In Bangkok

กทม.รวมพลังเครือข่ายขยายผลบริการ ด้านสาธารณสุขลดความเหลื่อมล้ำ



กรุงเทพฯ-(7 มิ.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงวิชาการ Bangkok health zoning ครั้งที่ 2 และร่วมรับฟังการเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็น “กรุงเทพมหานคร: ระบบสุขภาพที่ดี ไม่มีทางทำคนเดียว” ณ ห้องประชุมปรินซ์ บอลรูม ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญของกรุงเทพมหานคร เราเน้นย้ำเรื่องสาธารณสุขและการศึกษาที่เป็นหัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาด้านสาธารณสุขของกทม. คือมีหลายหน่วยงานที่มีการให้บริการทางสาธารณสุข และมีเตียงเพียง 13% ของเตียงทั้งหมดที่เหลือเป็นของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชน ย้อนไปในช่วงต้นโควิด-19 จะเห็นว่ามีปัญหาในเรื่องการประสานงาน เพราะฉะนั้นจึงมีแนวคิดแบ่งกรุงเทพออกเป็น 7 โซน แต่ละโซนมีเครือข่ายระดับชุมชน อสส. ชุมชน คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข ไปจนถึงระดับโรงพยาบาลที่ให้บริการเฉพาะทาง หากเราสามารถประสานงานกับเครือข่ายเหล่านี้ได้และมีความเข้มแข็ง รวมถึงสร้างความไว้วางใจให้กับแต่ละหน่วยย่อยก็จะทำให้การบริการไร้รอยต่อมากขึ้น แต่เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสุดท้ายแล้วกทม. ก็ดูแลได้เพียงหน่วยงานในสังกัด ส่วนหน่วยงานเครือข่ายอื่นๆ ต้องอาศัยความร่วมมือกัน จึงได้เน้นย้ำว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า หากเราทำระบบสาธารณสุขของเราให้เข้มแข็ง จะช่วยลดจำนวนคนไข้ที่ไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ให้น้อยลง นั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารให้มีความเชื่อมโยงกัน อีกหนึ่งอย่างที่จะช่วยได้มากคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นการใช้ระบบ Telemedicine ปัจจุบันเราได้มีการเริ่มใช้งานแล้ว จุดแข็งใน 1 ปีที่ผ่านมาคือเราเริ่มทำ Sandbox ก่อนที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และดุสิตโมเดล และนำมาขยายผลทำเป็น Bangkok Health Zoning ทำให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมและให้ตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น อีกทั้งยังมีรถ Motorlance ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เร็วขึ้น และการขยายเตียงโดยการนำเตียงผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข ทั้งหมดนี้เชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว และในปีที่ 2 นี้มีนโยบายอีก 24 นโยบายที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขนั้นเข้มแข็งขึ้น     

สำหรับเรื่อง Motorlance (รถจักรยานยนต์ฉุกเฉินทางการแพทย์) นั้นถือว่าเป็นโครงการที่ดี เนื่องจาก 8 นาทีทองนั้นสำคัญมากนั่นคือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเราสามารถไปถึงผู้ป่วยได้ภายใน 8 นาทีก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ซึ่งอุปกรณ์ภายในรถจักรยานยนต์ฉุกเฉินจะมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตฉุกเฉิน ขณะนี้เรามี 50 คันกระจายไป 50 เขต โดยทั้ง 50 คันนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณหลวงแต่มีผู้บริจาคให้ ต่อไปในอนาคตอาจขยายผลเป็น 200 – 300 คัน

“เรามีหน้าที่ทำให้ประชาชนไว้ใจเราทำให้ประชาชนไว้ใจในศูนย์บริการสาธารณสุข ได้รับบริการที่ดีขึ้นให้ประชาชนหันมาใช้บริการหน่วยย่อยใกล้บ้านมากกว่าไปโรงพยาบาลใหญ่ เชื่อว่าในอนาคตทั้งระบบสาธารณสุขจะดีขึ้นได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวในช่วงท้าย

การดูแลสุขภาพแบบนำร่องโดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานเขตพื้นที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถานพยาบาลเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในรูปแบบ Sandbox โดยมีโรงพยาบาลเป็น System manager ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็น Area manager เป็นระยะเวลา 8 เดือน ผลการดำเนินงานที่ผ่าน ตอบสนองความต้องการของภาคประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเส้นเลือดฝอย ตั้งแต่ระบบบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และการดูแลต่อเนื่อง ได้แก่ ดุสิต Model, ราชพิพัฒน์ Model รวมถึงการขยายผลไปในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 กลุ่มเขต ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ Sandbox กรุงเทพมหานคร เดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้เกิดการดำเนินงานในเขตพื้นที่กรุงเทพตะวันออก กรุงเทพกลาง กรุงเทพเหนือ เป็นต้น ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่อย่างไรก็ตามยังขาดกระบวนการด้านการประชาสัมพันธ์ ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพียงบางกลุ่ม บุคลากร หน่วยงานด้านสาธารณสุขยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และการเชื่อมโยงระบบ หลายเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานครยังขาดแคลนสถานบริการด้านสาธารณสุข ขาดการบูรณาการร่วมกัน  ดังนั้นการดำเนินการด้านการขยาย Health Zoning จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันและพัฒนาระบบบริการอย่างมีมาตรฐานร่วมกัน ได้แก่ บทบาทของโรงพยาบาลแม่ข่าย ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ และเกิดการพัฒนางานอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้การประชุมเชิงวิชาการ Bangkok health zoning จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2566 เพื่อการขยายผลบริการด้านสาธารณสุข พัฒนารูปแบบบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคีเครือข่าย ทั่วทุกเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร