In Bangkok

กทม.เฝ้าระวังจุดเสี่ยงพร้อมช่วยลงปชช. ลดผลกระทบฝนน้ำหลากน้ำทะเลหนุน



กรุงเทพฯ-สำนักการระบายน้ำและสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กทม.เฝ้าระวังจุดเสี่ยง เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนลดผลกระทบจากน้ำฝน น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุน

นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังจุดเสี่ยง และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วมว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้เตรียมวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุนสูง โดยจัดประชุมหารือร่วมกับกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงาน กปร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกสัปดาห์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและวางแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์จากการระบายน้ำในเขื่อนและมวลน้ำเหนือที่จะไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ขณะเดียวกัน กทม.ได้ร่วมกับกองทัพภาคที่ 1 จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม จัดรถรับ-ส่งประชาชนกรณีที่มีน้ำท่วมขัง รวมถึงร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ชนิดดีเซลขนาด 14 นิ้ว ตามบ่อสูบ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำ พร้อมทั้งร่วมกับกรมชลประทานกำหนดแผนการควบคุมระดับน้ำตามประตูระบายน้ำและเกณฑ์การระบายน้ำตามสถานีสูบน้ำในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมชลประทานจะช่วยเร่งระบายน้ำจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่กรุงเทพฯ และคลองแนวที่เชื่อมต่อกับคลองชายทะเล ซึ่งใช้สถานีสูบน้ำที่ประจำอยู่ตามคลองชายทะเลสูบน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทย ส่วนพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ จะช่วยสูบน้ำจากคลองต่าง ๆ ทั้งคลองลาดพร้าว คลองเปรมประกร และคลองประปาสายล่าง ด้วยการสูบน้ำข้ามไปลงคลองรังสิต-นครนายก และระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำในคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าว

นอกจากนั้น ยังได้บูรณาการร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณเขตรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมจากการระบายน้ำในเขื่อนและมวลน้ำเหนือที่จะไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้าสู่กรุงเทพฯ โดย กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดอ่อน หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม ตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง สำหรับแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่อาจมีระดับแนวคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือเป็นแนวฟันหลอ ตามท่าขึ้นลงเรือ กทม.จะเข้าไปเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงแนวคันกั้นน้ำและเสริมความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง ส่วนชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วม ขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ และเวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด

นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2565 เพื่อมอบหมายภารกิจให้หน่วยงาน กทม.ที่เกี่ยวข้องรองรับสถานการณ์จากการระบายน้ำในเขื่อนและมวลน้ำเหนือที่จะไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่และยานพาหนะสำหรับให้ความช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสายต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัยได้ทันที ส่วนการฟื้นฟูเยียวยาสงเคราะห์ผู้ประสบภัยภายหลังจากอุทกภัยสิ้นสุดแล้ว จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามข้อบัญญัติ กทม.และระเบียบ กทม.ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 หรือ 1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง