In Thailand
นครปฐมเข้าร่วมเปิดงานสร้างเสริมสุขภาพ เชิงรุกลดภาวะคลอดก่อนกำหนด

นครปฐม-ผู้ว่าฯนครปฐม เข้าร่วมเปิดงาน Kick Off โครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดในพระราชูปถัมภ์ฯ พื้นที่ภาคกลาง ผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับกระทรวงทรวงมหาดไทย
วันที่ 14 ก.ค. 68 เวลา 09.00 น. นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย นายปรีชา ดิลกพรเมธี รองผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเปิดงาน Kick Off โครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดในพระราชูปถัมภ์ฯ พื้นที่ภาคกลาง ผ่านระบบออนไลน์ ที่ห้องประชุมวัชรีรมยา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครปฐม
โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นายสันติธร ยิ้มละมัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานเปิดโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (Kick Off 4 ภาค : ภาคกลาง) พร้อมด้วย นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธราธิป โคละทัต กรรมการและเลขานุการคกก.บริหารกองทุนทีปังกรนภัทรบุตร ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีเข้าร่วม ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยเป็นการถ่ายทอดผ่านระบบ Live Streaming ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคกลาง
นายสันติธร ได้กล่าวถึงสภาวการณ์ภาวะคลอดก่อนกำหนดของหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยซึ่งมีตัวเลขสัดส่วนร้อยละ 12 ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่นประเทศญี่ปุ่น มีสัดส่วนตัวเลขที่น้อยมาก และความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้มีการจัดตั้งโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ ขึ้น และต่อมา กระทรวงมหาดไทยได้เล็งเห็นความสำคัญและรับสนองพระราชปณิธานจึงได้ร่วมกับโครงการฯ ขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดในพระราชูปถัมภ์ ฯ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ที่มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาค ซึ่งในระดับประเทศมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ระดับอำเภอมีนายอำเภอเป็นประธาน แล้วระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประธาน
"ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งได้มีการ Kick Off ไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และวันนี้เป็นการ Kick Off ระดับพื้นที่ โดยเลือกเอาพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งจากตัวเลขสภาวการณ์อยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง โดยมี จ.นครปฐมตัวเลขเป็นลำดับ 1 รวมทั้งได้เพิ่มเป้าหมาย คือ "กรุงเทพมหานคร" ร่วมขับเคลื่อนเพิ่มเติมจาก 24 จังหวัดเป้าหมายเป็น 24 จังหวัด + กรุงเทพมหานคร แต่ทั้งนี้ "คณะกรรมการในระดับอำเภอเป็นจุดแตกหักของการดำเนินการ" จึงขอให้นายอำเภอได้เป็นผู้นำขับเคลื่อนตั้งแต่คู่รักที่มาจดทะเบียนให้มีความรู้การวางแผนการมีบุตรและเตรียมพร้อมตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลร่วมกับ พชอ. และที่สำคัญคือ "อสม." ที่ต้องลงไป X-Ray ในส่วนของประชาชนผู้ตั้งครรภ์ให้มีความรู้ถึงอันตรายของการคลอดก่อนกำหนด และในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดและรู้ปัญหารู้ความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ท่านนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการจัดประชุมคณะกรรมการฯ และพิจารณาบรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่นและบูรณาการร่วมกันในทุกระดับ" นายสันติธร กล่าว
นายสันติธร กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จโครงการฯ นี้จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ต้องขับเคลื่อนงานที่ดี ร่วมแรง ร่วมใจ ติดตามและประเมินผลการทำงาน และหากพบปัญหาต้องบูรณาการร่วมการแก้ไข เพื่อบรรลุเป้าหมายลดภาวะคลอดก่อนกำหนดในตัวเลขเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ภายในปี 2570 เราทุกส่วนต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ และทำต่อเนื่อง ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเพื่อค้นหา Best Practice เพื่อเป็นตัวอย่างการดำเนินการให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ ต่อไป
สำหรับจังหวัดเป้าหมาย 24 จังหวัด รวม 72 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม หนองคาย นครพนม สกลนคร ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สมุทรสาคร สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และจังหวัดสตูล