In Bangkok
กทม.จัดการมูลฝอยอันตรายอย่างถูกวิธี เตรียมขยายจุดรวบรวมเพิ่มเติม

กรุงเทพฯ-สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.จัดการมูลฝอยอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี เตรียมขยายจุดรวบรวมเพิ่มเติม
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีนักวิชาการแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ให้บริการเก็บขนมูลฝอยอันตรายจากชุมชนแยกจากมูลฝอยทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 โดยประเภทมูลฝอยอันตรายจากชุมชนที่ กทม.ให้บริการจัดเก็บ อาทิ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ เครื่องสำอางหมดอายุ ยารักษาโรคที่หมดอายุ ภาชนะบรรจุสารเคมี ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สำหรับในปีงบประมาณ 2562 ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จัดเก็บมูลฝอยอันตรายจากชุมชนได้เฉลี่ย 3.37 ตัน/วัน และในปีงบประมาณ 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จัดเก็บได้ลดลงเหลือ 3.34 ตัน/วัน และ 2.48 ตัน/วัน ตามลำดับ
กรุงเทพมหานครมีแนวทางการบริหารจัดการมูลฝอยอันตราย รวมถึงซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทราบถึงประเภทของมูลฝอยอันตราย และแยกทิ้งอย่างถูกวิธี ไม่ปะปนกับมูลฝอยทั่วไป ซึ่งประชาชนสามารถแยกทิ้งมูลฝอยอันตรายขนาดเล็ก เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ ภาชนะบรรจุสารเคมี ให้กับรถเก็บขนมูลฝอย ซึ่งมีช่องแยกเก็บมูลฝอยอันตรายด้านหน้าตัวรถได้ทุกวัน หรือทิ้งในถังรองรับมูลฝอยอันตราย (สีส้ม) ซึ่งตั้งวางในชุมชน ส่วนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น พัดลม คอมพิวเตอร์ เครื่องซักผ้า สามารถทิ้งได้ในวัน “นัดทิ้ง นัดเก็บ ขยะชิ้นใหญ่” ทุกวันอาทิตย์ หรือตามวัน เวลาที่สำนักงานเขตนัดหมาย ซึ่งมูลฝอยอันตรายที่จัดเก็บได้ทั้งหมดจะนำไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขตลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของมูลฝอยอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อลดปริมาณมูลฝอยอันตรายที่เข้าสู่ระบบการกำจัด
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากจุดรวบรวมที่ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขยายความร่วมมือการตั้งจุดรวบรวมเพิ่มเติมในหน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษา โรงแรม และอาคารสูง