In News
ดีอีเตือน'รับสมัครจนท.ศูนย์ดิจิทัลชุมชน' มีค่าแรกเข้า5หมื่นบ.ยืนยันเป็นข่าวปลอม

กรุงเทพฯ-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “กระทรวงดิจิทัลฯ ประกาศรับสมัคร เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน มีค่าแรกเข้า 50,000 บาท” รองลงมาคือเรื่อง “กระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน เบกกิ้งโซดา ช่วยให้สายตากลับมามองเห็นชัดใน 5 วัน” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และสับสนในสังคม
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 11 – 17 กรกฎาคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 887,665 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 671 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 627 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 36 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 8 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 214 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 89 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 106 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 27 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 13 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 8 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 61 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ เป็นข่าวการให้บริการของหน่วยงานรัฐ ข่าวเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคงภายในประเทศ และระหว่างประเทศ และข่าวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก วิตกกังวล สับสน เข้าใจผิดได้ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง กระทรวงดิจิทัลฯ ประกาศรับสมัคร เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน มีค่าแรกเข้า 50,000 บาท
อันดับที่ 2 : เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน เบกกิ้งโซดา ช่วยให้สายตากลับมามองเห็นชัดใน 5 วัน
อันดับที่ 3 : เรื่อง รฟท. เปิดตัวรถด่วนคริสตัล 2026 เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
อันดับที่ 4 : เรื่อง คนไทยติดเชื้อ HIV 6 แสนคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน
อันดับที่ 5 : เรื่อง ปราสาทตาควาย อยู่ในเขตแดนและอธิปไตยของกัมพูชา
อันดับที่ 6 : เรื่อง กัมพูชายื่น UNESCO ขอชุดไทยแลกเปลี่ยนเพื่อจบปัญหาชายแดน
อันดับที่ 7 : เรื่อง กองสลากฯ สั่งล็อกเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 ก.ค. 68
อันดับที่ 8 : เรื่อง กองทัพไทย ส่งหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว (RDF) เข้าทำลายข้าศึก จบสงครามได้ราบคาบ
อันดับที่ 9 : เรื่อง แม่ทัพภาคที่ 2 เปิดรับบริจาคข้าวสารให้ทหารแนวหน้า
อันดับที่ 10 : เรื่อง กัมพูชา นำวรรณกรรมไทย 22 เรื่อง ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “กระทรวงดิจิทัลฯ ประกาศรับสมัคร เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน มีค่าแรกเข้า 50,000 บาท” กระทรวงดีอี โดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) หรือ BDE ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า สดช. ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างในการดำเนินการโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะความรู้เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับกำลังคนดิจิทัลระดับอำเภอ โดยข้อกำหนดตามขอบเขตของงานข้อ 4.2.1 กำหนดให้ “ผู้รับจ้างต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่บริหารงานระดับอำเภอ จำนวน 878 คน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนกำลังคนในพื้นที่”
ทั้งนี้จากการสอบถามผู้ชนะการเสนอราคา (บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) พบว่า บริษัทฯ ได้เตรียมการในการดำเนินงานโครงการ โดยได้ประกาศรับสมัครบุคลากรเพื่อเสนอ สดช. พิจารณาก่อนปฏิบัติงานจริงตามสัญญา ซึ่งการรับสมัครดังกล่าว “ไม่มีการเรียกรับเงินค่าแรกเข้าในการสมัครและค่าใช้จ่ายอื่นใดทั้งสิ้น” ดังนั้นจึงขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ ที่แอบอ้างรับสมัครงานดังกล่าว โดยหลอกลวงเรียกรับค่าแรกเข้าและค่าใช้จ่ายในการรับสมัครอื่นๆ
ด้านข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “กระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน เบกกิ้งโซดา ช่วยให้สายตากลับมามองเห็นชัดใน 5 วัน” กระทรวงดีอี ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า คลิปตามภาพข่าวนั้น เป็นคลิป AI ที่ถูกผู้ไม่หวังดีนำภาพและเสียงของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปแอบอ้างในการให้คำแนะนำ และโฆษณาในประเด็นสุขภาพดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้มีประชาชนหลงเชื่อทำตาม ด้วยหวังว่าจะหายจากโรค จนสูญเสียโอกาสในการรักษาได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อวิธีการรักษาในสื่อออนไลน์ ซึ่งไม่มีที่มาหรือข้อมูลอย่างเป็นทางการ และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดความวิตกกังวล หรืออาจสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com