Think In Truth

เรื่องที่5การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี : 7ข้อเท็จจริงหลังกำแพงที่อยากให้สังคมรับรู้



กรมราชทัณฑ์ มีภารกิจหลักในการควบคุมผู้ต้องขังภายในเรือนจำ โดยบุคคลที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำนี้จะถูกเรียกรวมกันว่า “ผู้ต้องขัง” ซึ่งความจริงแล้วคำว่า “ผู้ต้องขัง” นี้ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ได้นิยามไว้ว่าหมายความว่า นักโทษเด็ดขาด คนต้องขัง และคนฝาก ส่วนในการแบ่งประเภทของผู้ต้องขังที่เป็นที่นิยมกันในทางวิชาการนั้นจะแบ่งตามกระบวนการดำเนินคดีอาญา ได้แก่ ผู้ที่ศาลยังไม่มีคำพากษาเด็ดขาด เรียกว่า  “คนต้องขัง” ที่กฎหมายและสิทธิมนุษยชนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และจะปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ ได้กำหนดไว้ใน มาตรา ๒๙ บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลา ที่กระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ใน กฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิดมิได้ ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้ การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทําได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้ คําขอประกันผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกัน จนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ  

ส่วนนักโทษเด็ดขาด ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่ามีความผิดและต้องรับโทษจำคุก เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยกลับสู่สังคมต่อไป ดังนั้น เราจะเห็นถึงความมุ่งหมายของรัฐที่อยู่ภายใต้หลักนิติธรรม
ว่าจะต้องกำหนดวิธีปฏิบัติต่อบุคคลทั้งสองประเภทนี้ให้แตกต่างกัน แม้ว่าจะเข้ามาในเรือนจำด้วยคำสั่งของศาลเหมือนกันก็ตามและโดยที่การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีนั้นถือเป็นหลักการสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ เครื่องมือทางกฎหมายจึงมีมากกว่าการขังไว้ในเรือนจำเพียงอย่างเดียว

ในปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ มีการควบคุมผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีภายในเรือนจำ๑๓๖ แห่ง (ไม่นับรวมสถานกักขัง สถานกักกัน และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์) จำนวน ๕๑,๑๖๘ คน แบ่งเป็น เพศชาย จำนวน ๔๔,๘๐๕ คน เพศหญิง จำนวน ๖,๓๖๓ คน (ข้อมูล ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๖) แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะตระหนักดีว่าตามเจตนารมย์ของกฎหมาย บุคคลเหล่านี้ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธ์ ที่จะต้องมีการปฏิบัติที่แตกต่างจากผู้ต้องขังเด็ดขาดซึ่งเป็นผู้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ภายในของเรือนจำ ซึ่งเรือนจำส่วนใหญ่มีพื้นที่ขนาดเล็ก ทำให้ไม่สามารถแยกพื้นที่ในการปฏิบัติของผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีและผู้ต้องขังเด็ดขาดได้อย่างชัดเจน

ในการนี้ เพื่อให้มีการดำเนินการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีขึ้นในกรมราชทัณฑ์ ให้มีความเป็นมาตรการและแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจน กรมราชทัณฑ์จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี (SOPs) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการแก่เรือนจำ/ทัณฑสถาน โดยได้กำหนดให้มีการแยกพื้นที่ในการคุมขังให้ชัดเจน การแต่งกายที่แตกต่างกัน โดยผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีน้ำตาล หรือสีลูกวัว สำหรับทรงผมนั้น ผู้ชายจะไว้ผมรองทรงสูง ส่วนผู้หญิง สามารถไว้ผมยาวประบ่าได้ แต่ต้องมัดรวบให้เรียบร้อย

อนึ่ง แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะมีแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีที่ชัดเจนแล้ว แต่กรมราชทัณฑ์จะดำเนินการยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย  และเป็นไปตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง)ซึ่งมีแนวทางในการยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี โดยแบ่งได้ 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ ๑ การดำเนินการยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังภายในกรมราชทัณฑ์ ซึ่งคณะกรรมการราชทัณฑ์ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการใน 3 แนวทาง ดังนี้

แนวทางที่ ๑ การกำหนดพื้นที่ตามลักษณะทางกายภาพของเรือนจำที่จะใช้คุมขัง ประกอบด้วย

          (๑) กำหนดเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) ในจังหวัดที่มีกลุ่มเรือนจำตั้งอยู่ จำนวน ๘ จังหวัด

          (๒) ดำเนินการการขยายกำแพง เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการควบคุมผู้ต้องขังและเพิ่มพื้นที่ในการแยกขังให้ชัดเจนมากขึ้น จำนวน ๔ แห่ง

          (๓) การก่อสร้างเรือนจำใหม่ เพื่อทดแทนเรือนจำเดิมที่มีขนาดเล็ก ซึ่งการสร้างเรือนจำใหม่ จะสามารถแยกการคุมขังได้อย่างชัดเจน

แนวทางที่ ๒ การปรับปรุงแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้มีความเหมาะสมมากขึ้น  เช่น การแต่งกาย การตัดผม และการใช้เงิน เป็นต้น

แนวทางที่ ๓ ดำเนินการศึกษาวิจัย “โครงการทดลองนำร่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี : กรณีศึกษาเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว” สังกัดเรือนจำกลางระยอง จังหวัดระยองในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๗ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สถานที่ของเรือนจำชั่วคราวในการคุมขังผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ทั้งนี้ จะมีการศึกษาวิจัยที่ครอบคลุมในประเด็นเรื่อง การแต่งกายอาจพิจารณาใช้ใส่เครื่องแต่งกายของตนเอง การสั่งอาหารจากร้านค้าภายนอกเรือนจำ การไว้ทรงผมได้ตามปกติ โดยไม่ต้องตัดผมสั้น และการใช้จ่ายเงินต่อวัน เป็นต้น

 ส่วนที่ ๒ การขอให้ศาลสั่งให้ขังในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐในการเบี่ยงเบนจำเลยออกจากระบบเรือนจำ โดยผู้มีอำนาจร้องขอต่อศาล ได้แก่ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้มีอำนาจจัดการตามหมายขัง โดยศาลจะสั่งให้จำเลยอยู่ในความควบคุมของผู้ร้องขอแทนการขังในเรือนจำหรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศสถานที่คุมขังเพื่อให้ศาลมีคำสั่งตามกฎหมายนี้

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว ออกกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 ซึ่งปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้มีการประกาศกำหนดสถานที่อื่นเป็นสถานที่คุมขังแต่อย่างใด แต่ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งที่ 74/2566 ลงวันที่ 4 เมษายน 2566 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ไข ปรับปรุง กฎกระทรวงสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 โดยมีสำนักงานกิจการยุติธรรมได้รับมอบหมายในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งหากมีการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจน จะเป็นประโยชน์ต่อกรมราชทัณฑ์ในการใช้พื้นที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำสำหรับการควบคุมผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีต่อไป อันจะเป็นประโยชน์ในการแยกพื้นที่และวิธีการปฏิบัติให้มีความเหมาะสม ตรงตามหลักกฎหมาย รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชน  

อนึ่ง กรมราชทัณฑ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติต่อผู้ที่กฎหมายถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ให้ได้รับสิทธิ ประโยชน์ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งยังเป็นการยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้มีประสิทธิภาพต่อไป