In Bangkok
กทม.สั่งเข้มวางมาตรการป้องกันโควิด19 ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน

กรุงเทพฯ-นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒนผล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. ว่า สพส. ได้กำชับให้สำนักงานเขตในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจดูแลศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กและผู้ปกครองในการป้องกันโรคโควิด 19 และโรคระบบทางเดินหายใจ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียน โดยมาตรการที่เน้นย้ำ ได้แก่ การคัดกรองเด็ก ครู และบุคลากรก่อนเข้าสถานศึกษาทุกเช้า การสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หากพบเด็กมีอาการป่วยด้วยอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ปวดศีรษะ ไข้ ไอ น้ำมูกไหล หายใจลำบาก เจ็บคอ ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้านเพื่อไปรักษาตัว และแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ไม่ให้คลุกคลีและใช้สิ่งของร่วมกัน และตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK พร้อมแจ้งผู้ปกครองมารับเพื่อไปพบแพทย์และหยุดรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
นอกจากนี้ สพส. ยังได้สั่งการให้ทุกศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน หมั่นทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ของเล่น จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอในห้องเรียนทุกห้อง รวมถึงการทำความสะอาดห้องเรียน พื้นผิวสัมผัส หรือพื้นที่ใช้งานร่วมกันบ่อย ๆ เช่น ราวบันได โต๊ะอาหาร อุปกรณ์กีฬา ที่จับประตู หน้าต่าง เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น และทำความสะอาดห้องสุขาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง รวมถึงจัดสถานที่ที่มีการเรียนการสอนให้ระบายอากาศได้ดี หากมีข้อจำกัดควรเน้นย้ำให้นักเรียนและบุคลากรในห้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย ตลอดจนเน้นย้ำมาตรการ DMHT ได้แก่ D (Distancing) เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1–2 เมตร M (Mask) สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในพื้นที่แออัด พื้นที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก โดยเฉพาะผู้ป่วย H (Hand washing) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ น้ำสะอาด หรือเจลแอลกอฮอล์ T (Temperature check) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและสังเกตอาการ กรณีพบเด็กป่วยหรือติดเชื้อโควิด 19 ให้เข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลตามสิทธิ และหากพบผู้ป่วยในลักษณะกลุ่มก้อน (Cluster) ตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป ให้ประสานพยาบาลอนามัยโรงเรียน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนโรคและควบคุมการแพร่ระบาดในวงกว้าง