In News

กทม.จัดงานวันครบรอบสำนักอนามัย48ปี ออกหน่วยตรวจทุกโรคฟรีที่วัดสระเกศ



กรุงเทพฯ-รองทวิดาเป็นประธานจัดกิจกรรมวันครบรอบวันสถาปนาสำนักอนามัย 48 ปี พัฒนาไม่หยุดยั้งการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน

(13 มิ.ย.65) เวลา 09.00 น. : ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในกิจกรรมวันครบรอบวันสถาปนาสำนักอนามัย 48 ปี พร้อมตรวจเยี่ยมหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย รวมถึงผู้เคยดำรงตำแหน่งทางบริหารของสำนักอนามัย ร่วมกิจกรรม ณ พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 

สำหรับกิจกรรมวันครบรอบวันสถาปนาสำนักอนามัย 48 ปี ในวันนี้ ประกอบด้วย พิธีสงฆ์ การเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ราชาคณะและพระสงฆ์ 9 รูป การถวายภัตตาหาร สังฆทานและจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับบุคลากรของสำนักอนามัยที่ล่วงลับ เพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรของสำนักอนามัย พร้อมการเชิญชวนคณะผู้บริหาร ข้าราชการและบุคลากร เจริญสมาธิเพื่ออุทิศบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับและผ่อนคลายความเครียด ณ พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 

นอกจากนี้ ระหว่างเวลา 08.00 - 11.00 น. สำนักอนามัยได้เปิดให้บริการหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ เนื่องในวันครบรอบวันสถาปนาสำนักอนามัย 48 ปี บริเวณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) เพื่อให้บริการแก่พระภิกษุ สามเณร บุคลากรของสำนักอนามัย บุคลากรของกรุงเทพมหานคร ประชาชนที่มาทำบุญที่วัด รวมถึงประชาชนในชุมชนโดยรอบวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) อีกด้วย โดยการให้บริการ ประกอบด้วย 1. หน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ จากกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย ให้บริการตรวจคัดกรองสุขภาพ เบาหวาน ความดัน พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพ รถตรวจจอประสาทตาเคลื่อนที่เพื่อให้บริการตรวจรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมจากโรคเบาหวานด้วยเลเซอร์ รถทันตกรรมเคลื่อนที่ให้บริการตรวจช่องปาก ขูดหินปูน อุดฟัน และถอนฟัน 2. หน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ จากกลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้สุนัขและแมว และบริการฉีดไมโครชิปสุนัข

ทั้งนี้ หากกล่าวถึงงานด้านสาธารณสุขในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ถือได้ว่ากำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยตราเป็น พระราชกำหนด การสุขาภิบาลกรุงเทพ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคติดต่อมิให้เกิดแพร่หลาย มีการดำเนินการพัฒนาและขยายขอบเขตงานเรื่อยมา ซึ่งสำนักอนามัยได้รับการยกฐานะจากฝ่ายสาธารณสุขเป็นสำนักอนามัย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 22 มี.ค.2517 โดยมีผลตั้งแต่ 13 มิ.ย.2517 โดยระยะแรกได้รับความร่วมมือจากองค์การยูนิเซฟในการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และยานพาหนะแก่ศูนย์บริการสาธารณสุข จนถึงปี พ.ศ.2527 จึงหยุดความช่วยเหลือ สำนักอนามัยมีประวัติเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2479 กองสาธารณสุขพระนครได้โอนมาสังกัดอยู่ในเทศบาลนครกรุงเทพ ตั้งแต่ 27 พ.ค. 2480 และใช้ชื่อว่า กองสาธารณสุขพระนคร เทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งงานสุขาภิบาลได้กำหนดพร้อมงานสาธารณสุข โดยงานระยะแรก ได้แก่ การเก็บขยะมูลฝอย อุจจาระ และรักษาความสะอาดทั่วไป เมื่อมีพระราชบัญญัติ จัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพขึ้น จึงย้ายมาอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาล โดยมีฐานะแผนกในสังกัดกองสาธารณสุขพ.ศ. 2489 เปิดสถานสงเคราะห์แม่และเด็ก สะพานมอญ ซึ่งปัจจุบัน คือศูนย์บริการสาธารณสุข 1 สะพานมอญ พ.ศ. 2496 เปลี่ยนชื่อจาก กองสาธารณสุขพระนคร เทศบาลนครกรุงเทพ เป็น กองสาธารณสุขเทศบาลนครกรุงเทพ จากนั้นจึงขยายสถานบริการไปยังพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น เช่น สถานสงเคราะห์แม่และเด็กสมาคมสตรีไทย ถนนเพชรบุรี สถานสงเคราะห์แม่และเด็กวัดธรรมภิรตาราม สถานสงเคราะห์แม่และเด็กวัดกรมประชาสงเคราะห์ ถนนดินแดง สถานสงเคราะห์แม่และเด็ก ตลาดสะพานเหลือง เป็นต้น โดยงานของ สถานสงเคราะห์แม่และเด็กในระยะแรกส่วนใหญ่ เป็นการรักษาโรค ปลูกฝี ฉีดวัคซีนป้องกันโรค และการเยี่ยมบ้าน ต่อมาจึงเพิ่มบริการ ด้านการส่งเสริมสุขภาพให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น เช่น การตรวจสุขภาพแม่และเด็ก สอนแนะนำวิธีเลี้ยงเด็ก โภชนาการ การปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด พร้อมปรับปรุงพัฒนาเปลี่ยนแปลงขึ้นตามลำดับ จนถึงพ.ศ. 2517 เปลี่ยนชื่อฝ่ายสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เป็น สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยหน่วยงานระดับกอง 8 กอง (สำนักงานเลขานุการ กองส่งเสริมสาธารณสุข กองทันตสาธารณสุข กองอนามัยสิ่งแวดล้อม กองส่งเสริมสุขภาพ กองพยาบาลสาธารณสุข กองสัตวแพทย์สาธารณสุข และกองควบคุมโรค) ระดับฝ่าย 1 ฝ่าย และศูนย์บริการสาธารณสุข 40 แห่ง (ฐานะเท่ากอง)

ปัจจุบัน สำนักอนามัย มีสำนักงานและกองต่างๆ จำนวน 13 แห่ง ทำหน้าที่สนับสนุนด้านวิชาการ แก่ศูนย์ฯพร้อมการวิจัย ประเมินผลและหารูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 73 แห่ง กระจายการบริการทางด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ครอบคลุมประชากรทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร