In Bangkok
กทม.ให้บริการคลินิกLong COVIDในรพ. ชงให้อสส.แกนนำดูแลสุขภาพชุมชน

กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์และสำนักอานามัย กทม.ให้บริการคลินิก Long COVID รพ.ในสังกัด พร้อมให้ อสส.เป็นแกนนำดูแลสุขภาพชุมชน
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแนวทางปฏิบัติตนของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 รวมทั้งการเฝ้าระวังภาวะที่อาจเกิดขึ้นหลังติดเชื้อโควิด 19 (Long COVID) ว่า จากสถิติผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด 19 ที่รักษาหายสะสมของโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. 111,924 ราย (ครั้ง) สำนักการแพทย์มีความห่วงใยผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งพบอาการผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนภายหลังการป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด 19 (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID เป็นอาการที่ผู้ป่วยโควิด 19 มักพบภายหลังจากรักษาหายแล้ว อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเป็นอาการที่หลงเหลืออยู่หลังรักษาหาย ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกระบบของร่างกายตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพจิต มักมีอาการภายหลังได้รับเชื้อโควิด 19 ประมาณ 4 - 12 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม อาการที่พบสามารถดีขึ้น หรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือกลับเป็นซ้ำใหม่ได้ โดยภาวะ Long COVID พบได้ในร้อยละ 25 ของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด 19 และอาจมีอาการยาวนานถึง 1 ปี อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย ผมร่วง หายใจลำบาก หอบเหนื่อย เวียนศีรษะ ไอ วิตกกังวล เครียด นอนไม่หลับ ความจำสั้น ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก ซึ่งสำนักการแพทย์ได้ตระหนักถึงสุขภาพของประชาชน จึงเปิดบริการคลินิก Long COVID ใน รพ.สังกัด กทม.9 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.65 เป็นต้นมา เพื่อดูแลรักษาและติดตามอาการของผู้ที่หายป่วยแต่ยังคงมีอาการให้กลับเป็นปกติ มุ่งเน้นให้บริการติดตามอาการผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้นหลังจากหายป่วยโรคโควิด 19 โดยให้บริการแบบ One stop service ใน รพ.สังกัด กทม.9 แห่ง ซึ่งจัดให้มีบริการคัดกรอง พบแพทย์ในจุดเดียว ครอบคลุมทั้งการให้คำปรึกษา ตรวจประเมิน ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือตรวจพิเศษ การวินิจฉัย ดูแลรักษา ติดตามอาการ และส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (กรณีจำเป็น) เบื้องต้นได้กำหนดรูปแบบบริการผู้ป่วยนอก โดยนัดหมายรับบริการผ่านศูนย์ Bangkok Fast & Clear Center (BFC) ของ 11 รพ.สังกัด กทม.โดยเบิกจ่ายตามสิทธิและผู้ป่วยสามารถรับบริการผ่าน 2 ช่องทาง คือ (1) ผู้ป่วยมาเข้ารับบริการที่คลินิกปกติ และแพทย์วินิจฉัยอาการที่เข้าได้กับ Long COVID 19 และส่งผู้ป่วยมาที่คลินิกดังกล่าว และ (2) ผู้ป่วยที่สงสัยอาการตนเองและเข้ามารับบริการที่คลินิก Long Covid โดยตรง นอกจากนั้น ยังได้ขยายช่องทางการให้บริการตรวจรักษาผ่านระบบ Telemedicine ในแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วรองรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนผ่านสื่อออนไลน์และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านสายด่วนสุขภาพ 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัย ได้สนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนให้มีความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวังภาวะที่อาจเกิดขึ้นหลังติดเชื้อโควิด 19 (Long COVID) โดยจัดประชุมให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับอาการภาวะ Long COVID และการดูแลรักษาเบื้องต้นให้ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) กทม.ที่เป็นแกนนำด้านสุขภาพในชุมชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านช่องทางไลน์กลุ่มประธาน อสส.กทม.เพื่อเผยแพร่ให้ อสส.แต่ละศูนย์บริการสาธารณสุขรับทราบ ขณะเดียวกันได้สื่อสารความรู้ภาวะ Long COVID แนวทาง การดูแลรักษาและการส่งต่อโรงพยาบาลให้บุคลากร ผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่ รวมถึงประชาสัมพันธ์สื่อออนไลน์เรื่อง Long COVID ผ่านช่องทางต่าง ๆ นอกจากนั้น ศูนย์บริการสาธารณสุข ยังได้จัดทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด และนักจิตวิทยา เฝ้าระวังอาการ Long COVID และให้บริการเชิงรุกถึงบ้าน เพื่อฟื้นฟูสภาพตามอาการของผู้ป่วย