In Bangkok

'ชัชชาติ-ก้าวไกล'ตั้งกก.ขับเคลื่อนกทม. ชง21ข้อเสนอร่วมแก้แบบไร้รอยต่อ



กรุงเทพฯ-กรุงเทพมหานครเปิดถกผู้บริหารพรรคและ32ว่าที่ส.ส.กรุงเทพฯของพรรคก้าวไกล พร้อมข้อเสนอแนะ 21 ข้อ ที่กรุงเทพมหานครหารือความร่วมมือในที่ประชุมร่วมกับพรรคก้าวไกล ในวันนี้ ประกอบด้วย

(6 มิ.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ว่า วันนี้ทางกรุงเทพมหานครให้การต้อนรับคุณพิธา และว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล จำนวน 32 ท่าน นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี จริงๆแล้วการขับเคลื่อนหลายๆอย่างไปข้างหน้า ต้องใช้ความร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญ การได้มาพบปะหารือกันทำให้มีความเข้าใจร่วมกัน จากนั้นจะสามารถเดินร่วมกันได้ไม่ว่าจะในบทบาทอะไรก็ตาม ขอบคุณทางคุณพิธาที่ให้ความคิดเห็นดีๆหลายๆอย่าง และจากการลงพื้นที่ของทีมงานว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครก็จะมี feedback จากประชาชนหลายด้าน การเห็นถึงปัญหา การทำให้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในหน่วยงานเข้มแข็ง จะทำให้เราสามารถหาคำตอบที่ดีสำหรับเมืองได้ เชื่อว่าวันนี้ก็เป็นก้าวแรกของการเดินทางไกล เพื่อให้ถึงจุดหมายเดียวกันของกทม.และพรรคก้าวไกล ซึ่งก็คือการทำประโยชน์ให้กับประชาชนสูงสุด 

*ตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านระหว่างกรุงเทพมหานครกับพรรคก้าวไกล สร้างการทำงานแบบไร้รอยต่อ 

นายพิธา กล่าวว่า การจะก้าวให้ไกลต้องก้าวด้วยกัน เป็นสิ่งหนึ่งที่ทางพรรคก้าวไกลคิดมาโดยตลอดในการทำงานอย่างไร้รอยต่อ ปัญหาหลายๆเรื่องในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเก่าที่มีมานานหรือปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่ระดับรัฐบาล ระดับนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สภากรุงเทพมหานคร ทั้งข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณ กฎหมาย หรือแม้แต่การประสานงานกัน ก็สามารถที่จะทำให้กรุงเทพมหานครทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น วันนี้ได้มารับข้อเสนอจากผู้ว่าฯ ทั้งหมด 21 ข้อ ซึ่งท่านทำคนเดียวไม่ได้ ท่านต้องประสานงานกับเรา เพื่อที่จะให้เราไม่ว่าจะเป็นส.ส. 32 คน ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ดี หรือว่าที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ก็ดี ในการผ่านกฎหมายให้ท่านผู้ว่าฯ ทำงานได้ ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ก็จะมาจากการเดินทางของรถยนต์ ถ้าเป็นรถขนาดต่ำกว่า 4 ล้อ กรุงเทพมหานครมีอำนาจในการตรวจ แต่หากขนาดมากกว่า 4 ล้อ จะเป็นอำนาจของหน่วยงานอื่น เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นการทำงานแบบไร้รอยต่อ หรือที่เรียกว่า Seamless Bangkok ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้ ประเด็นที่ 2 ซึ่งเสนอผู้ว่าฯกทม.ไป คือ กฎหมาย 45 ฉบับ ที่พรรคก้าวไกลต้องการจะนำเสนอ และเป็นกฎหมายที่มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ที่กรุงเทพมหานครนั่นคือการเสนอพระราชบัญญัติกรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต ประเด็นที่ 3 คือการตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในการทำงานระหว่างกรุงเทพมหานครกับพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลได้นำเสนอคุณพิจารณ์ รองหัวหน้าพรรคเป็นประธานทางฝั่งของพรรคก้าวไกล และคณะกรรมการซึ่งมาจากฝั่งของพรรคก้าวไกล ในส่วนของกรุงเทพมหานครท่านผู้ว่าฯ มอบให้ท่านประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายต่อศักดิ์ โชติมงคล) เป็นประธานฝั่งกทม. รวมถึงคณะกรรมการท่านอื่นในฝั่งของกทม. เพื่อให้เป็นการทำงานแบบไร้รอยต่ออย่างเป็นรูปธรรม การประชุมวันนี้ไม่ใช่เป็นแค่การประชุมเสร็จแล้วก็เลิกกันไป แต่จะกำหนดประเด็นพิจารณาและจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3  เพื่อประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพของพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครทุกคน 

นายพิธา กล่าวต่อไปว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของกรุงเทพมหานครทั้ง 21 ข้อ จริงๆแล้ว ก็ตรงกับนโยบาย 300 นโยบาย และกฎหมาย 45 ข้อ ที่ได้เตรียมเอาไว้ ซึ่งต่อไปคงเป็นเรื่องของการเรียงลำดับความสำคัญในการที่จะปฏิบัติ ตอนนี้ได้ให้ประธานทั้ง 2 ฝั่ง ไปกำหนดหารือเป็นเรื่องๆ ไป รวมถึงจะเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีความรู้ในแต่ละเรื่องเข้ามาร่วมพูดคุย และแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานกัน  ทั้งนี้ จากการหารือกับผู้ว่าฯ เรื่องที่ 1 คือ การบริหารน้ำท่วม และการป้องกันน้ำทะเลหนุน เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของคมนาคม ปัญหารถติด การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไข การให้ระบบ Feeder เพื่อให้การเดินทางไร้รอยต่อ ลดการใช้พาหนะส่วนบุคคล เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับฝุ่นPM 2.5 ซึ่งการทำงานเป็นเชิงมหภาค บางเรื่องเป็นระดับภูมิภาค และบางเรื่องเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ทั้ง 3 เรื่องนี้ ทำให้ต้องมีกฎหมายควบคุม อาทิ พ.ร.บ.อากาศสะอาด รวมถึงการทำงานของกระทรวงต่างประเทศ การทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงเรื่องของการประสานงานกันภายในพื้นที่ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกรุงเทพมหานคร 

นายพิธา กล่าวอีกว่า มีความตั้งใจที่จะเอาเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาการเดินทางที่ยังคงมีรอยต่อ ทั้งการใช้ตั๋วโดยสารร่วมใบเดียวที่มีราคาย่อมเยา การมีรถเมล์ไฟฟ้า ที่ส.ก.พรรคก้าวไกลได้เสนอเป็นข้อบัญญัติ ซึ่งหากทำได้ จะได้ประโยชน์ทั้งการจราจรและลดการใช้พลังงานที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ในส่วนของการทำ Sandbox เรื่องนี้ในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำในจังหวัดปริมณฑล นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพื่อเป็นแนวร่วมด้วย 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีตั๋วโดยสารร่วมในปัจจุบันทำได้ไม่ยาก สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ราคาทั้งหมดถูกที่สุดสำหรับประชาชน นี่คือโจทย์ที่ท้าทายมากกว่า ซึ่งกทม.ทำเองไม่ได้ เพราะโครงสร้างราคารวมหมายถึงรถเมล์ และเรือด้วย 

สำหรับข้อเสนอแนะ 21 ข้อ ที่กรุงเทพมหานครหารือความร่วมมือในที่ประชุมร่วมกับพรรคก้าวไกล ในวันนี้ ประกอบด้วย
1.การใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชน
2.ร่วมผลักดันโครงการตามวาระแห่งชาติ เรื่องฝุ่น PM2.5
3.ทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
4.ร่วมมือกับรัฐในการแก้ไขปัญหาจราจร
5.ศึกษาแผนระยะยาวในการป้องกันน้ำทะเลขึ้นสูง เนื่องจากสภาวะโลกร้อน
6.หาแนวทางในการจัดสรรงบประมาณให้สะท้อนกับความเป็นจริง
7.นำสายสื่อสารลงดิน โดย กสทช. กทม. กฟน. และผู้ประกอบการ
8.หาข้อสรุปร่วมกันสำหรับโครงการรถไฟฟ้า
9.สนับสนุนการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ค่าโดยสารร่วม รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ ให้เป็นระบบเดียว
10.ร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง
11.พัฒนา Open Bangkok โดยการสนับสนุนข้อมูลจากรัฐ
12.ส่งเสริมการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเมือง
13.ปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
14.แก้พรบ. กทม.ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
15.เร่งรัดโครงการค้างอยู่ที่ต้องอาศัยเงินจากรัฐบาล
16.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว
17.ส่งเสริมกลไกระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายโรงพยาบาล Bangkok Health Zones
18.ยกระดับระบบการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และการบริหารเรื่องฉุกเฉินตั้งแต่การเผชิญเหตุไปจนถึงการชดเชยค่าเสียหาย 
19.ทบทวนอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการจัดการบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะงานด้านสาธารณสุขและสาธารณภัย
20.ทบทวนแนวทางการจัดทำความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องของเมืองให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น
21.ยกระดับการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป