In Bangkok
กทม.เตรียมระบายน้ำรับมือพายุ'มู่หลาน' พร้อมรับ'น้ำเหนือ-น้ำทะเลหนุน'อีก

กรุงเทพฯ- สำนักการระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์ฝนจากพายุโซนร้อน “มู่หลาน” น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน
นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยพายุโซนร้อน “มู่หลาน” ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้ติดตามสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “มู่หลาน” รวมถึงติดตามการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและสถานการณ์น้ำทะเลหนุนที่อาจส่งผลต่อพื้นที่กรุงเทพฯ โดยประชุมร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานความร่วมมือขับเคลื่อนการช่วยเหลือบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและวางแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ขณะเดียวกันได้ร่วมกับกรมชลประทานโดยเฉพาะสำนักงานชลประทานที่ 11 ประสานงานกำหนดแผนการควบคุมระดับน้ำตามประตูระบายน้ำและเกณฑ์การระบายน้ำตามสถานีสูบน้ำในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมชลประทานจะช่วยเร่งระบายน้ำจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่กรุงเทพฯ และคลองแนวที่เชื่อมต่อกับคลองชายทะเล ซึ่งใช้สถานีสูบน้ำที่ประจำอยู่ตามคลองชายทะเลสูบน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทย ส่วนพื้นที่ตอนเหนือของ กทม.จะช่วยสูบน้ำจากคลองต่างๆ ทั้งคลองลาดพร้าว คลองเปรมประกร และคลองประปาสายล่าง ด้วยการสูบน้ำข้ามไปลงคลองรังสิต-นครนายก และระบายน้ำไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำในคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าว นอกจากนี้ ยังได้หารือร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณเขตรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จะได้รับผลกระทบปัญหาความเดือดร้อนให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
สำหรับการเตรียมความความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก กทม.ได้เร่งลดระดับน้ำตามคูคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงจัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตกเพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ตรวจสอบประสิทธิภาพของอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง บ่อสูบน้ำ 316 แห่ง ให้พร้อมใช้งาน จัดเตรียมสำรองเครื่องสูบน้ำกรณีเหตุฉุกเฉิน จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) พร้อมรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางนา คลองพระโขนง และคลองประเวศบุรีรมย์ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่หน่วยเร่งด่วน (BEST) พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการเข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งกองทัพภาคที่ 1 จัดเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. ตลอด 24 ชม.เพื่อร่วมติดตามสถานการณ์และประสานงานสั่งการทหารเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยจัดชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนคร จัดทหารร่วมจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงและสถานีสูบน้ำต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำ พร้อมทั้งจัดรถรับ-ส่งประชาชนกรณีที่มีน้ำท่วมขังระดับสูงไม่สามารถเดินทางเข้าออกจากที่พักอาศัยได้ เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฯ ของ กทม.อีกทางหนึ่ง
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยในสังกัดจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนกรณีเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการระบายน้ำบนถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน พื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขังซ้ำซาก และพื้นที่เขตรอยต่อกรุงเทพฯ โดยสามารถออกปฏิบัติการทันทีเมื่อได้รับการร้องขอ หรือผู้บังคับบัญชาสั่งการ รวมถึงประสานความร่วมมือเตรียมความพร้อมบุคลากร รถดับเพลิง และรถกู้ภัย อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ เพื่อสนับสนุนสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และสำนักงานเขตตามที่ร้องขอ ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องอุปโภคบริโภคในการสงเคราะห์และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัยและระเบียบกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง