In News

นายกฯไทย-ลาวแถลงร่วมหลังเปิดหารือ ชูเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การพัฒนายั่งยืน



กรุงเทพฯ-นายกฯ แถลงข่าวร่วม นายกฯ สปป.ลาว เปิดศักราชใหม่ ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” พร้อมเร่งรัดความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ

วันนี้ (วันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565) เวลา 18.45 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับนายพันคำ วิพาวัน (H.E. Mr. Phankham Viphavanh) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีกับนายกพันคำฯ ที่ได้รับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การเยือนครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” 

โดยนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม “แผนปฏิบัติการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย - สปป. ลาว เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2565 - 2569” และร่วมเป็นสักขีพยานการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับลาว ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว ฉบับปี ค.ศ. 2022 รวมถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับลาว ว่าด้วยโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย - ลาว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียินดีสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์พัฒนาสังคมมิตรภาพไทย - ลาวเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แบบครบวงจร ที่เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ ด้วย

ในระหว่างการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและมุมมองคลอบคลุมในทุกมิติ โดยมีผลลัพธ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ มีดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

1) ไทยและ สปป.ลาว พร้อมเดินหน้าฟื้นฟูวิถีชีวิตของประชาชนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ชายแดนให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว 

2) การเร่งรัดฟื้นฟูการท่องเที่ยวเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยไทยพร้อมสนับสนุน สปป.ลาว ในการก่อสร้างสะพานเชียงแมน - หลวงพระบาง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน 

3) การเร่งรัดและขยายการเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระบบรางของทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากโครงการรถไฟลาว - จีน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันแบบ win-win 

4) เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และประสานมาตรฐานและกฎระเบียบต่าง ๆ 

5) กระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุน สปป.ลาว ในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของบุคลากรในด้านดิจิทัล และพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มร่วมมือด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น

ด้านความมั่นคง ไทยและ สปป.ลาว เห็นพ้องเพิ่มความเข้มงวดการลาดตระเวนตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย และกระชับความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุน สปป. ลาวในการขยายผลการจับกุมและการมอบอุปกรณ์สืบสวนสอบสวนที่ทันสมัย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแก๊ง call center และปัญหาค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้รับความเดือดร้อน

ด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชน ถือเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในทุกด้าน โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมสานต่อความร่วมมือเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะระหว่างโรงพยาบาลตามแนวจังหวัดกับแขวงชายแดน ความร่วมมือด้านการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยรัฐบาลไทยพร้อมมอบทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก แก่เยาวชน สปป.ลาว รวมกว่า 700 ทุน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เยาวชนของทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเห็นพ้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในด้านสื่อมวลชน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกันประชาชน

ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ไทยและ สปป. ลาว จำเป็นต้องประสานท่าทีและร่วมมือกันใกล้ชิดยิ่งขึ้นทั้งในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค เพื่อรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยไทยพร้อมสนับสนุน สปป. ลาว ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 10 ในปีนี้อย่างเต็มที่ เพื่อผนึกกำลังของประเทศในอนุภูมิภาคในการผลักดันการฟื้นฟูอย่างมั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศพร้อมร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน และเพื่อให้อาเซียนคงบทบาทที่สำคัญในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาของภูมิภาค

ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสปป.ลาว เยี่ยมชมนิทรรศการศิลปหัตถกรรม ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี และนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก

ทั้งนี้ ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว รัฐบาลไทยได้มอบการสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์พัฒนาสังคมมิตรภาพไทย – ลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แบบครบวงจร ที่เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ และทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน 3 ฉบับ ได้แก่

1) แผนปฏิบัติการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย - สปป. ลาว เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565 - 2569)

2) บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว ฉบับปี ค.ศ. 2022

3) บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย - ลาว 

ก่อนหน้านี้ ในเวลา 17.00 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit) 

โดยนายกรัฐมนตรีไทยและลาวได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยม และได้หารือข้อราชการเต็มคณะ ในเวลา 17.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันหารือข้อราชการ โดยฝ่ายไทยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมด้วย ดังนี้

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และคณะในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก พร้อมยินดีที่ช่วงเช้าวันนี้นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้รับมอบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และยินดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เข้าเฝ้าในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นการเข้าเฝ้าฯ ครั้งแรกของผู้นำรัฐบาลต่างประเทศในรัชกาลปัจจุบัน เป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่พิเศษระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ทั้งนี้ การเยือนของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทั้งสองประเทศจะได้กลับมาเปิดประเทศให้มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันอีกครั้ง เพื่อกระชับความร่วมมือ เสริมสร้างความเข้มแข็ง รวมทั้งกับประเทศอื่น ๆ ในอนุภูมิภาคและในภูมิภาคอาเซียนด้วย

ด้านนายกรัฐมนตรี สปป.ลาวขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น การเยือนไทยครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันคำหมายมั่นของ สปป.ลาวที่จะส่งเสริมและสานต่อมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองประเทศต่างเป็น “บ้านใกล้เรือนเคียง” ที่ดี เป็นพี่เป็นน้อง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและคล้ายคลึงกัน ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน พร้อมยืนยันว่า ลาวยินดีให้ความร่วมมือกับไทยในการพัฒนาปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตลูกหลานของประชาชนทั้งสองประเทศให้อยู่ดีกินดี นำมาสู่ความสงบสุขและความมั่นคงยืนยาวตลอดไป รวมทั้งเห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เสนอแนะว่า ทั้งสองฝ่ายควรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านความร่วมมือที่สำคัญระหว่างกันเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ระหว่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและ สปป.ลาว ได้กลับมาเปิดให้มีการไปมาหาสู่ของประชาชนและการขนส่งสินค้าผ่านจุดผ่านแดนทางบกอีกครั้ง ซึ่งในวันนี้ (1 มิถุนายน 2565) ได้มีการเปิดจุดผ่านแดนถาวร/ด่านสากลระหว่างทั้งสองประเทศครบทุกแห่งแล้ว เป็นการช่วยฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนไทยและลาว และกระตุ้นเศรษฐกิจกับการค้าชายแดน ขณะที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวว่าไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ของลาว ซึ่งพร้อมที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันต่อไป นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำการใช้เศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญในอนาคต โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยพร้อมที่จะจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรลาว และพร้อมสนับสนุนด้านเทคนิคและการฝึกอบรมทักษะแก่บุคลากรลาวในการพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในวงกว้าง

ด้านการเชื่อมโยงท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่ง นายกรัฐมนตรีเห็นว่าไทยและลาวสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกันได้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเดินทางข้ามแดนและนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ โดยจะเน้นเส้นทางที่มีศักยภาพระหว่างแขวงหลวงพระบางกับจังหวัดน่าน และจังหวัดในภาคเหนือของไทย ซึ่งสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency: NEDA) ของไทยพร้อมสนับสนุนโครงการก่อสร้างสะพานเชียงแมน – หลวงพระบาง ด้าน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว พร้อมที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้ประชาชนได้ไปมาหาสู่ระหว่างกัน สร้างความใกล้ชิดและเป็นประโยชน์ต่อมูลค่าท่องเที่ยวในภาพรวม รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไทย-ลาว ให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ขณะเดียวกัน ด้านการคมนาคมขนส่ง นายกรัฐมนตรียินดีสนับสนุนนโยบายของ สปป.ลาวในการเปลี่ยนให้เป็นประเทศ land-linked โดยให้กระทรวงคมนาคมทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการก่อสร้างโครงการสำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ 1. การเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนกับระบบรางของไทย 2. การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่จะเป็นประธานร่วมกับนายกรัฐมนตรี สปป.ลาวในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการฯ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ 3. การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน) และ 4. การพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) (แขวงคำม่วน (ตรงข้ามจังหวัดนครพนม) – นาเพ้า)

ด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมให้แรงงานระหว่างสองประเทศเดินทางเข้ามาทำงานอย่างเป็นระบบ โดยผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมายเท่านั้น โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของแรงงานต่างชาติ และให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานต่างชาติในไทยให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ด้านนายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ยืนยันที่จะให้ความร่วมมือกับไทย ซึ่งทั้งสองประเทศสามารถประสานความร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญในประเด็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามแดนและความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เน้นย้ำว่ารัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และยินดีจัดการหารือนผ่านกลไกความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ด้านนายกรัฐมนตรีให้ความเชื่อมั่นว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ของไทยพร้อมสนับสนุนลาวในการจัดการฝึกอบรม พัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่เพื่อใช้ขยายผลการจับกุมและสนับสนุนอุปกรณ์สืบสวนสอบสวนที่ทันสมัย รวมทั้งทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะแก้ไขปัญหาการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย ซึ่งจะให้หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งสองฝ่าย ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ ทางฝ่ายไทยโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) พร้อมที่จะเริ่มการก่อสร้างศูนย์พัฒนาสังคมมิตรภาพไทย- ลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แบบครบวงจร ที่เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งได้มีการพิธีการมอบภาพต้นแบบของศูนย์พัฒนาฯ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ

ด้านความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ไทยพร้อมจะสานต่อการให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่ สปป.ลาว ภายใต้แผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ฉบับใหม่ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความด้านสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้แสดงความพร้อมจะมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก แก่เยาวชนลาว รวมกว่า 700 ทุน ในระยะปี ค.ศ. 2022 – ค.ศ. 2025 ขณะที่ด้านสาธารณสุข ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันเพื่อควบคุมโควิด-19 รวมทั้งโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอแนะให้ต่อยอดความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลในจังหวัดและแขวงตามแนวชายแดนไทย – ลาว ให้ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น

ด้านความร่วมมือทางการเกษตร ไทยยินดีที่โครงการความร่วมมือด้านการเกษตรของไทยใน สปป.ลาว ประสบความสำเร็จและมีส่วนสนับสนุนการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนชาวลาว ซึ่งนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวขอบคุณการสนับสนุนของรัฐบาลไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะต่อยอดความสำเร็จด้วยการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพิ่มเติมในอนาคต

ด้านความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นบนพื้นฐานของภาษาและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการสนับสนุนโยบาย Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย เพื่อผลักดันให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยยินดีให้กระทรวงวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศจัดทำข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมร่วมกัน 

ด้านความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค ในระดับอนุภูมิภาค ไทยพร้อมสนับสนุน สปป.ลาว อย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 10 ในปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศในอนุภูมิภาคจะจับมือกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดและรุ่งเรือง ขณะที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ยืนยันว่า รัฐบาลลาวพร้อมให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมเอเปกของไทย เชื่อมั่นในประสบการณ์การทำงานและศักยภาพของรัฐบาลไทยที่จะสามารถดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ดี เเละทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน สำหรับระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยและลาว อยู่ในครอบครัวอาเซียนด้วยกัน จึงควรประสานงานและร่วมกันกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้อาเซียนเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน โดยไทยเชื่อว่าอาเซียนที่มีความเป็นปึกแผ่นจะเป็นอาเซียนที่มีพลังและสามารถมีบทบาทสำคัญในประเด็นระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และคณะที่ได้เดินทางเยือนไทยและหารือร่วมกันในบรรยากาศฉันท์มิตร เสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน และเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย นำผลการหารือไปปฏิบัติเพื่อให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มีความคืบหน้าและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว