In Bangkok

บนส.16เสนอรับมือวิกฤตสารเคมีรั่วไหล มุ่งนำกรุงเทพฯก้าวสู่เป็นเมืองปลอดภัย



กรุงเทพฯ-รองปลัดกทม.เปิดการนำเสนอผลงานวิชาการ บนส.16 เสนอแนวทางรับมือวิกฤตสารเคมีรั่วไหล มุ่งนำกรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็นเมืองปลอดภัย

(19 พ.ค. 65) นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการนำเสนอผลงานทางวิชาการหลักสูตรนักบริหารมหานครระดับสูง (บนส.) รุ่นที่ 16 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนัก สำนักงานเขต และสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้เข้ารับการฝึกอบรม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

กรุงเทพมหานคร โดยสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารมหานครระดับสูง (บนส.) รุ่นที่ 16 ระหว่างวันที่ 18 ก.พ. - 27 พ.ค. 65 เพื่อพัฒนาศักยภาพนักบริหารให้มีวิสัยทัศน์และขีดความสามารถทางการบริหาร สามารถรองรับภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพ และเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักบริหารที่เข้ารับการฝึกอบรมด้วยกัน โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวนทั้งสิ้น 27 คน ประกอบด้วย ข้าราชการกรุงเทพมหานครระดับบริหารต้น อำนวยการสูง และอำนวยการต้น รวม 25 คน และจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 2 คน จากสำนักงานอัยการสูงสุด และการประปานครหลวง

สำหรับการนำเสนอผลงานทางวิชาการภายใต้หัวข้อ “ทางเลือก ทางรอด ของกรุงเทพฯ กับวิกฤตสารเคมีรั่วไหล” ในวันนี้ เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารมหานครระดับสูง (บนส.) รุ่นที่ 16 ซึ่งมีที่มาจากการตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเมืองปลอดภัยและหยุ่นตัวต่อวิกฤตการณ์ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากเดิมที่เน้นการจัดการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินไปสู่การบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยมุ่งเน้นการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายต่าง ๆ การนำเสนอกรอบยุทธศาสตร์ แนวทาง และมาตรการในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่การป้องกันความเสี่ยงการเกิดอุบัติภัย การระงับเหตุ การสื่อสารในภาวะวิกฤต และการฟื้นฟูหลังภัยสงบ ตลอดจนเน้นนวัตกรรมและความร่วมมือจากการบูรณาการการทำงานของภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดอุปสรรคน้อยที่สุด อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย “กรุงเทพมหานคร เมืองปลอดภัย” 

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งจากภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในการจัดแสดงองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติสารเคมีรั่วไหล ความรู้เกี่ยวกับภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย สัญลักษณ์ของสารเคมีและวัตถุอันตรายที่ควรรู้จัก เรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากสารเคมีและวัตถุอันตรายก่อนภัยมาถึงตัว รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการสื่อสารในภาวะวิกฤต มาร่วมกิจกรรมการเสวนาเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ ได้แก่ ดร.ไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย นายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้เชี่ยวชาญสารเคมีและวัตถุอันตราย กรมควบคุมมลพิษ นายณัฐธัญ ละอองทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอุบัติภัยแห่งชาติ นายแพทย์ยุทธนา เศรษฐนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) และ ดร.ฉวีวรรณ เกียรติโชคชัยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารองค์กร และการสื่อสารสาธารณะ โดยมี นายธนินวัฒน์ พัฒนวีรคุณ เป็นผู้ดำเนินรายการ 

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประเด็นการนำเสนอผลงานเกี่ยวกับวิกฤตสารเคมีรั่วไหล ถือเป็นหัวข้อที่มีความน่าสนใจและมีความสำคัญในการบริหารจัดการภัยพิบัติของเมืองหลวง ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่กรุงเทพมหานครและองค์กรภาคีเครือข่ายได้มีการบูรณาการความร่วมมือเพื่อจัดการกับวิกฤตดังกล่าว ข้อมูลจากการนำเสนอผลงานและการเสวนาในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีรั่วไหล ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดการดำเนินการเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้