Biz news
คปภ.จัดประชุมคกก.คุ้มครองผู้บริโภคฯ รุกยกระดับ3มาตรการประกันภัยครบมิติ

สำนักงาน คปภ. จัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัยครั้งที่ 2/2568เดินหน้ายกระดับ 3 มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยครบมิติทั้ง “เร่งรัดการเยียวยา-พัฒนากระบวนการลดเรื่องร้องเรียน-ยกระดับระบบคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ”มุ่งเสริมสิทธิให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัยครั้งที่ 2/2568 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆประกอบด้วย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก โดยมีสาระการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย3 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการเร่งรัดเยียวยาและช่วยเหลือประชาชน ผู้เอาประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ และผู้ได้รับความเสียหายจากสัญญาประกันภัยสำนักงาน คปภ. โดยสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค ได้ดำเนินมาตรการเร่งรัดเยียวยาและให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ และผู้ได้รับความเสียหายจากสัญญาประกันภัยในกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่รวม 39 ครั้ง ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์รถบัสโดยสารพลิกคว่ำที่จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 โดยสำนักงาน คปภ. ประสานงานให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 21 ล้านบาท และเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออาคารและทรัพย์สิน รวมถึงอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยสำนักงานคปภ. ได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย (War Room) ให้บริการสายด่วนคปภ. 1186 ตลอด 24 ชั่วโมง และร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อเร่งตรวจสอบและจ่ายค่าสินไหมอย่างเป็นระบบ พร้อมประสานความร่วมมือกับสถานทูตเมียนมาเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยคนงานชาวเมียนมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์รถบรรทุกพ่วงชนรถยนต์บริเวณมอเตอร์เวย์สาย 7 จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 โดยสำนักงาน คปภ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายและประสานบริษัทประกันภัยเพื่อติดตามการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยบริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และเจ้าของทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 12 ล้านบาทโดยสำนักงาน คปภ. ดำเนินการภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใส และลดผลกระทบต่อประชาชนผู้เสียหายได้อย่างเป็นรูปธรรม
2. มาตรการด้านเทคโนโลยีประกันภัยเพื่อเสริมสร้างสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคสำนักงาน คปภ. โดยสายคุ้มครอง สิทธิประโยชน์ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย (PPMS) ระยะที่ 2 เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยระบบนี้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงาน คปภ. กับบริษัทประกันภัย เพื่อทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ทำให้การรับเรื่องร้องเรียน การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และการให้บริการประชาชนเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม ทั้งยังสนับสนุนการวางนโยบายกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภาพรวม โดยได้เปิดใช้งานระบบ PPMS ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา
3. การยกระดับประสิทธิภาพกลไกการทำงานของระบบคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฝ่ายสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568ได้เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการด้านประกันภัยรถภาคบังคับ เพื่อยกระดับสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคใน 3 มิติหลัก ได้แก่
มิติที่ 1 การทบทวนเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ โดยมีแนวทางปรับเพิ่มความคุ้มครองสูงสุดจาก 5–10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาทต่ออุบัติเหตุทุกกรณี เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกคำสั่งนายทะเบียน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2568
มิติที่ 2 การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการประกันภัยรถภาคบังคับได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลการรับประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ระหว่างระบบ CMIS กับระบบ CRIMES Online ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจในการตรวจสอบการทำประกันภัยรถภาคบังคับของผู้ใช้รถ และสิทธิความคุ้มครองของผู้ประสบภัยจากรถ
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานจะไม่มุ่งเน้นที่การจับปรับ แต่เน้นการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) โดยตำรวจจะให้คำแนะนำและส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) หากผู้ใช้รถดำเนินการตามคำแนะนำ จะได้รับการลดเบี้ยปรับลงตามความเหมาะสม โดยเพิ่มความสะดวกในการซื้อประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) แบบออนไลน์ได้ผ่านระบบ Insure Mallรวมทั้งผลักดันให้บริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ในรูปแบบ e-Policy เพื่อให้มีการนำส่งข้อมูลการรับประกันภัยแบบเรียลไทม์ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการซื้อประกันภัยรวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากการทำประกันภัยรถภาคบังคับได้ทันที ลดปัญหากรมธรรม์สูญหาย และสามารถสืบค้นได้จากบริษัทประกันภัยซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน
มิติที่ 3การศึกษาวิจัยเชิงลึกตามโครงการสร้างพื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนและการรณรงค์ส่งเสริมการทำประกันภัยรถภาคบังคับโดยได้ดำเนินโครงการพื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนในจังหวัดปราจีนบุรี ภายใต้แคมเปญ “ปราจีน ยืนหนึ่ง ถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย” ซึ่งร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน วิเคราะห์จุดเสี่ยงและวางมาตรการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนใน 5 พื้นที่เป้าหมาย ถือเป็นการยกระดับบทบาทของระบบประกันภัยจากการเยียวยาหลังเกิดเหตุสู่การป้องกันเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรมโดยอนาคตจะขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการประกันภัยรถยนต์สำหรับรถที่มีอายุเกิน 5 ปี ในประเด็นเรื่องการซ่อมห้าง ซึ่งบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่มักรับประกันภัยแบบซ่อมอู่แทน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ชี้แจงว่า การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องชดใช้ ตามความเสียหายที่แท้จริง โดยพิจารณาตามสภาพความเสื่อมและอายุการใช้งานของรถ ซึ่งอนาคตจะมีการกำหนดเอกสารแนบท้ายซ่อมห้างหรือซ่อมศูนย์เพิ่มเติมผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกได้ตามความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย ขณะเดียวกันที่ประชุมยังแสดงความห่วงใยต่อผู้บริโภค และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรณรงค์ให้ประชาชนทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ(พ.ร.บ.)ระหว่างปีภาษี เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะช่วงต่อภาษีประจำปีเท่านั้น
อีกทั้ง ที่ประชุมยังได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ โดยเสนอให้มีการออกแบบระบบบริการด้านประกันภัยผ่านช่องทางออนไลน์ที่รองรับการใช้งานของผู้พิการทุกประเภท ทั้งในด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย การสอบถามข้อมูล และการตรวจสอบสิทธิ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงโดยสำนักงาน คปภ. จะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปใช้ปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคในระยะยาว