In Thailand
สคอ.-สสส.-สื่อ-เอกชน-สถานศึกษาร่วม ขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุทางถนน

สงขลา-สคอ.- สสส. ผนึกกำลัง สื่อ-ภาคเอกชน-สถาบันการศึกษา ร่วมขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุทางถนน สร้างการรับรู้ยกระดับการทำงาน หนุนเสริมศักยภาพภาคีเครือข่าย เพื่อเป้าหมายลดเจ็บตายพิการจากอุบัติเหตุให้ไม่เกิน 12 ต่อ แสนประชากรในปี 2570
วันที่ 9 ก.ค.68 – ที่ รร.ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จัดประชุมบูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีภาคเอกชน สถาบันการศึกษา แกนนำสื่อมวลชนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ขับเคลื่อนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงประยุกต์ใช้สื่อที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานเพื่อให้ทุกภาคีได้มีโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งต่อข้อมูลข่าวสาร และประสบการณ์การทำงานของแต่ละฝ่าย ซึ่งในการทำงานระดับพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่มีทั้งจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งการไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น สคอ.จึงต้องเชื่อมประสานการทำงาน สร้างการรับรู้ว่าในพื้นที่มีการทำงานที่เรียกว่า กลไก ศปถ. ที่เป็นหน่วยรองรับและขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอยู่ สามารถเข้าไปประสานงานได้ นอกจากนี้ก็มุ่งหวังว่าทุกภาคีที่มาร่วมประชุมจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในองค์กร เช่น ภาคีเอกชน สถาบันการศึกษา หรือ จป.วิชาชีพ ก็สามารถจัดทำมาตรการองค์กร ปกป้องชีวิตของพนักงานหรือบุคลากรในหน่วยงานได้ ส่วนสื่อมวลชนที่เป็นผู้นำเสนอข่าวสารและอยู่ในเกือบทุกสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน มีความรู้และประสบการณ์ ก็จะสามารถกระตุ้นเตือนประชาชน นำเคสที่เคยเกิดและได้รับผลกระทบมาเป็นบทเรียน นำเสนอข่าวสารตลอดทั้งปี
นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจาก สคอ. จะหนุนเสริมด้านองค์ความรู้ให้กับภาคีเครือข่ายแล้ว ยังจะสนับสนุนสื่อที่ผลิตเองและรวบรวมจากแหล่งอื่นมาให้กับภาคีอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเชื่อมประสานกับภาคีต่างๆที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันหนุนเสริมการทำงาน เพราะเรากำลังพยายามตอบโจทย์แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 ที่ว่าการการขับเคลื่อนภาคสังคมให้เกิดความร่วมมือ อันนำไปสู่การลดเจ็บตายพิการจากอุบัติเหตุทางถนน ให้ไม่เกิน 12 ต่อ แสนประชากรในปี 2570 ซึ่งกระบวนการและเป้าหมายหลักนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องสร้างการรับรู้ กระตุ้นเตือนให้เกิดการเปลี่นแปลง ต้องทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ และคลอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงเชื่อว่าผู้ที่มาร่วมประชุมกับเราครั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้มาแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองทำ อีกส่วนหนึ่งเพื่อมารับรู้ เก็บเกี่ยว นำไปใช้ต่อยอดการทำงาน เป็นการยกระดับและเพิ่มศักยภาพการทำงานของภาคีเครือข่าย ให้สามารถขับเคลื่อนในบทบาทของตนเองได้ และสามารถสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา