In Bangkok

'จักกพันธุ์'ลงสำรวจพื้นที่เขตสะพานสูง ดูจุดปลูกต้นไม้-ส่งเสริมชุมชนคัดแยกขยะ



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงสำรวจพื้นที่ปลูกต้นไม้ ปรับปรุงสวนสุขภาพ ส่งเสริมชุมชนคัดแยกขยะ แก้จุดเสี่ยงอุบัติเหตุทางโค้งย่านสะพานสูง 

(26 ก.ย.65) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสะพานสูง จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 การปลูกต้นไม้ ถนนกรุงเทพกรีฑา ลำรางหน้า บจก.หน้าบริษัท จระเข้ คอร์เปอเรชั่น ซอยกรุงเทพกรีฑา 18 จุดที่ 2 สวนสุขภาพ สวนยูนิลีเวอร์ ซอยนักกีฬาแหลมทอง 3 จุดที่ 3 ชุมชนต้นแบบการแยกขยะ ชุมชนชาอาดะห์ ซอยกรุงเทพกรีทา 26 และจุดที่ 4 จุดเสี่ยงในพื้นที่บริเวณทางโค้งสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม (ตรงข้าม ซ.เคหะร่มเกล้า 45) 

ปลูกต้นทองอุไรดักฝุ่นละออง และต้นพุทธรักษายึดดินแนวตลิ่ง 

ถนนกรุงเทพกรีฑา ช่วงอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขตสะพานสูง เริ่มจากคลองบ้านม้า-ซอยกรุงเทพกรีฑา 13 ถึงซอยกรุงเทพกรีฑา 53-ถนนเลียบมอเตอร์เวย์  ระยะทาง 4.07 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ 2 ฝั่งถนนมีอาคารบ้านเรือนและมีลำรางเป็นช่วงๆ ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งอาจต้องมีการขุดลอกหรือพัฒนาทำความสะอาดเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย จากนั้นจะปลูกต้นไม้พุ่มกลางเป็นระยะห่าง เพื่อให้ง่ายต่อการตัดแต่ง ในระยะที่ 1 จะปลูกต้นทองอุไรเพื่อดักฝุ่นละออง ซึ่งมีดอกสวยงามตลอดปี และต้นพุทธรักษาเพื่อช่วยยึดดินแนวตลิ่งไม่ให้ทรุดหรือไหลลงลำราง เริ่มตั้งแต่ซอยกรุงเทพกรีฑา 31-37 รวม 4 จุด ส่วนระยะต่อไป จะปลูกต้นไม้ในลักษณะเดียวกันเพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ตลอดแนวถนนกรุงเทพกรีฑา 

ปรับปรุงสวนสุขภาพ สวนยูนิลีเวอร์อำนวยความสะดวกประชาชนออกกำลังกาย 

สวนสุขภาพ สวนยูนิลีเวอร์ (สวนเคหะชุมชนหัวหมาก) ตั้งอยู่ซอยนักกีฬาแหลมทอง 3 กรุงเทพมหานครรับโอนจากการเคหะแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2541 พื้นที่รวมประมาณ 10 ไร่ 4 งาน 4.1 ตารางวา ภายในสวนประกอบด้วย สวนพักผ่อนและสนามเด็กเล็ก 1 สนาม ศาลาพักร้อน 2 หลัง สนามบาสเก็ตบอล 2 สนาม สนามเซปักตะกร้อ 2 สนาม สนามเปตอง 2 สนาม และสนามฟุตบอล 5 คน 1 สนาม ผู้เข้าใช้บริการในสวน จะเป็นประชาชนในหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง และชุมชนใกล้เคียง รวมถึงนักเรียนโรงเรียนสมโภชน์กรุงอนุสรณ์ โรงเรียนศรีพฤฒา โรงเรียนสุเหร่าทับช้างคลองบน ส่วนที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซม ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจ ออกแบบและประมาณราคา ได้แก่ ซ่อมเครื่องปั๊มน้ำและเปลี่ยนท่อระบบน้ำประปาภายในทั้งหมด สร้างรั้วด้านหลังสวนสาธารณะ ซึ่งติดกับที่ดินเอกชน ตลอดแนวจากซอยนักกีฬาแหลมทอง 1 ถึงรั้วสนามบาสเก็ตบอล ตรวจซ่อมไฟฟ้าแสงสว่าง และการวางสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งระบบ ปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำภายในสวนสาธารณะที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นห้องน้ำรวม 1 หลัง 2 ห้อง และก่อสร้างเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อประชาชนที่มาใช้บริการในสวน เปลี่ยนอุปกรณ์ออกกำลังกาย และเครื่องเล่นสำหรับเด็กเพื่อให้เกิดความปลอดภัย สร้างป้อมยามหน้าทางเข้าสวน ซ่อมแซมและทาสีศาลาพักผ่อน 2 หลัง ซ่อมผิวทางเดิน-วิ่งออกกำลังกายรอบสวน ปูหญ้าเสริมในส่วนที่ตายหรือส่วนที่ปรับปรุงเพิ่มเติม และสร้างห้องเก็บอุปกรณ์ในการดูแลรักษาความสะอาดสวนสาธารณะ 

ส่งเสริมชุมชนซาอาดะห์ สู่ชุมชนต้นแบบการแยกขยะ 

ชุมชนต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนซาอาดะห์ ตั้งอยู่ซอยกรุงเทพกรีฑา 26 เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีครัวเรือนในชุมชน 95 หลังคาเรือน สำหรับการจัดการขยะในชุมชน เนื่องจากซอยในชุมชนเป็นซอยเล็กและแคบ จึงตั้งจุดพักขยะรวมหน้าชุมชน โดยเขตฯ จัดรถเข้าจัดเก็บทุกวัน คณะกรรมการชุมชนได้รณรงค์ให้สมาชิกในชุมชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกและนำไปขายเป็นรายได้ 2.ขยะอันตราย คัดแยกและนำไปรวมไว้ที่จุดพักขยะ รอรถเขตฯ จัดเก็บ หรือรวบรวมไว้ทิ้งตามแผนการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่และขยะอันตราย 3.ขยะทั่วไป จะเป็นขยะที่เหลือจากการคัดแยกขยะ 2 ประเภท ให้ผูกใส่ถุงแล้วนำไปทิ้งที่จุดพักขยะของชุมชน รอรถเขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอินทรีย์ ส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารจะให้สัตว์เลี้ยงในบ้านและทิ้งเป็นขยะทั่วไป เนื่องจากชุมชนมีขนาดเล็ก จึงไม่มีสถานที่รองรับขยะอินทรีย์ที่จะนำไปหมักปุ๋ยหรือทำน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งก่อนดำเนินการคัดแยกขยะภายในชุมชน มีปริมาณขยะที่ต้องจัดเก็บ 1,200 กิโลกรัมต่อวัน หลังจากดำเนินกิจกรรมดังกล่าว มีปริมาณขยะลดลงเหลือ 700-800 กิโลกรัมต่อวัน นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้และส่งเสริมการคัดแยกขยะ รวมถึงการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ชุมชนซาอาดะห์ เป็นชุมชนที่มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และมีสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 ชุมชนซาอาดะห์ ได้เข้าประกวดชุมชนปลอดขยะของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ผ่านเข้ารอบ เนื่องจากกิจกรรมยังไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ตามชุมชนมีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการส่งเสริมการคัดแยกขยะ ได้แก่ ถังขยะ แยกสีตามประเภทขยะ ตะแกรงชุดแยกขยะรีไซเคิล วัสดุและอุปกรณ์ในการทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ วัสดุและอุปกรณ์ในการทำน้ำหมักชีวภาพ และรถเข็นในการชักลากขยะจากบ้านเรือนไปไว้ที่จุดพักขยะ 

เร่งแก้ไขจุดเสี่ยงภัยทางโค้งหน้าสนง.ที่ดินกรุงเทพมหานคร ถนนเคหะร่มเกล้า 

ถนนเคหะร่มเกล้า เป็นถนนสายรองที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเขตสะพานสูง เริ่มจากถนนราษฎร์พัฒนา (แยกแว๊กซี่) ถึง คลองลาดบัวขาว ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร สืบเนื่องมาจากศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขตสะพานสูง (ศปถ.เขตสะพานสูง) ได้ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการฯ ได้เสนอจุดเสี่ยงภัยทางถนน บริเวณทางโค้งหน้าสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากสถานีตำรวจนครบาลบางชัน ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติการประชุมที่จะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุ ประกอบด้วย กายภาพทางถนนเป็นโค้งหักศอก ผู้ใช้รถใช้ถนนขับขี่ด้วยความเร็ว การจอดรถซื้อของบริเวณที่ห้ามจอดบริเวณทางโค้ง ส่วนสถิติการเกิดอุบัติเหตุ (ข้อมูลจากสถานีตำรวจนครบาลบางชัน) สถิติตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 จำนวน 8 ครั้ง ประเภทการเกิดอุบัติเหตุ เฉี่ยวชน/ประมาท ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ รถหลุดทางโค้ง การเบียด/เฉี่ยวชนบริเวณทางโค้ง แนวทางการปรับปรุงแก้ไข ระยะทาง 620 เมตร แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 (ดำเนินการเดือนกันยายน 2565) เขตฯ ปรับภูมิทัศน์ตัดแต่งตัดกิ่งไม้ที่ยื่นออกมาบนถนน ซ่อมแซมขอบทางเท้าบริเวณทางโค้งฝั่งหน้าสำนักงานที่ดินฯ สำนักการจราจรและขนส่ง ติดตั้งป้ายเตือนทางโค้ง ฝั่งละ 2 ป้าย ทั้ง 2 ฝั่ง ขีดสีตีเส้นขอบทางขาว-แดง สถานีตำรวจนครบาลบางชัน กวดขันวินัยจราจรโดยเฉพาะเรื่องการจอดรถแนวทางโค้งและแนวเส้นจราจร ขาว-แดง ระยะที่ 2 (ดำเนินการปีงบประมาณ 2566) เขตฯ ประสานผู้ประกอบการจัดสถานที่จอดรถให้กับผู้มาซื้อสินค้า สำนักการจราจรและขนส่ง ตีเส้นลดความเร็ว (เส้น optical speed bar OSB) ติดตั้งการ์ดเรล เพื่อกันรถทางโค้ง และป้ายเตือนแนวโค้ง (chevron) 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสุชัย อมรดารารัตน์ ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสะพานสูง ประชาชนในชุมชนซาอาดะห์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล