Think In Truth

วิกฤติแรงงานไทยในอิสราเอล'ยอมตาย... แต่ไม่ยอมอด' โดย ... พินิจ จันทร



ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมากหลายล้านคนจากตัวเลข ณ เดือนมีนาคม 2566 มีคนต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2.7 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจาก สปป.ลาว กัมพูชาและพม่า

แต่ทั้งนี้ หากแต่อีกด้านหนึ่งยังมีคนไทยจำนวนนับแสนคนต้องดิ้นรนไปเสี่ยงภัยกับความตายที่อิสราเอลเพื่อแลกกับค่าจ้างจำนวนหลายหมื่นบาทตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้

หลังจากกลุ่มฮามาสบุกเข้าโจมตี เมื่อเช้าวันที่7ตุลาคม2566 นอกจากได้สร้างความสั่นสะท้านไปทั้งโลกแล้ว ทางด้านแรงงานไทยต่างมีความเป็นอยู่ขั้นวิกฤติตามรายงานกระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอลราว 29,990คน ในจำนวนนี้มีแรงงานไทย ราว 5,000 คน ที่อยู่ในพื้นที่สีแดงถูกจับเป็นตัวประกัน 22 คน ได้รับบาดเจ็บเกือบ 20 คนและมีแรงงานไทยที่มียอดตัวเลขการเสียชีวิตสูงสุดกว่า30คนคือ มากกว่าประเทศต่างๆที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลอีกทั้งยังถูกจับไปเป็นตัวประกันกว่า 20 คน

นอกจากนี้แล้วกระทรวงแรงงานยังคาดว่ามีแรงงานไทยราว 7,000 คนที่อาจทำงานอย่างผิดกฎหมายในอิสราเอลซึ่งสร้างความกังวลถึงความปลอดภัยของแรงงานกลุ่มนี้ที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลการสูญหายของนายจ้าง

อิสราเอลมีความต้องการแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมากแต่รัฐบาลอิสราเอลอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติใน 4 สาขาอาชีพเท่านั้นคือการเกษตร  ก่อสร้าง  พ่อครัวในร้านอาหาร  การดูแลคนชรา/พิการ/ป่วย  และมีการกำหนดโควต้าการนำเข้าทุกปีควบคู่ไปกับนโยบาย

ทั้งนี้โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่แสดงว่าความต้องการแรงงานไทยจะไม่ลดลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะภาคเกษตรซึ่งแรงงานไทยยึดครองตำแหน่งงานมากที่สุด เนื่องจากในหลายปีที่ผ่านมา  รัฐบาลอิสราเอลได้รักษาโควต้าปีละ 26,000 คน  และในปี 2550 ได้เพิ่มโควต้าอีก 3,000 คน  เพื่อตอบสนองความต้องการของนายจ้างซึ่งส่วนใหญ่ต้องการจ้างจากประเทศไทย เพราะนายจ้างมีความคุ้นเคย   พอใจแรงงานไทยในความขยัน ความรับผิดชอบในงานและสามารถไว้ใจได้ แม้ว่าก่อนหน้านั้นเคยมีแรงงานจีนเข้าไปแย่งตลาดแรงงานเกษตรของแรงงานไทยส่วนนี้แต่ไม่สามารถแข่งขันกับแรงงานไทยได้เพราะแรงงานจีนมีชื่อเสียเรื่องหลบหนีนายจ้าง

นอกจากนี้มีการนำเข้าแรงงานเนปาลไปทำงานเกษตรในอิสราเอล   โดยเริ่มที่เขตกุชกาติฟซึ่งทางการไทยไม่อนุญาตให้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในเขตดังกล่าว แต่หลังจากมีการถอนตัวจากเขตกุชกาติฟแล้วก็ตามและแม้ว่าแรงงานเนปาลได้ทำงานภาคเกษตรอยู่ทั่วไปในประเทศอิสราเอล แต่การทำงานไม่เป็นที่พอใจนักของบรรดาของนายจ้างเหมือนคนไทย

ส่วนงานในร้านอาหารต่างชาตินั้น แรงงานไทยยังเป็นที่ต้องการมาก แม้ทางการอิสราเอลลดโควต้าลงทุกปี เนื่องจากต้องการให้แรงงานท้องถิ่นเข้าไปทำงานแทน   แต่ยังไม่สามารถทำงานได้ดีเท่าพ่อครัวคนไทย ไม่ว่าในร้านอาหารไทย จีน หรือญี่ปุ่น  ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในประเทศอิสราเอลดังนั้นแนวโน้มของตลาดแรงงานไทยในร้านอาหารต่าง ๆ ในอิสราเอลจะลดลงตามโควต้าในแต่ละปี

สำหรับงานก่อสร้าง แรงงานไทยไม่สามารถแข่งขันแรงงานจากชาติอื่นได้  เพราะฝีมือและความสามารถของแรงงานไทยทางด้านการก่อสร้างยังเป็นรองแรงงานจากชาติอื่น ซึ่งทำงานได้รวดเร็วกว่า

ส่วนงานดูแลคนชรา/คนป่วย/พิการ  แรงงานไทยยังเป็นรองชาติอื่นมากในด้านภาษาซึ่งใช้ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการทำงาน    ตลาดแรงงานไทยใน 2 สาขานี้ในประเทศอิสราเอล จึงมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ยาก

สำหรับโครงการที่ถูกต้องตามกฎหมายที่นำคนไทยไปทำงานที่อิสราเอล คือ โครงการทีอีซี (Thailand – Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล ในการจัดหางานแก่คนไทย อายุ 23-29 ปี โดยค่าใช้จ่ายก่อนการเดินทางไปทำงานอิสราเอลจะอยู่ที่ 70,350 บาท

กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ารายได้ของแรงงานไทยในอิสราเอล เฉลี่ยอยู่ที่ 55,000 บาทต่อเดือน เป็นระบบการจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ โดยแรงงานจะสามารถเดินทางไปทำงานได้เพียง 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน

อาชีพที่คนไทยเข้าไปทำงานในอิสราเอลมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาคเกษตรกร (83%) พ่อครัวชั้นหนึ่ง (0.46%) คนงานทั่วไป (0.42%) ช่างประกอบท่อ (0.29%) และคนทำครัว (0.29%) 

ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของอิสราเอลสำหรับแรงงาน คือ 5,300 เชเกลต่อเดือน (ต่อการทำงานปกติ 186 ชั่วโมงต่อเดือน) หรือตีเป็นเงินบาทไทย ก็จะอยู่ที่ 53,000 บาทต่อเดือน เพราะ 1 เชเกลอิสราเอล จะเท่ากับราวๆ 10 บาทไทย 

แต่เงื่อนไขการทำงานอิสราเอลนั้น พบนายจ้างมีสิทธิหักเงินค่าจ้างได้ตามกฎหมาย เช่น ภาษีรายได้ การประกันสังคมแห่งชาติ ค่าที่พักอาศัย ค่าประกันสุขภาพ และเงินที่นายจ้างจ่ายล่วงหน้าให้ลูกจ้างไปก่อน ทั้งนี้ เงินที่หักในแต่ละเดือนรวมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 25% ของค่าจ้าง

ส่วนค่าจ้างล่วงเวลา แรงงานที่ทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตั้งแต่ชั่วโมงที่ 9 เป็นต้นไป โดย 2 ชั่วโมงแรกที่เกินชั่วโมงทำงานปกติ จะได้รับค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 125% ของค่าจ้างปกติ ส่วนชั่วโมงที่ 3 เป็นต้นไป จะได้รับค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 150% ของค่าจ้างปกติ

แต่เนื่องจากกฎหมายอิสราเอล อนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานในประเทศอิสราเอลได้ไม่เกิน 5 ปี ฉะนั้นแรงงานต่างชาติที่ทำงานครบ 5 ปีแล้ว มักต้องการกลับไปทำงานอีก จึงเดินทางกลับประเทศต้นทาง เพื่อเปลี่ยนชื่อ นามสกุล และเอกสารการเดินทางใหม่ แล้วกลับไปทำงานในประเทศอิสราเอลอีกครั้ง   

ก่อนที่ทางการอิสราเอลออกระเบียบเพิ่มเติมในการอนุญาตวีซ่าแก่แรงงานต่างชาติเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล โดยต้องแสดงหลักฐานใบสูติบัตรด้วย รวมทั้งพิมพ์ลายนิ้วมือ หากตรวจพบว่าผู้ใดเคยอยู่ในประเทศอิสราเอลมา 5 ปีแล้ว จะปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศอิสราเอล หรือส่งกลับประเทศภูมิลำเนาเดิม

จากข้อมูลยังพบว่า แรงงานไทยได้เริ่มเข้าไปทำงานในอิสราเอลตั้งแต่ปี 2523 งานที่ทำในระยะแรกได้แก่ พ่อครัว แม่ครัว และช่างฝีมือต่างๆ เช่น ช่างเชื่อม ช่างแอร์ ช่างซ่อมรถยนต์ ก่อนที่ในปี 2527 จำนวนแรงงานไทยได้เพิ่มขึ้นเป็นพันคน โดยเข้าไปทำงานในรูปอาสาสมัครตามคิบบุตซ์และโมชาฟ  

ในปี 2537 หลังจากปิดพรมแดนอิสราเอลกับเขตยึดครองเพื่อป้องกันปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่มปาเลสไตน์หัวรุนแรง ทางการอิสราเอลได้อนุญาตให้มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติแทนคนงานปาเลสไตน์ในภาคก่อสร้างและภาคเกษตร 

ดังนั้น คนไทยจึงเริ่มเข้าไปทำงานในอิสราเอลมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจำนวนเกือบ 26,000 คนในปัจจุบัน โดยทำงานในชุมชนอิสราเอลที่เรียกว่า Kibbutz จำนวน 267 แห่ง และในชุมชนอิสราเอลที่เรียกว่า Moshavจำนวน 448 แห่งทั่วประเทศ 

แรงงานไทยในอิสราเอลส่วนใหญ่ทำงานในฐานะคนงานภาคเกษตร โดยสามารถยึดตลาดแรงงานภาคเกษตรได้เกือบทั้งหมด อัตราการเรียกรับค่าบริการสำหรับแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล อยู่ระหว่าง 60,350-350,000 บาท หรือ ประมาณ 1,700-10,000 เหรียญสหรัฐ 

ซึ่งค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เก็บจากคนหางานนี้ บริษัทจัดหางานในประเทศไทยต้องจ่ายให้บริษัทจัดหางานอิสราเอลค่าการตลาด ค่าดูแลคนงานตลอดสัญญาจ้าง  ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวกลับ  ค่าประกันสุขภาพสำหรับ 2 ปีแรกและจ่ายให้นายจ้างอีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางตัวเลขรายได้ที่หวือหวาและคงหาได้ยากในตลาดแรงงานของประเทศไทยในประเภทกลุ่มงานหนัก โดยมีข่าวแรงงานไทยเสียชีวิตในอิสราเอล ปรากฏรายเดือนให้เห็นตามหน้าสื่อ โดยส่วนใหญ่เป็นคนภาคเหนือและอีสานของไทย เพราะเป็นกลุ่มคนที่เข้าไปทำงานในอิสราเอลมากสุด เสียชีวิตด้วยเหตุเจ็บป่วย ปัญหาสุขภาพ เรื่อยไปจนถึงไหลตาย เพราะทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ขณะเดียวกัน ในอดีตยังเคยเกิดเหตุการณ์คนไทยเสียชีวิตจากการปะทะด้วยเหตุความไม่สงบในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

แม้ว่า รัฐบาลไทยให้คำมั่นว่าจะอพยพประชาชนไทยออกจากอิสราเอลทั้งหมดในช่วงเวลาเหตุการณ์ความไม่สงบนี้โดยอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เผยแรงงานขอเดินทางกลับไทยกว่า 7 พันคนแต่พอถึงเวลามีรายงานไทยบางส่วนมีความประสงค์จะอยู่ในอิสราเอลต่อไปแบบ “ยอมตายแต่ไม่ยอมอด” เพราะยังมีภาระหนี้สินที่กู้ยืมมาจ่ายนายหน้า ค่าเดินทางแสนกว่าบาทและเพื่อหาเลี้ยงปากท้องที่เป็นกำลังหลักของครอบครัวที่บ้านเกิด

จากตัวอย่างคนไทยคนหนึ่งทำงานอยู่ที่ทาลมีโยเซฟ (TalmeiYosef) ที่ไม่ไกลจากฉนวนกาซ่ามากนัก กล่าวว่า “ผมเป็นลูกชายคนโตของบ้าน ผมต้องดูแลพ่อแม่ ภรรยาและลูกอีก 2คน ผมทำงานมา 9 เดือนแล้ว และส่งเงินเกือบทั้งหมดกลับบ้าน หากผมกลับไป ผมยังต้องการกลับมาทำงานที่ประเทศอื่นอยู่ ด้วยหนี้สินที่ผมมี ผมไม่สามารถหางานในประเทศไทยที่ให้รายได้พอ”

ถ้าว่าตามข้อเท็จจริงแล้วแม้ว่าอิสราเอลจะเป็นพื้นที่สงครามที่น่ากลัวที่สุดและสภาพชีวิตการทำงานที่มักถูกถ่ายทอดออกมาบ่อยๆ ว่าไม่ค่อยสะดวกสบายนักและงานหนัก แต่คนไทยกลุ่มหนึ่งก็อยากเข้าไปทำงานเพราะอิสราเอลต้องอาศัยแรงงานไทยเป็นอันดับต้นๆในการทำงานภาคเกษตร หากเดินทางกลับแล้วย่อมสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลเหมือนกับไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในธุรกิจหลายด้าน

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์แรงงานไทยในอิสราเอลอยู่ในขั้นวิกฤติ รัฐบาลไทยคือความหวังเดียวเพื่อช่วยเหลือคนไทยถูกจับเป็นตัวประกันได้รับการปล่อยตัวปลอดภัย เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ได้แสดงความคาดหวังว่า แรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันจะได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดหากได้มีการชี้แจงว่าไทยเราไม่ได้มีความขัดแย้งกับทั้งสองฝ่ายแรงงานไทยเป็นคนทำงาน ไม่มีเหตุผลที่จะต้องมาทำร้ายคนไทย เพียงแต่ว่าตอนที่ชุลมุนคงไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นใครคงถูกจับไปทั้งหมด  

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้วางแนวทางการช่วยเหลือแรงงานไทยถูกจับเป็นตัวประกันไว้ 2แนวทาง

แนวทางแรก ส่งตัวแทนรัฐบาล พบกับตัวแทนรัฐบาลปาเลสไตน์ ที่มาเลเซีย เพื่อหาทางช่วยเหลือคนงานไทย

แนวทางที่สอง คือส่งตัวแทนรัฐบาลไทยเจรจาผ่านตุรกี ให้ช่วยเจรจากับกลุ่มฮามาส เพื่อให้ปล่อยตัวคนไทย

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและทูตไทย ที่จะต้องใช้สรรพกำลังทุกทางเพื่อให้แรงงานไทยทั้งหมดปลอดภัย  ท่ามกลางความห่วงใยของครอบครัวแรงงานไทยและคนไทยทั้งประเทศ.