In Global

จีน-อียู เดินหน้าความสัมพันธ์ทวิภาคี สร้างเสถียรภาพโลก



ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน หารือกับ อันโตนิโอ คอสตา ประธานคณะมนตรียุโรป และเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลาเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเยือนจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจีน-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 25 ณ อาคารมหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่งของจีน วันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เน้นย้ำบทบาทของความสัมพันธ์ทวิภาคีในการสร้าง “เสถียรภาพ” ท่ามกลางความปั่นป่วนของภูมิรัฐศาสตร์โลก

ปีนี้ยังเป็นวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและสหภาพยุโรป และ 80 ปีแห่งการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations – UN) ทั้งสองฝ่ายร่วมหารือถึงความร่วมมือระดับโลก

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวถึงประวัติศาสตร์ครึ่งศตวรรษของความร่วมมือที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จร่วมกัน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยยืนยันหลักการสำคัญที่ควรยึดมั่น คือ ความเคารพซึ่งกันและกัน การแสวงหาจุดร่วมแม้มีความแตกต่าง และการยึดมั่นในความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยย้ำว่า “จีนและสหภาพยุโรปควรเดินหน้าไปด้วยกัน สู่ 50 ปีข้างหน้าที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม”

ประเด็นสำคัญในการหารือมีทั้งด้านการค้า สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน ในด้านเศรษฐกิจ การค้าระหว่างจีนและสหภาพยุโปในปี 2024 มีมูลค่าสูงถึง 730,000 ล้านยูโร โดยสหภาพยุโรปเรียกร้องให้จีนเปิดตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคสินค้าเนื้อสัตว์ เครื่องสำอาง และยา รวมถึงยุติมาตรการทางการค้าตอบโต้ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าของยุโรป เช่น การจำกัดการส่งออกแร่หายาก

ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะยกระดับการทำงานร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น COP30 และ ข้อตกลงในการปล่อยก๊าซมีเทน Global Methane Pledge รวมถึงลงนามในแถลงการณ์ร่วมด้านสภาพภูมิอากาศ

แม้จีนและสหภาพยุโรปยังมีมุมมองที่แตกต่างในบางประเด็น แต่ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะมุ่งมั่นพัฒนาความเป็น “หุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์” ที่ขับเคลื่อนบนพื้นฐานของความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน

จีนและสหภาพยุโรปยังมีหลักคิดร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในด้านการสนับสนุนระบบพหุภาคีที่มีองค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นศูนย์กลาง การยึดมั่นในกฎการค้าโลกขององค์การการค้าโลก (WTO) การสนับสนุนความร่วมมือแบบหพุภาคีและรวมถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในช่วงสุดท้ายของการหารือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังกล่าวถึงทิศทางของความร่วมมือระหว่างจีนและสหภาพยุโรปว่า “จีนและสหภาพยุโรป คือ ผู้เล่นหลักในเวทีโลกที่ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคง ยั่งยืน และรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าที่ผ่านมา”

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ภาพ : CGTN