In Bangkok

กทม.จับมือภาคีเครือข่ายสร้างสรรค์โลก Do it yourself ในวันสิ่งแวดล้อมโลก



กรุงเทพฯ-กทม.จับมือภาคีเครือข่าย ชวนร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อโลก Do it yourself สร้างโลกสวย ด้วยมือเรา ในวันสิ่งแวดล้อมโลก

(5 มิ.ย. 66) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก 2566 (World Environment Day 2023) “Do it yourself สร้างโลกสวย ด้วยมือเรา” โดยมี นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภาคีเครือข่าย สื่อมวลชน และประชาชน ร่วมกิจกรรม ณ สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  เนื่องในวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งแต่ละประเทศได้ดำเนินกิจกรรมสร้างสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันมนุษยชาติผจญกับปัญหาภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น การเกิดโรคระบาดที่สร้างความวิตกกังวลจนทุกประเทศต้องรวมตัวกันหาสาเหตุ ตลอดจนมาตรการป้องกันและแก้ไข ผลสรุปคือมนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดสถานการณ์เหล่านี้จากการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ไม่รักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้สิ่งแวดล้อมขาดความสมดุลจนเกิดความบกพร่องทางระบบนิเวศ วัฏจักรของการดำรงชีวิตพลิกผัน อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากการสร้างก๊าซเรือนกระจกสะสมจนเกิดภาวะโลกร้อน ปัญหาน้ำท่วมขังจากการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเรา จึงเป็นที่มาของการสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีความร่มรื่น สะอาด และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งนี้ หากกรุงเทพมหานครดำเนินงานเพียงลำพังคงบรรลุเป้าหมายได้เพียงระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมหาแนวทางแก้ไข ในการนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมทั้งภาครัฐ เอกชน สำนักงานเขต และชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จัดกิจกรรมเนื่องวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2566 “Do it yourself สร้างโลกสวย ด้วยมือเรา” ในวันนี้ขึ้น เพื่อจุดประกายและปลุกกระแสให้ประชาชนได้ตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาจากพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ รวมถึงเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน 

โอกาสนี้ รองปลัดกรุงเทพมหานครได้รับมอบต้นไม้จากภาคีเครือข่าย ได้แก่ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอแอลเอส แลบอราทอรี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) นิติบุคคลอาคารชุด ดิ เอ็มโพริโอ เพลส โรงเรียนอนุบาลฟ้าใส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) FEED บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากนั้นปลูกต้นไม้ร่วมกัน

รองปลัดฯ ชาตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการลดการใช้พลาสติกของกรุงเทพมหานครภายหลังพิธีเปิดว่า  ปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัดได้มีการแจกถุงผ้าสำหรับใส่ยาแทนการแจกถุงพลาสติก หรือในโรงเรียนสังกัดทั้ง 437 แห่ง ก็งดการแจกถุงนมพลาสติก เป็นการแจกนมกล่อง นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ในเรื่องของการลดการใช้พลาสติก มีการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่ให้การสนับสนุนในเรื่องของการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลใหม่ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของกรุงเทพมหานคร 

สำหรับความคืบหน้านโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาฯ พรพรหม กล่าวเสริมว่า  กรุงเทพมหานครดำเนินการตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น ตอนนี้ปลูกได้เกือบ 4 แสนต้นแล้ว ที่ผ่านมาเน้นที่ไม้พุ่ม/ไม้เถาค่อนข้างเยอะ จากนี้จะมีการเน้นไม้ยืนต้นมากขึ้น เพราะไม้ยืนต้นจะช่วยในเรื่องของการกรองฝุ่นและการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มสวน 15 นาที ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้ใน 15 นาที หรือระยะ 800 เมตร ขณะนี้เพิ่มมาได้เกือบ 30 แห่ง และมีแผนในการขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอีก โดยใช้พื้นที่ของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่ประสงค์จะร่วมมือกัน 

ในเรื่องของการคัดแยกขยะในสวนสาธารณะ แต่ละสวนได้มีถังคัดแยกขยะตั้งไว้ตามปกติอยู่แล้ว ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือเรื่องของจุด Drop off ที่กรุงเทพมหานครร่วมกับหน่วยงานภาคีในการรับขวดพลาสติกเพื่อไปเปลี่ยนเป็นชุดสะท้อนแสงสำหรับพี่ไม้กวาด เพื่อให้ผู้ใช้ถนนสามารถเห็นพนักงานกวาดได้ชัดเจนขึ้น เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่พนักงานกวาดของกรุงเทพมหานครที่ต้องปฏิบัติงานในช่วงเวลาเช้ามืดหรือช่วงเวลากลางคืน โดยนำร่องทำชุดสะท้อนแสงแล้วเกือบ 1,000 ชุด และมีการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เข้าใจว่าขวดพลาสติกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างไร

ด้านนโยบายในระยะยาว กรุงเทพมหานครมีแผนลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 19% ภายในปี 2030 โดยมี Master Plan (แผนแม่บท) 4 เรื่องหลัก ได้แก่ พื้นที่สีเขียว การจัดการขยะ/น้ำเสีย การจราจรและขนส่ง และเรื่องของพลังงาน แต่ละเรื่องก็จะมี Action Plan (แผนปฏิบัติการ) ที่ชัดเจน ซึ่งจะมีนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่สอดคล้องกันแทรกอยู่ อาทิ เรื่องการขนส่งก็จะมีระบบ Feeder เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงรถไฟฟ้าได้สะดวกขึ้น เช่น รถ EV การพัฒนาทางเท้า/ทางจักรยาน เป็นต้น

“ในส่วนของการดำเนินนโยบายด้านการแยกขยะ สามารถลดปริมาณขยะได้ดังนี้ ก่อนหน้านี้มีปริมาณขยะทั่วไป 8,880 ตัน/วัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลงไปวันละ 200 ตัน เหลือ 8,680 ตัน/วัน ในเดือนเมษายน 2566 ลดลงไปเกือบ 300 ตัน/วัน ซึ่งทำให้กรุงเทพมหานครสามารถประหยัดค่าจัดการขยะลงไปได้มาก” ที่ปรึกษาฯ พรพรหม กล่าว