Authority & Harm
ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางจัดพิธีปิด การฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัดฯ

กรุงเทพฯ-วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 เวลา 08.30 น. นายยุทธนา นาคเรืองศรี รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นายแพทย์สรายุทธ์บุญชัยพาณิชวัฒา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)เป็นประธานในพิธีปิดโครงการ “การฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัดในทัณฑสถานเพื่อคุณภาพชีวิต (Recovery for the better life program)” นายเผด็จ หริ่งรอด ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม นายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นางสาววรดา วสันต์นันทสิริ ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์ พร้อมข้าราชการและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมพิธีปิดดังกล่าวโดยมีนายขวัญไชย สันติภราภพ ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางกล่าวรายงานผลการดำเนินโครงการ และให้การต้อนรับ ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง
กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) จัดตั้งโครงการ“โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัดภายในทัณฑสถานฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต”(Recovery for the better life program) รุ่นนำร่อง ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ตามนโยบายของ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มอบให้กระทรวงยุติธรรม นำโดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยสอดคล้องกับนโยบาย 8 มิติ ยกกำลัง 2 ของนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในมิติที่ 4 คือ การปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยผู้ต้องขัง และมิติที่ 7 คือ ยกระดับการสร้างการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นของสังคมต่อผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถช่วยเหลือตนเอง ผ่านกิจกรรมและกระบวนการกลุ่มตลอดจนการใช้วิธีต่างๆ ในทัณฑสถานฯ โดยโครงการดังกล่าว จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2568 เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน สำหรับกลุ่มผู้ต้องขังที่มีพฤติกรรมติดยาเสพติดจำนวน 100 คน และผู้ต้องขังทำหน้าที่ Ex-staff จำนวน 8 คน มุ่งเน้นให้สมาชิกได้รับการฟื้นฟูที่ครอบคลุมทุกมิติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การกระทำผิดซ้ำ โดยแบ่งกระบวนการอบรมเป็น 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะแรกรับ (Entry Phase) ระยะที่ 2 ระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation Phase)ระยะที่ 3 ระยะกลับสู่สังคม (Re-entry Phase)ระยะที่ 4 ระยะบ้านกึ่งวิถี (Halfway House)ระยะที่ 5 ระยะติดตามผล (After care)
โดยการฝึกอบรม ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นครบถ้วนตามหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว ผู้ต้องขัง 108 คน ผ่านการฝึกอบรมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยผู้ต้องขังจำนวน 48 คน ได้รับการคัดเลือกจากกองงานภายในทัณฑสถานรับเข้าทำงานประจำหน่วยงานต่างๆ และได้ดำเนินการติดตามหลังสำเร็จหลักสูตร (After care) ซึ่งมีสมาชิกเข้ารับการพักการลงโทษจำนวน 5 คน และสถานประกอบการภายนอกทัณฑสถานจำนวน 4 คน และส่วนหนึ่งจะเข้ารับการฝึกทักษะวิชาชีพในสถานประกอบการภายในทัณฑสถาน เช่น โรงงานขนมปัง กองประกอบอาหาร ร้านตัดผม ร้านจำหน่ายสินค้า อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาพฤติกรรมใหม่ เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม สามารถคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนต่อไป