In Thailand

ทางหลวงสรุปผลศึกษาขยายถนนในช่วง หล่มสัก-คอนสารเชื่อมเดินทางสู่ภูมิภาค



เพชรบูรณ์-กรมทางหลวง สรุปผลการศึกษาโครงการขยายถนนช่วง อ.หล่มสัก-อ.คอนสาร เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อการเดินทางสู่ภูมิภาค

วันนี้ (14 กรกฎาคม 2568) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมผาเมือง โรงแรมหล่มสักณัฐติรัตน์แกรนด์โฮเต็ล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ กรมทางหลวงร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาจัดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (การสัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงอำเภอหล่มสัก-อำเภอคอนสาร เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาของโครงการในด้านต่างๆ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาของโครงการ เพื่อนำไปปรับปรุงผลการศึกษาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวรัชนี บุญญาภิทานนท์ ปลัดอำเภอหล่มสัก เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน ผู้นำชุมชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

การจัดประชุมในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการ ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ สำหรับแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณสามแยกสักหลง จุดตัดทางหลวงหมายเลข 21 (กม.274+000) กับทางหลวงหมายเลข 2466 (กม.0+000) โดยแนวเส้นทางในช่วง 30 กิโลเมตรแรก เป็นถนนตัดใหม่มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 2216 เดิมที่ กม.65+320 ผ่าน อ.น้ำหนาวไปจนถึงสามแยกห้วยสนามทรายจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2216 (กม.0+000) ตัดกับทางหลวงหมายเลข 12  (กม.429+050) จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกไปตามทางหลวงหมายเลข 12 เดิม และมีจุดสุดสิ้นโครงการ ที่ กม.448+318 ของทางหลวงหมายเลข 12 (กม.111+070 ของโครงการ) ระยะทาง 111.070 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล 5 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ ต.หนองสว่าง ต.ทุ่งนาเลา ต.คอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และ ต.วังสวาป อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น

รูปแบบทางหลวงโครงการ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงตามสภาพพื้นที่ถนนเดิมของโครงการ ดังนี้ ช่วงที่ 1 ถนนตัดใหม่ ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบดินถมปูแผ่นคอนกรีต (Raised Median) สำหรับบริเวณพื้นที่ราบ ส่วนบริเวณพื้นที่ภูเขาสูงชัน พื้นที่ 2 ข้างทางต่างระดับกันค่อนข้างมาก ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบแท่งคอนกรีต แยกคันทางต่างระดับ และออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบแท่งคอนกรีต (Median Barrier) สำหรับบริเวณพื้นที่ภูเขา ช่วงที่ 2 บริเวณที่แนวเส้นทางซ้อนทับกับทางหลวงหมายเลข 2216 ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร เกาะกลางแบบแท่งคอนกรีต (Median Barrier) สำหรับพื้นที่ภูเขา และออกแบบเป็น
ทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจรทิศทางละ 3 ช่องจราจร เกาะกลางแบบดินถมปูแผ่นคอนกรีต (Raised Median) บริเวณ

ที่ราบชุมชนน้ำหนาว ช่วงที่ 3 บริเวณที่แนวเส้นทางซ้อนทับกับทางหลวงหมายเลข 12 เดิม ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบแท่งคอนกรีต (Median Barrier) บริเวณพื้นที่เนินเขา ส่วนบริเวณพื้นที่ภูเขา (เขาวง) ซึ่งสภาพพื้นที่เหมาะสมสำหรับการจัดการให้เป็นแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศสำหรับสัตว์ ได้ออกแบบเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร โดยทิศทางไป อ.หล่มสักปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 12 เดิมเป็น 2 ช่องจราจร มีช่องจราจรไต่ลาดชัน (Climbing Lane) ในช่องจราจรซ้ายสุด ส่วนทิศทางไป อ.คอนสารก่อสร้างสะพานขนาด 2 ช่องจราจร และมีช่องจราจรไต่ลาดชัน (Climbing Lane) ในช่องจราจรซ้ายสุด

และในบริเวณพื้นที่ราบ ได้ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร มีเกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) รวมถึงได้ออกแบบให้มีการป้องกันเสถียรภาพลาดคันทางตลอดแนวเส้นทางโครงการ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่บริเวณนั้นๆ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อลาดคันทาง 

ส่วนงานออกแบบทางแยก การออกแบบทางแยกที่สำคัญของโครงการ มีจำนวน 5 จุด แบ่งเป็น ทางแยกที่ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร 4 จุด ได้แก่

1.บริเวณทางแยกสักหลง (ทางหลวงหมายเลข 21 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 2466) 
2.บริเวณแยกทางหลวงชนบท สาย พช.2034 3.บริเวณทางแยกห้วยสนามทราย (ทางหลวงหมายเลข 12 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 2216) 4.บริเวณทางแยกทางเข้า อบต.วังสวาป (ทางหลวงหมายเลข 12 ตัดกับถนน รพช.)  และทางแยกที่ไม่ได้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร 1 จุด ได้แก่ บริเวณทางแยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 2216 (ทางหลวงหมายเลข 2216 กม.65+320) ส่วนรูปแบบจุดกลับรถ ประกอบด้วย จุดกลับรถระดับดิน จำนวน 18 จุด และจุดกลับรถใต้สะพาน 36 จุด พร้อมทั้งได้ออกแบบจุดพักรถในโครงการไว้ 3 จุด ได้แก่ จุดพักรถท่าอิบุญ กม.9+400 ตั้งอยู่บริเวณ ต.ท่าอิบุญ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ จุดพักรถหลักด่าน กม.33+900 ตั้งอยู่ ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ และจุดพักรถทุ่งพระ กม.92+600 ตั้งอยู่ ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

ทั้งนี้ โครงการ ได้ดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ ครอบคลุมทุกกิจกรรมการก่อสร้าง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อ
ลดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด 

ภายหลังการสัมมนาในครั้งนี้ โครงการจะดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน นำมาพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และจะนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป ซึ่งกรมทางหลวงมีแผนดำเนินงานจะเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2573 ถึงปี 2575 และคาดว่าสามารถเปิดใช้บริการได้ประมาณปี 2576 โดยผู้สนใจสามารถติดตาม

ความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.หล่มสัก-คอนสาร.com 

2.แฟนเพจเฟสบุ๊ค : หล่มสัก-คอนสาร และ 3.Line Official : https://lin.ee/8UzitHR