผ่านมา โดยมี นายคุณานพ เลิศไพรวัลย์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องร่วมคณะ

ทั้งนี้ งาน “SusHi Tech Tokyo” เป็นเวทีที่ประเทศญี่ปุ่นใช้แสดงศักยภาพการพัฒนาเมืองและเทคโนโลยีผ่านแนวคิด Open Innovation โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สตาร์ทอัพ และองค์กรชั้นนำจากทั่วโลก เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับงาน "SusHi Tech Tokyo 2025" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 10 พ.ค. 68 ณ Tokyo Big Sight และพื้นที่จัดงานอื่น ๆ ทั่วโตเกียว มีการแสดงผลงานจากสตาร์ทอัพกว่า 500 ราย ผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 50,000 คน ภายในงานมีกิจกรรม Networking และโอกาสในการร่วมมือทางธุรกิจมากมาย มีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศไทยได้ร่วมออกบูธในการจัดงานครั้งนี้ด้วย โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ร่วมงาน "SusHi Tech Tokyo 2025" Session Theme : Envisioning a more Resilient Bangkok ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 9 พ.ค. 68 ณ Tokyo Big Sight 3 Chome-11-1 Ariake, Koto City, Tokyo 

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เยี่ยมคารวะ นางสาวโคอิเกะ ยูริโกะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว (Ms. KOIKE Yuriko, Governor of Tokyo) ณ ห้องประชุมชั้น 7 ศาลาว่าการกรุงโตเกียว พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ 1. ความร่วมมือตามกรอบแถลงการณ์ร่วมระหว่างกรุงเทพมหานครและกรุงโตเกียว ประกอบด้วย การตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาอัตราการเกิดลดลง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน อาทิ การตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และด้านนวัตกรรมและเมืองอัจฉริยะ 2. ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานคร และสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือกรณีพื้นที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่เกิดการทรุดตัว

ทั้งนี้ กรุงโตเกียวประสงค์มอบเงินช่วยเหลือให้แก่กรุงเทพมหานคร โดยผ่านสภากาชาดญี่ปุ่น (Japanese Red Cross Society) 3. การสื่อสารข้อมูลด้านภัยพิบัติในหลากหลายภาษา (multilingual dissemination of disaster information) ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวให้ความสนใจในเรื่องการสื่อสารข้อมูลด้านภัยพิบัติในหลากหลายภาษา โดยเฉพาะการดำเนินงานของบริษัท Spectee ซึ่งเป็น start up ของญี่ปุ่นซึ่งให้บริการเก็บข้อมูลภัยพิบัติต่างๆ จากสื่อสังคมออนไลน์ แล้วนำมาวิเคราะห์และประมวลผลด้วยระบบ AI โดยกองบริหารจัดการภัยพิบัติของกรุงโตเกียว (TMG Disaster Management Division) ได้นำข้อมูลที่ได้รับจาก Spectee มาช่วยในการตอบสนองต่อภัยพิบัติต่างๆ เช่นกัน ทั้งนี้ Mr. Satoshi Negoro, Chief Operating Officer ของ Spectee ได้เข้าพบหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการจัดการระบบเตือนภัยล่วงหน้า (EWS) และการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาประยุกต์ใช้งานในประเทศไทย

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ศึกษาดูงานด้านการจัดการน้ำท่วม ณ Underground Regulating Reservoirs รับฟังการบรรยายสรุป เรื่อง ภัยธรรมชาติและระบบการเตือนภัยของประเทศญี่ปุ่น เยี่ยมชม Azabudai Hill เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เพื่อป้องกันภัยพิบัติ ณ Ikebukuro Life Safety Learning Center และศึกษาดูงานด้านการใช้พลังงานทดแทน (solar power)ณ Tokyo International Cruise Terminal