In Bangkok

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน ในคลาสแรก'โรงเรียนอาทิตย์วิทยา'



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต ในคลาสแรกของ “โรงเรียนอาทิตย์วิทยา (Sunday Funday)”

(21 ส.ค. 65) เวลา 09.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรการเสวนาในหัวข้อ “เด็กสร้างฝัน เด็กสร้างเมือง” ในโครงการ “โรงเรียนอาทิตย์วิทยา (Sunday Funday)” โดยร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต การเรียน การทำงานต่าง ๆ ให้คำแนะนำน้อง ๆ ที่ร่วมโครงการ ณ โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ เขตคลองสามวา 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเสวนาว่า นโยบายของกรุงเทพมหานคร คือการศึกษาไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ เราคิดว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะเวลาเรียน จริง ๆ การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งโรงเรียนเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้อยู่แล้ว และโรงเรียนไม่น่าจะจำกัดการเรียนรู้เฉพาะในเวลาวันธรรมดา จึงเป็นแนวคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้มีการขยาย After School หลังเลิกเรียน และวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นไอเดียที่ดีที่ ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกที่ใช้โรงเรียนวันอาทิตย์ 

“การเรียนรู้ไม่ได้มีแค่เรื่องการเปิดพื้นที่ แต่จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องของหลักสูตรและวิธีการเรียนด้วย ซึ่งการเรียนการสอนไม่ได้มีแค่คุณครู แต่ยังมีอาสาสมัคร นักวิชาชีพต่าง ๆ ที่สามารถมาถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้ ดังนั้น การจำกัดแค่วันธรรมดา บางคนก็อาจจะไม่สะดวก แต่ถ้าเป็นช่วงวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ บางคนที่มีความรู้จะสามารถมาเจอนักเรียนได้ด้วย ซึ่งตอนนี้เรามีนโยบาย Open Education เป็นการเปิดการศึกษา เปิดการเรียนรู้ โดยให้ผู้มีความต้องการและความสนใจอยากเข้ามาสอนน้อง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม  โดยในวันเสาร์จะมีโครงการ Saturday School ซึ่งสำนักการศึกษา กทม. ร่วมกับมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School Foundation) และสมาคม Thai Startup ส่วนวันอาทิตย์มีโครงการ Sunday Funday รวมไปถึงโครงการ After School ที่โรงเรียนได้ทำอยู่แล้ว เป็นการเรียนรู้นอกเหนือจากหลักสูตรการศึกษา เช่น มีคนญี่ปุ่นมาสอนภาษาญี่ปุ่น มีเชฟมาสอนทำอาหาร มีเกษตรกรมาสอนทำการเกษตร เป็นต้น การเรียนรู้ในลักษณะนี้จึงต้องอาศัยเวลาในช่วงวันหยุด และน้อง ๆ ก็มาด้วยความสนใจ มาเพราะต้องการอยากรู้จริง ๆ ไม่ได้มาเพราะถูกบังคับ พอความสนใจของน้องและความต้องการสอนของอาสาสมัครมาเจอกัน จึงเกิดเป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว

● อะไรคือสิ่งสำคัญของโรงเรียนที่ต้องการมีกิจกรรมแบบนี้

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จริง ๆ แล้วครูสำคัญที่สุด แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนจะเป็นคนกำหนดนโยบาย และให้ทรัพยากรต่าง ๆ กับโรงเรียน ซึ่งเชื่อว่าโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการที่เอาจริงเอาจัง ส่งทรัพยากรต่าง ๆ ที่ กทม. สนับสนุนมาให้เกิดขึ้นในโรงเรียนให้ได้ คิดว่ามันจะเปลี่ยนได้ ดังนั้น ความสำคัญของโรงเรียนคือผู้อำนวยการโรงเรียน 

● โรงเรียนในฝันในความคิดของรองผู้ว่าฯ ศานนท์ เป็นแบบไหน

“ผมคิดว่าโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับชุมชน นักเรียน คุณครู และบุคลากรในโรงเรียนทุกคน ซึ่งโรงเรียนที่ปลอดภัยจะทำให้นักเรียนอยากเรียนรู้ พอนักเรียนอยากเรียนรู้ เขาก็จะได้มีผลการเรียนที่ดีเอง จะเกิดการศึกษาที่ดีเอง โรงเรียนในฝันจะต้องเป็นโรงเรียนที่ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน มีความสุขในการมาโรงเรียน เปิดพื้นที่เสาร์-อาทิตย์ให้เรียนรู้ คุณครูมีสวัสดิการที่ดี คุณครูมีความรู้สึกอยากสอน ผู้บริหารโรงเรียนรู้สึกอยากทำเต็มที่ โรงเรียนที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่โรงเรียนอันดับ 1 แต่คือโรงเรียนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมได้ เป็นที่พึ่งของชุมชน เป็นที่พึ่งของครอบครัว” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ตอบคำถามสุดท้าย

● โรงเรียนอาทิตย์วิทยา (Sunday Funday) คืออะไร

โครงการ “โรงเรียนอาทิตย์วิทยา (Sunday Funday)” เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการ Saturday School ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ 216+ นโยบายของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ นโยบายเปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน และนโยบายสร้างเครือข่ายร่วมกับภาคเอกชน โครงการพี่สอนน้องนอกเวลาเรียน ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาของระบบการศึกษาปัจจุบันที่เด็กส่วนใหญ่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอว่าชอบวิชาชีพด้านไหน เพราะขาดหลักสูตรที่ส่งเสริมให้เด็ก ๆ ค้นหาตัวตนที่ใช่ และการเรียนการสอนส่วนใหญ่จะเป็นการท่องจำ ซึ่งจะทำให้เด็กไทยตามหาความฝันตัวเองยังไม่เจอ

โครงการนี้เป็นโครงการที่กรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โครงการอาสาคืนถิ่น และสมาคมเครือข่ายเพื่อความยั่งยืน ที่ให้การสนับสนุนค่าอาหารกลางวันให้พี่อาสาและน้อง ๆ รวมไปถึงค่าอุปกรณ์ในการจัดทำกิจกรรม โดยเริ่มนำร่องในโรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ เขตคลองสามวา ซึ่งก่อนการเริ่มกิจกรรมนี้ ทีมอาสาสมัครได้มีการเข้ามาพูดคุยกับน้อง ๆ นักเรียนว่ามีความต้องการเรียนรู้ในด้านใดบ้าง จากนั้นจึงได้ประมวลออกมาเป็น 8 วิชานอกเส้น ผู้สอนคืออาสาสมัครกว่า 30 คน ใน 8 สายอาชีพ โดยโครงการมีระยะเวลา 8 สัปดาห์ เริ่มวันแรกในวันที่ 21 ส.ค. 65 ซึ่งน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการเป็นน้อง ๆ ระดับมัธยมต้น (ม.1-3) จำนวน 40 คน ที่สมัครร่วมโครงการตามความสนใจและความสมัครใจของตนเอง 

สำหรับ 8 วิชานอกเส้น ประกอบด้วย วิชาเปิดประตูสู่ธรรมชาติ วิชาคิด เล่น เป็นนวัตกร วิชาทักษะการเอาตัวรอดเบื้องต้น (Basic Survival Skills) วิชาปฐมพยาบาลเบื้องต้น (Basic First Aid) วิชา 5 4 3 2 Action วิชาพลเมืองโลก (Global Citizen) วิชาเกมการเงินเปลี่ยนชีวิต และวิชาคนหัวศิลป์ ซึ่งจะมีทั้งรุ่นพี่วิศวกร เกษตรกร พยาบาล ดีไซน์เนอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ นักการเงิน นักบัญชี นักกฎหมาย รวมไปถึงทีมกู้ภัยและทีมฝึกสุนัข ที่จะหมุนเวียนมาเปิดโลกอาชีพให้กับน้อง ๆ ตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ น้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการจะได้ฝึก Soft Skill ต่าง ๆ เรียนรู้ทักษะชีวิต รวมทั้งกิจกรรมเสริมทักษะอื่น ๆ ที่ช่วยให้เด็ก ๆ ค้นหาตัวเองได้เร็วยิ่งขึ้น

• วิชาเปิดประตูสู่ธรรมชาติ

เป็นวิชาที่พาทุกคนเข้าใจโลกใบใหญ่ ไขข้อสงสัยของระบบนิเวศ ผ่านการปลูกผักในพื้นที่เล็ก ๆ ไปสำรวจดูว่าสิ่งมีชีวิตพึ่งพากันได้อย่างไร พร้อมลงมือปฏิบัติและทำความเข้าใจว่า ดินแบบไหนต้นไม้เติบโต ปุ๋ยแบบไหนต้นไม้งอกงาม ปลูกอย่างไรให้ยั่งยืน เป็นต้น  ซึ่งวันแรกนี้ น้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ในวิชาเปิดประตูสู่ธรรมชาติ

• วิชาคิด เล่น เป็นนวัตกร

วิชานี้ พี่ ๆ วิศวกรจะชวนน้อง ๆ มาทดลอง เล่น และประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรมแบบง่าย ๆ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการทำเกษตร เช่น ตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติ ตรวจจับแสงและอุณหภูมิ รวมไปถึงลองประกอบรถของเล่นบังคับผ่านมือถือ และแนวคิดอื่น ๆ อีกมากมายที่จุดประกายให้น้อง ๆ เปลี่ยนจาก “ผู้ใช้” กลายเป็น “ผู้สร้าง” นวัตกรรมด้วยตัวเอง

• วิชาทักษะการเอาตัวรอดเบื้องต้น (Basic Survival Skills)

สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ วิชานี้จะจุดประกายนักเอาตัวรอดในตัวน้อง ๆ เป็นวิชาเอาตัวรอดขั้นพื้นฐานที่ทุกคนไม่ว่าใครก็ควรต้องมี น้อง ๆ จะได้เรียนรู้ป้ายสัญลักษณ์ความปลอดภัย การเอาตัวรอดจากเหตุไฟไหม้ สัตว์มีพิษ การช่วยเหลือเมื่อพบเจอคนตกน้ำ และการเรียนรู้จากสัญชาตญาณสิ่งมีชีวิต

• วิชาปฐมพยาบาลเบื้องต้น (Basic First Aid)

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นเรื่องสำคัญที่น้อง ๆ สามารถเรียนรู้ทักษะในการดูแลตัวเองหรือผู้อื่นเมื่อเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บได้ในวิชานี้ อาทิ เมื่อเจอเหตุการณ์คนเป็นลม น้อง ๆ จะต้องทำอย่างไร หากพบว่าคนเป็นลม “ไม่หายใจ” น้อง ๆ ต้องทำอย่างไรต่อ

• วิชา 5 4 3 2 Action 

เราจะยกสตูดิโอกองถ่ายไปไว้ในรั้วโรงเรียน ให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง เปิดโลกอาชีพในกองถ่ายหนังหลากหลายอาชีพ ฝึกฝนเป็นช่างภาพ พิธีกร ครีเอทีฟ และตัดต่อ จากพี่ ๆ ทีมงานมืออาชีพ พร้อม Workshop “ทำ TikTok อย่างไรให้ปังและสร้างสรรค์” ซึ่งรับรองเลยว่าวิชานี้ทั้งสนุก ทั้งเข้มข้น เพื่อปลุกพลังและทักษะนักสื่อสารในตัวน้อง ๆ ออกมาอย่างไร้ขีดจำกัด

• วิชาพลเมืองโลก (Global Citizen)

พาน้อง ๆ มาร่วมสร้างเมืองในฝันที่อยากอยู่ เจาะใจกฎหมายควรรู้ กิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย ครบเครื่องเรื่องต่างประเทศ รวมไปถึงชี้แนะเส้นทางอาชีพสายสังคมศาสตร์

• วิชาเกมการเงินเปลี่ยนชีวิต

เกมการเงินแสนสนุก ที่จะพาน้อง ๆ ไปบุกเส้นทางการทำบันทึกรับจ่าย วิธีปลดล็อกหนี้ การลงทุนในหุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจการเงินรอบตัว ซึ่งเกมนี้จะเปลี่ยนมุมมองการใช้เงินของน้อง ๆ และนำพาชีวิตไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้

• วิชาคนหัวศิลป์

หนทางสู่การเรียนรู้สายงานศิลปะ ไม่ว่าจะวาด จะร้อง จะเล่น หรือจะเน้นการแสดง ที่จะมาสร้างความสนุก ปลุกความสามารถด้านศิลปะในตัวน้อง ๆ ทุกคน