Biz news
คปภ.ถกร่วมBDIธุรกิจประกันภัยหารือ เชื่อมข้อมูลสุขภาพผ่านHealth Link

กรุงเทพฯ-สำนักงาน คปภ. ประชุมร่วม สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) และผู้แทนภาคประกันภัย หารือแนวทางเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพผ่านแพลตฟอร์ม Health Link ยกระดับการพิจารณารับประกัน-เคลมสินไหม พร้อมเตรียมนัดพูดคุยเพิ่มเติมถึงประเด็นสิทธิการเข้าถึงข้อมูล-การจัดเก็บข้อมูล หวังให้สอดคล้องกับข้อกำหนดทางกฎหมาย
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานการประชุมร่วมกับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI เพื่อหารือแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพผ่านแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของคนไทย (Health Link) ที่พัฒนาโดย BDI โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายอาภากร ปานเลิศ รองเลขาธิการด้านกำกับธุรกิจประกันภัย นางมยุรินทร์ สุทธิรัตนพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงาน คปภ.นายแพทย์ธนกฤต จินตวร ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และนักบริหารกิจการพิเศษ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) แพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรม นางสาวน้ำฝน ประโพธิ์ศรี ผู้อำนวยการโครงการ Health Link รวมถึง คุณสาระ ล่ำซำ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย และผู้แทนจากสมาคมประกันชีวิตไทย ผู้แทนสมาคมประกันวินาศภัยไทย และผู้แทนบริษัทประกันภัย เข้าร่วมประชุมจำนวน 68 ราย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ณ สำนักงาน คปภ.
การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางการกำหนดมาตรฐานในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย การประเมินความเสี่ยง และการให้บริการที่ตอบโจทย์ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับแพลตฟอร์ม Health Link เป็นแนวคิดของระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange: HIE) มีจุดเด่นคือการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพอย่างปลอดภัย โปร่งใส และต้องผ่านการให้ความยินยอมของคนไข้ (Consent-based) ซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีการนำไปใช้จริงในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มหรือเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใช้ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) แบบเดียวกัน
แพลตฟอร์มนี้เป็นระบบแพลตฟอร์มกลางที่พัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของคนไข้ระหว่างสถานพยาบาลต่าง ๆซึ่งปัจจุบัน Health Link เชื่อมโยงข้อมูลกับสถานพยาบาลไปแล้ว 2,305 แห่ง โดยหน่วยงานที่เชื่อมโยงส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลรัฐและคลินิก ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและเกิดประโยชน์กับทั้งกับโรงพยาบาล แพทย์ และคนไข้ ดังนี้
1. ประโยชน์สำหรับโรงพยาบาลคือ การส่งข้อมูลการรักษาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ เมื่อมีการเข้ารับการรักษาพยาบาล ข้อมูลการรักษาจะถูกจัดส่งเข้าสู่ระบบ Health Link ตามมาตรฐานกลาง (Health Link Data Standard) ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และบริการ ติดตามอาการและการส่งระหว่างโรงพยาบาลในระดับประเทศ ลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายยาและการรักษาอื่น ๆ ระหว่างโรงพยาบาล ทั้งนี้การเข้าถึงข้อมูลจะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่คนไข้ได้ให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้า
2. ประโยชน์สำหรับแพทย์คือ แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นของคนไข้ และประวัติการรักษาจากต่างโรงพยาบาลได้อย่างครบถ้วน โดยช่วยประหยัดเวลาในการวินิจฉัยคนไข้ และสามารถตัดสินใจหรือวินิจฉัยอาการได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยชีวิตคนไข้ได้ โดยการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของคนไข้จะต้องได้รับการลงทะเบียนในระบบ Health Link และยืนยันตัวตนผ่านระบบของแพทยสภา จากนั้นจึงสามารถเข้าใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน หรือระบบสารสนเทศโรงพยาบาลได้ เช่นเดียวกันการเข้าถึงข้อมูลจะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่คนไข้ได้ให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้า
3. ประโยชน์สำหรับคนไข้คือ คนไข้สามารถดูข้อมูลประวัติการรักษาต่าง ๆ ของตนเองได้ โดยต้องมีการลงทะเบียนและให้ความยินยอมผ่านช่องทางดิจิทัลทั้งหมด 4 ช่องทาง ประกอบด้วย 1. แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” 2. แอปพลิเคชัน ThaID Rama 3. ระบบเวชระเบียน e-PHIS และ 4. เว็บไซต์ Health Link เพื่อให้ความยินยอมในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของตนเองผ่านแอปพลิเคชัน ThaIDซึ่งทำให้สะดวกและประหยัดเวลา เพราะไม่ต้องไปขอข้อมูลจากโรงพยาบาล นอกจากนี้คนไข้ยังสามารถกำหนดขอบเขตการเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ตามความสมัครใจ
โดยจากการหารือร่วมกัน ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า แพลตฟอร์ม Health Link จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาใช้งานร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยสามารถใช้ข้อมูลสุขภาพในกระบวนการสำคัญต่าง ๆ เช่น การพิจารณารับประกันภัย การจัดการเคลม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้าได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) แจ้งว่ามีบริษัทประกันภัยหลายแห่งแสดงความต้องการที่จะเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพผ่านแพลตฟอร์มนี้แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความท้าทายอีกหลายส่วนที่ต้องหารือเพิ่มเติม อย่างเช่น การเข้าถึงข้อมูลโดยบริษัทประกันภัย เนื่องจากแพลตฟอร์ม Health Link เป็นระบบ Consent-based บริษัทประกันภัยจะต้องขอความยินยอมจากลูกค้าในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อพิจารณารับประกันภัยหรือเคลมการจัดเก็บข้อมูลโดยบริษัทประกันภัย เนื่องจากปัจจุบันแพลตฟอร์ม Health Link ไม่อนุญาตให้ดาวน์โหลดหรือบันทึกข้อมูลประวัติการรักษา รวมถึงยังไม่มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการเข้าถึงข้อมูล และยังไม่มีระบบข้อมูลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า สำนักงาน คปภ. จะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมหารือในรายละเอียดเชิงลึกกับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) และภาคธุรกิจประกันภัยต่อไป เพื่อให้การนำแพลตฟอร์ม Health Link ไปใช้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย
“Health Link ถือเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพที่มีศักยภาพสูงในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลและลดภาระของคนไข้ และมีประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจประกันภัยในการพิจารณารับประกันและเคลม อย่างไรก็ตามการนำมาใช้งานเต็มรูปแบบในภาคประกันภัย ยังคงต้องมีการหารือและพัฒนารูปแบบการให้ความยินยอมและการเข้าถึงข้อมูลให้สอดคล้องกับข้อกำหนดทางกฎหมายและวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ” เลขาธิการ คปภ. กล่าว