In Bangkok
รองผู้ว่ากทม.บุกเขตบางกะปิคุมเข้มพี่วิน เช็กกล้องCCTVส่องผู้ขับขี่บนทางเท้า

กรุงเทพฯ-บางกะปิคุมเข้มวินจักรยานยนต์รับจ้าง เช็กกล้อง CCTV ส่องผู้ขับขี่บนทางเท้า ล้อมรั้วห้ามทิ้งขยะลาดพร้าว 107 แยก 24 พับเก็บแผงค้าลาดพร้าว 101 ปั้นสวนบางกะปิเสรีภิรมย์ ลุยซ้ำวัดฝุ่นจิ๋วโมดิซโวยาจศรีนครินทร์ ชวนหมู่บ้านไทม์โฮมหัวหมาก 21 แยกขยะไม่เทรวม
(17 ก.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกะปิ ประกอบด้วย
ติดตามการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ บริเวณซอยรามคำแหง 81/1 เขตฯ มีวินรถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่ 122 วิน ซึ่งเขตฯ จะต้องตรวจความเรียบร้อยตามแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าไม่เรียบร้อยให้แจ้งข้อบกพร่องแก่ผู้ขับขี่ เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อย ซึ่งแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ ประกอบด้วย 1.ด้านความสะอาด ได้แก่ สถานที่ตั้งวินและโดยรอบมีความสะอาด ไม่มีการตอกผูกยึดโยง 2.ด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้แก่ จอดรถจักรยานยนต์เป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางเท้าหรือพื้นผิวจราจร ตั้งวางม้านั่งเป็นระเบียบ 3.ด้านกฎหมาย ได้แก่ การแต่งกายถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เสื้อวิน เบอร์เสื้อถูกต้องตามบัญชี ไม่ขับขี่บนทางเท้า ป้ายทะเบียนถูกต้อง สวมหมวกนิรภัย ป้ายอัตราค่าโดยสารถูกต้อง ไม่เก็บค่าโดยสารเกินราคา ไม่นำเสื้อวินไปเช่าช่วงต่อ 4.ด้านอื่น ๆ ได้แก่ ไม่ดื่มสุรา กริยามารยาทสุภาพ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์สาธารณะให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตรวจตามแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ เน้นย้ำผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด อาทิ การแต่งกาย ป้ายทะเบียนรถ อัตราค่าโดยสาร จุดที่ตั้งวิน พร้อมทั้งตรวจจุดติดตั้งกล้อง CCTV ผ่านระบบ BMA AI CAMERA บริเวณปากซอยรามคำแหง 54 ในพื้นที่เขตฯ มีจำนวน 1 จุด เพื่อตรวจจับผู้กระทำความผิดขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า กวดขันวินัยจราจรดำเนินการแก่ผู้ฝ่าฝืนนำรถยนต์ขึ้นมาจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า รวมถึงปรับเปลี่ยนป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามขับขี่บนทางเท้า จากแผงเหล็กที่ตั้งอยู่บนทางเท้า เป็นป้ายแนวตั้งติดกับเสาไฟฟ้าแทน เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดินสัญจรของประชาชน
ตรวจสอบพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณซอยลาดพร้าว 107 แยก 24 ซึ่งเขตฯ ได้ออกหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดิน ให้ดำเนินการล้อมรั้วโดยรอบให้มิดชิด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำรั้วชั่วคราวปิดกั้นไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามทิ้งขยะ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หากไม่มีการใช้ประโยชน์หรือปล่อยทิ้งไว้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ให้พิจารณาจัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างหรือขยะชิ้นใหญ่มาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณซอยลาดพร้าว 101 ซึ่งเป็นจุดที่เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าแล้วเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 68 ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 9 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 264 ราย ได้แก่ 1.ซอยลาดพร้าว 121 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 01.00-24.00 น. 2.ซอยนวมินทร์ 8-10 ผู้ค้า 67 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 3.ซอยโยธินพัฒนา ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. 4.ซอยรามคำแหง 34-36 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 5.ซอยรามคำแหง 53-65 ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-24.00 น. 6.ซอยหัวหมาก 9-39 ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 7.ซอยหัวหมาก 10-34 ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-24.00 น. ในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 5 จุด ได้แก่ 1.ถนนแฮปปี้แลนด์ สาย 2 ผู้ค้า 41 ราย ยกเลิกวันที่ 22 เม.ย. 67 2.แยกลำสาลี ถนนศรีนครินทร์ขาออก ผู้ค้า 12 ราย ยกเลิกวันที่ 1 พ.ค. 67 3.ซอยลาดพร้าว 109 ผู้ค้า 12 ราย 4.ซอยรามคำแหง 52/2 ผู้ค้า 11 ราย 5.ซอยรามคำแหง 64/2 ผู้ค้า 12 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ธ.ค. 67 ต่อมาในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 7 จุด ได้แก่ 1.ซอยลาดพร้าว 101 ผู้ค้า 66 ราย 2.ซอยลาดพร้าว 107 ผู้ค้า 42 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มี.ค.68 3.ซอยลาดพร้าว 121 ผู้ค้า 22 ราย 4.ซอยโยธินพัฒนา ผู้ค้า 29 ราย 5.ซอยรามคำแหง 34-36 ผู้ค้า 13 ราย 6.ซอยหัวหมาก 9-39 ผู้ค้า 32 ราย 7.ซอยหัวหมาก 10-34 ผู้ค้า 35 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ก.ค.68 ส่วนที่เหลืออีก 2 จุด คือ 1.ซอยนวมินทร์ 8-10 ผู้ค้า 67 ราย 2.ซอยรามคำแหง 53-65 ผู้ค้า 35 ราย เขตฯ จะพิจารณายกเลิก โดยกำหนดยกเลิกวันที่ 1 ต.ค. 68 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 67 ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในจุดที่ยกเลิกทำการค้าแล้ว ซึ่งหลังจากวันที่ 1 ต.ค. 68 เป็นต้นไป เขตฯ จะไม่มีพื้นที่ทำการค้า
พัฒนาสวน 15 นาที สวนบางกะปิเสรีภิรมย์ ถนนเสรีไทย (สวนหย่อมแฟลตการเคหะที่ 30 คลองจั่น) ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาจัดเก็บขยะใบไม้แห้ง ปรับสภาพพื้นที่ จัดทำทางเดิน ปลูกไม้พุ่มขนาดกลาง อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารเขตฯ ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสาธารณะสวนพฤกษชาติคลองจั่น พื้นที่ 34 ไร่ 2.สวนหย่อมพระราม 9 (แยกรามคำแหง) พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา 3.สวนหย่อมศรีบูรพา (แปลงปันสุข) พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา 4.สวนหย่อมริมคลองแสนแสบ พื้นที่ 1 งาน 42 ตารางวา 5.ลานบางกะปิภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ 21 ตารางวา 6.สวนปิยะภิรมย์ พื้นที่ 12 ไร่ (อยู่ในความดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม) สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนป่า (วงในทางต่างระดับถนนศรีนครินทร์-ถนนกรุงเทพกรีฑา) พื้นที่ 7 ไร่ 2.สวนหย่อมแปลงสามเหลี่ยม (หน้าร้านสินธร สเต็กเฮ้าส์) พื้นที่ 3 งาน 98 ตารางวา 3.สวนหย่อมโพธิ์แก้ว พื้นที่ 1 งาน 95 ตารางวา 4.สวนศรีบูรพาภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา 5.สวนหย่อมหมู่บ้านสินธร พื้นที่ 1 ไร่ 7 ตารางวา 6.สวนริมทาง@บางกะปิ ท้ายซอยกรุงเทพกรีฑา 9 พื้นที่ 2 งาน 50 ตารางวา 7.จุดเช็คอินริมคลองแสนแสบ พื้นที่ 1 งาน 42 ตารางวา 8.สวนบางกะปิเสรีภิรมย์ ถนนเสรีไทย (สวนหย่อมแฟลตการเคหะที่ 30 คลองจั่น) พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา 9.สวนหย่อมวัดพระไกรสีห์ พื้นที่ 3 งาน 60 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่งตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในภาพรวมกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที 459 แห่ง จัดทำเสร็จแล้ว 314 แห่ง อยู่ระหว่างจัดทำ 116 แห่ง ยังไม่ได้จัดทำ 29 แห่ง โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการโมดิซ โวยาจ ศรีนครินทร์ (Modiz Voyage Srinakarin) บริเวณซอยศรีนครินทร์ 2 ถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัยความสูง 37 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ต่อเนื่องจากวันที่ 18 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด อาทิ จัดทำรั้วโดยรอบในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบตลอดเวลาทำงาน ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ล้างทำความสะอาดพื้นด้านหน้าไม่ให้มีเศษดินหินทรายตกค้าง ย้ายเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผล มาติดตั้งด้านหน้าโครงการ ให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด ซึ่งผู้ประกอบการได้ปรับปรุงแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ หมู่บ้านไทม์โฮม หัวหมาก 21 ซึ่งเป็นหมู่บ้านจัดสรร 101 หลัง มีผู้พักอาศัย 78 หลัง (เป็นบ้านว่างไม่มีผู้พักอาศัย 23 หลัง) พื้นที่ 7 ไร่ ประชากร 130 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2568 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ลูกบ้านคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทางออกจากขยะทั่วไป ใส่ถุงแยกนำมาทิ้งที่จุดทิ้งขยะกลางหมู่บ้าน โดยมีแม่บ้านคัดแยกอีกครั้ง ส่วนกิ่งไม้และใบไม้จากการตัดแต่งเดือนละครั้ง และใบไม้แห้งที่แม่บ้านกวาดทำความสะอาด โดยการจ้างเหมาเอกชนนำไปกำจัดเอง 2.ขยะรีไซเคิล แม่บ้านจะเป็นผู้คัดแยกขยะ นำมารวบรวมที่จุดรวมขยะกลางหมู่บ้าน และขายเดือนละ 1 ครั้ง 3.ขยะทั่วไป ลูกบ้านคัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี 4.ขยะอันตราย ลูกบ้านคัดแยกขยะอันตราย นำไปทิ้งที่จุดรวมหมู่บ้าน เมื่อมีปริมาณมาก เขตฯ จะรวบรวมไปส่งที่ห้างเดอะไนท์ เขตสวนหลวง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 46,080 ลิตร/เดือน หลังคัดแยก 44,280 ลิตร/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่ โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2568 นอกจากนี้ เขตฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลงทะเบียนคัดแยกขยะผ่านแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY โดยมีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 4,469 คน
ในการนี้มี นางสิริกาญจน์ สุยวณิชย์ ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกะปิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล