In News

จับตา!ประมูลสินแร่ทองคำบริษัททุ่งคำ ศาลพิพากษาให้บริษัทฯสถานะล้มละลาย



กรุงเทพฯ-จับตา! ประมูลสินแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด 4 ธันวาคม 2563 นี้ภายหลังจากศาลพิพากษาให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัดมีสถานะล้มละลายให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและกรมบังคับคดีได้ทำการตีตรายึดทรัพย์สินของบริษัท

 ซึ่งเมื่อวันที่14 ตุลาคม 2563 กรมบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดสินแร่ ที่บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็ค (BIG BAG) จำนวน 190ถุง ในราคาเริ่มต้นสำหรับการขายทอดตลาดที่ 10,298,250.50 บาท โดยมีเงื่อนไขการเข้าเสนอราคา ว่าผู้ประสงค์จะเข้าเสนอราคาต้องวางหลักประกันการเข้าเสนอราคาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำนวน1,000,000 บาทซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดขายทอดตลาดสินแร่รวม 4 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563
ครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 ธันวาคม 2563
ครั้งที่ 3 ในวันที่ 25 ธันวาคม 2563
ครั้งที่ 4 ในวันที่ 15 มกราคม 2564
โดยเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดนัดขายทอดตลาดสินแร่ครั้งที่ 1 ณ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เลขที่ 179 หมู่ที่ 3ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และได้มีผู้ประสงค์เข้าเสนอราคาจำนวน 4 บริษัทแต่ในวันดังกล่าวไม่มีบริษัทใดยื่นซองเสนอราคาประมูลซื้อสินแร่ ซึ่งการที่ทั้ง 4 บริษัทไม่ยื่นซองในครั้งนั้นอาจเป็นกระบวนการฮั้วประมูลที่ได้มีการตกลงกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมดว่าจะไม่ยื่นซองเสนอราคาในรอบแรกแต่จะรอยื่นซองเสนอราคาประมูลในครั้งต่อไปหรือครั้งสุดท้ายเนื่องจากหากไม่มีผู้ยื่นซองเสนอราคาประมูลราคาสินแร่จะลดลงครั้งละ 10% จากราคาที่ตั้งไว้เริ่มต้น

ซึ่งการประมูลสินแร่ครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มชายฉกรรจ์ 5 คน ที่ปรากฏตัวในวันที่ 27 และ 28พฤศจิกายน 2563 โดยมีพฤติกรรมการแสดงตัวต่อชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลยที่ไม่เหมือนกันทั้ง 2 วัน โดยครั้งแรกชายทั้ง 5 คน ได้อ้างตนว่าเป็นพ่อค้าต้องการเข้าไปดูสินแร่ในเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด แต่ครั้งที่ 2 อ้างว่า เป็นตัวแทนของบริษัททุ่งคำ จำกัด มาตรวจดูความเรียบร้อย และจะอยู่ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2563หรือวันที่กรมบังคับคดีนัดเสนอราคาประมูลซื้อสินแร่ครั้งที่ 2 นอกจากนี้ชาวบ้านยังทราบข้อมูลมาอีกว่า 1 ใน 4บริษัทที่เข้าร่วมเสนอราคาประมูลซื้อสินแร่ได้รับการติดต่อจากบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัดที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ให้เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้อีกด้วยทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดข้อสงสัยว่าชายกลุ่มดังกล่าวเป็นใครกันแน่แล้วเหตุใดถึงมีพฤติกรรมการแสดงตัวตนเช่นนั้น ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่มีข้อสันนิษฐาน 2 กรณี คือ

ชายกลุ่มดังกล่าวน่าจะเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมเสนอราคาประมูลสินแร่ที่หวังชนะการประมูลและการปรากฏตัวครั้งนี้เพื่อดูเชิงหรือข่มบริษัทคู่แข่งที่ต้องการประมูลสินแร่ที่กรมบังคับคดีได้นัดเสนอราคาประมูลซื้อสินแร่อีกครั้งในวันที่4 ธันวาคม 2563 ซึ่งถ้าหากผลการประมูลออกมาว่าบริษัทของชายกลุ่มดังกล่าวได้แพ้การประมูลอาจจะเกิดเหตุการณ์การแย่งชิงสินแร่ของบริษัทผู้พ่ายแพ้การประมูลเหมือนอย่างเช่นหลายพื้นที่ที่มีการยิงกันระหว่างผู้ประมูลหรือชายกลุ่มดังกล่าวอาจจะเป็นกลุ่มอื่นเพราะก่อนหน้านี้ได้มีตัวแทนบริษัทหนึ่งติดต่อมายังชาวบ้านว่าต้องการที่จะเข้ามาขุดเจาะชั้นดินตรงบ่อเก็บกากไซยาไนด์ในวันที่ 26 พฤษจิกายน 2563เพื่อนำไปตรวจดูว่ามีแร่ทองคำตกค้างจากกระบวนการแยกแร่ทองคำออกจากดินร่วมถึงแร่อื่น ๆอยู่ในชั้นดินตรงบ่อเก็บกากไซยาไนด์มากน้อยเพียงใดทั้งยังแอบอ้างต่อชาวบ้านอีกว่าบริษัทจะฟื้นฟูบ่อเก็บกากไซยาไนด์โดยที่บริษัทจะขนดินที่อยู่ในบ่อไปบำบัดนอกพื้นที่และบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดและยังอ้างอีกว่าบริษัทได้ทำการพูดคุยเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) แล้ว

ซึ่งคาดว่าบริษัทดังกล่าวอาจจะได้รับการชี้เป้าจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพราะเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563ได้มีชายตัวสูงสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวมาขอให้ชาวบ้านพาไปดูบ่อเก็บกากไซยาไนด์ซึ่งชาวบ้านได้ปฏิเสธการเข้ามาขุดเจาะชั้นดินของบริษัทดังกล่าวเนื่องจากบริษัทไม่ได้แจ้งเรื่องการลงพื้นที่ขุดเจาะชั้นดินในวันดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ กพร. อย่างที่กล่าวอ้างและจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวเคยถูกชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางและศาลได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตขยายโรงงานประกอบกิจการหลอมโลหะประเภททองแดงอีกด้วย

ซึ่งอาจทำให้บริษัทเกิดความไม่พอใจที่ถูกชาวบ้านปฏิเสธไม่ให้บริษัทเข้ามาขุดเจาะชั้นดินในครั้งนี้โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชาวบ้านมีความกังวลว่า สถานการณ์ตอนนี้อาจจะนำไปสู่เหตุการณ์คล้าย 15พฤษภาทมิฬ ที่มีการบุกทำร้ายชาวบ้านเพื่อขนแร่ออกจากพื้นที่เหมือง
ดังนั้นในขณะที่ยังไม่อาจสรุปได้ว่าชายฉกรรจ์ทั้ง 5 คน เป็นใครหรือคนกลุ่มไหนกันแน่คงต้องติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องการประมูลสินแร่ครั้งที่ 2 ที่จะจัดในวันที่ 4 ธันวาคม 2563ที่จะถึงนี้ และเรื่องความปลอดภัยของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย ที่เป็น 1
ในคณะกรรมการเจ้าหน้าหนี้และรับหน้าที่เวรยามดูแลรักษาสินทรัพย์ที่ถูกยึดรอขายทอดตลาด