In Bangkok

กทม.จัดอาหารมีคุณภาพตาม โภชนาการ ป้องกันโรคอ้วน-ภาวะทุพโภชนาการ



กรุงเทพฯ- สำนักอนามัย กทม.จัดอาหารมีคุณภาพตามหลักโภชนาการ ป้องกันโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียน

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation : WOF) คาดการณ์ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ในปี 2573 ของประเทศไทย สูงกว่าร้อยละ 30 จึงควรป้องกันเด็กไทยมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นทั้งภายในบ้าน โรงเรียน ชุมชน และสังคมว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียน จึงได้ดำเนินงานเฝ้าระวังภาวะโภชนาการในโรงเรียนระหว่างปี พ.ศ.2559 - 2564 พบว่าสถานการณ์ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. และนอกสังกัดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจัดกิจกรรมป้องกันโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียน เพื่อลดปัญหาภาวะโภชนาการเกินและภาวะทุพโภชนาการ ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้มีภาวะโภชนาการสูงดีสมส่วนของนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักการศึกษา สำนักงานเขต 50 เขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง และหน่วยงานภายนอก ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนในการดำเนินมาตรการป้องกันโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียน 9 มาตรการ ตลอดจนการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่เด็กและผู้ปกครองให้เด็กวัยเรียนสูงดีสมส่วน

นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง ดำเนินมาตรการป้องกันโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียน 9 มาตรการ ประกอบด้วย การงดจำหน่ายน้ำอัดลม น้ำหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินร้อยละ 5 และให้ผู้ค้าลดน้ำตาลในเครื่องดื่มที่จำหน่ายภายในโรงเรียนเหลือไม่เกินร้อยละ 5 จัดหาน้ำสะอาดให้ดื่มฟรีอย่างเพียงพอ งดจำหน่ายขนมกรุบกรอบ และขนมที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายแก่นักเรียนภายในโรงเรียน ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ภายในโรงเรียน ดูแลอาหารภายในโรงเรียนไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จัดกิจกรรมออกกำลังกายแก่นักเรียนอย่างน้อยวันละ 30 นาที สามารถทำสะสมได้อย่างน้อยครั้งละ 10 นาที จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการทั้งด้านอาหารและการออกกำลังกาย จัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยมีผักทุกมื้อและมีผลไม้สัปดาห์ละ 3 วัน เฝ้าระวังและประเมินภาวะโภชนาการอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูงปีละ 2 ครั้ง รวมทั้งประสานความร่วมมือด้านการสร้างเสริมสุขภาพของนักเรียนกับผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ประกอบการร้านค้า ตลอดจนจัดทำตัวอย่างเมนูอาหารเช้าและอาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. จำนวน 100 วัน เพื่อเป็นแนวทางการจัดอาหารสำหรับนักเรียนที่มีคุณภาพตามหลักโภชนาการและเหมาะสมกับวัย