Think In Truth

'แลนด์บริดจ์ไทย'จะไปต่อหรือว่าพอแค่นี้ โดย ... พินิจ จันทร



ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) หรือจะเรียกว่าสะพานเศรษฐกิจนั้นเป็นโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเชื่อมทะเลอันดามันและอ่าวไทย (จังหวัดระนอง - ชุมพร)

ทั้งนี้เพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมขนส่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของช่องแคบมะละกา ลดเวลาการเดินทาง รวมทั้งลดต้นทุนโดยเฉลี่ยได้ถึง 15% และไม่เพียงเท่านี้ ยังมีเป้าหมายที่จะช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่ และจะช่วยกระตุ้น GDP ของประเทศอีกด้วยโดยแลนด์บริดจ์จะมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะถูกใช้ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก การพัฒนาพื้นที่และการสร้างระบบขนส่ง โดยรัฐบาลจะเดินหน้านำเสนอโครงการนี้ให้กับนักลงทุนต่างชาติมาร่วมลงทุน และคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ.2572 

ล่าสุด “แลนด์บริดจ์” ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันไปมาระหว่างฝ่ายรัฐบาล (เพื่อไทย) กับฝ่ายค้าน (ก้าวไกล) โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลระบุว่าจะนำพาประเทศไทยพัฒนา จนเด็กๆ ไม่อยากย้ายประเทศ แต่ฝ่ายค้านก็ออกมาโต้ว่าไม่คุ้มค่า พร้อมขอให้รัฐบาลศึกษาให้รอบคอบเสียก่อน จนกลายเป็นการโต้ตอบกันอย่างดุเดือด

ศิริกัญญา ตันสกุลสส.บัญชีรายชื่อหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลได้ออกมาตั้งคำถามกับโครงการแลนด์บริดจ์ของรัฐบาล ในการแถลงภาพรวมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ระบุถึงความคุ้มค่าของโครงการและผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งนี้ ศิริกัญญายืนยันว่าตนเห็นด้วยกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ แต่รัฐบาลจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ ก่อนจะเดินหน้าทำโรดโชว์ต่อไป

 

ศิริกัญญา ตันสกุลสส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล

12 มกราคา 2567  ศิริกัญญา และ สส.จากพรรคก้าวไกล รวม 4 คน ได้ออกมาแถลงข่าวลาออกจากคณะกรรมาธิการโครงการแลนด์บริดจ์ โดย “ศิริกัญญา” ชี้ว่า ได้มีการซักถามเรื่องความคุ้มค่าของโครงการ รวมถึงเส้นทางการเดินเรือ ซึ่งยังไม่ได้คำตอบ แต่ประธานพยายามลงมติเพื่อรับรายงาน ตนและ สส. คนอื่นๆ จึงขอออกจากกรรมาธิการเพื่อไม่ให้เป็น “ตรายาง” ในการอนุมัติรายงานฉบับนี้

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ สส. พรรคก้าวไกลลาออกจากกรรมาธิการ ระบุว่า มองทุกอย่างเป็นเรื่องการเมือง จะทำให้ประเทศเดินไปไหนไม่ได้และ “ศิริกัญญา” ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ ว่าไม่ได้พยายามเล่นการเมือง แต่อยากทำทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา พร้อมตั้งคำถามกลับว่าฝ่ายไหนกันแน่ที่เล่นการเมือง

ต่อมา 15 มกราคม 2567  ศิริกัญญา ได้ไปออกรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ พร้อมกับ“ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” สส. จากพรรคเพื่อไทย โดยพูดคุยถึงประเด็นเรื่องแลนด์บริดจ์ โดย“ศิริกัญญา” ระบุว่า หมดเวลาจินตนาการเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์แล้ว และรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากว่านี้ ขณะที่ “ธีรรัตน์” ได้แย้งระบุว่าโครงการนี้มีความยืดหยุ่น และอยากให้ “มูฟออน” จากเรื่องนี้ได้แล้วเนื่องจากเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาได้มหาศาล

ทางด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะใช้โอกาสในการเดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปคในครั้ง จะเชิญชวนนักลงทุนลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นจะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ และจะขยายเป็นฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะภาคการเกษตร แต่จะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเกิดขึ้นด้วย ซึ่งจะยกระดับรายได้ประชาชน และ เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น  

     

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นในการพบกับนักลงทุนในสหรัฐ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกครั้งที่เดินทางต่างประเทศ ได้แจ้งความคืบหน้า และก็จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ยังเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ตัดสินใจวางอนาคต แม้โครงการยังไม่เกิดขึ้นทันที ต้องใช้เวลานาน แต่ก็จะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเล็งเห็นโอกาส จากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และอาจจะตัดสินใจไม่ย้ายประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องสร้างแรงบันดาลใจ เพราะประเทศเราต้องดีขึ้น หากเรามีเขตอุตสาหกรรมที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ และ คนไทยมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะร่วมกันพัฒนา ก็จะเป็นจุดศูนย์กลางที่จะหล่อหลอมให้สังคมดีขึ้นได้ 

สำหรับข้อเสนอที่จะจูงใจนักลงทุน ให้เลือกมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีทั้งมาตรการทางภาษี พลังงานสะอาดที่รัฐบาลให้ความสำคัญ การบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรม การเป็นศูนย์กลางการบิน มีรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง สำหรับโลจิสติกส์ และแลนด์บริดจ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นปัจจัยสำคัญให้นักลงทุนตัดสินใจ        

ส่วนในมิติสังคม ประเทศไทยไม่แตกแยกเท่าบางประเทศ แม้ย่อมมีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ นักลงทุนต่างชาติจะดูตรงนี้เป็นหลัก อีกทั้ง ไทยยังมีโรงเรียนและสถานพยาบาลมาตรฐานระดับโลก ซึ่งเป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจของนักลงทุนเช่นกัน      

ท่ามกลางวิวาทะเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ในขณะนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 23 ได้เคยแสดงทัศนะในเรื่องนี้ไว้ ผ่านข้อเขียนเรื่อง Turn My Exile to Learning Period (3) ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อเดือนตุลาคม 2566 เล่าเรื่องราวหลังได้รับเชิญจากเพื่อนชาวมาเลเซียให้ไปดูกิจการท่าเรือ พร้อมขอคำแนะนำ โดยมีเนื้อหาทั้งหมดดังนี้

หายไปหลายวันครับ

เพราะหลังจากกลับจากเกาหลีก็ไปแวะสิงคโปร์ ขณะที่อยู่สิงคโปร์ก็มีเพื่อนที่เป็นเจ้าของท่าเรือที่ใหญ่มากของมาเลเซียเป็นคู่แข่งโดยตรงกับท่าเรือสิงคโปร์ มาเชิญผมไปเยี่ยมดูกิจการของเขาเพื่อขอคำแนะนำในการขยายกิจการ เขาได้รับสัมปทานที่ดินผืนใหญ่ติดทะเลจากรัฐบาลดร.มหาเธร์เมื่อปี 1994 และมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 พร้อมเรา (2540) ต่อมาโชคดี ได้บริษัท MAERSK ที่เป็นบริษัทเดินเรือใหญ่อันดับหนึ่งของโลกเข้ามาถือหุ้น เขาจึงแย่งลูกค้าจากสิงคโปร์ได้มาก

ปัจจุบันมีปริมาณสินค้าขึ้นลงอยู่ที่ 8 ล้าน TEU (หน่วยนับสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 20 ฟุต) มากกว่าท่าเรือไทย 2 เท่า แต่ก็ยังน้อยกว่าสิงคโปร์ ปรากฎว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าผ่านไม่ได้ เป็นสินค้าที่ลง ณ ประเทศมาเลเซียอย่างเดียว ที่สิงคโปร์ก็เช่นกัน ผมหันไปมองฝั่งสิงคโปร์เรือเข้าคิวยาวเป็นวันๆ แต่ฝั่งมาเลเซียไม่มีคิวเลย เพราะเป็นท่าเรือที่ใหญ่มาก ปัจจุบันมีอยู่ 12 berths และกำลังจะขยายเป็น 15 berths

 

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 23

ที่เล่าให้ฟังก็เพราะว่า อยากจะบอกว่าเขากล้ามากที่กล้าชนกับสิงคโปร์ที่ผูกขาดการขนส่งทางทะเลมานาน แต่ที่กล้าเพราะรัฐบาลมาเลเซียแบ็คเขาเต็มที่ และสถานที่ทำท่าเรือตอนนี้ก็ตรงกับตำราที่ว่า ทำเลทำเลทำเล (Location Location and Location นั่นเองครับ) นอกจากการเป็นท่าเรือแล้ว เขายังเป็นFree Zoneที่มีการมาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์บ้าง สินค้าหนักบ้าง แล้วส่งไปขายยังประเทศอื่น รวมทั้งเขาอยากให้ทำปิโตรเคมี ที่เก็บน้ำมันและโรงกลั่นแข่งกับสิงคโปร์เต็มที่ ความกล้าของเขาทำให้ลีกวนยูเคยนำเรื่องเขาไปพูดในสภาว่า ท่าเรือสิงคโปร์ต้องไม่แพ้ไอ้เด็กลูกชาวนาภาคเหนือของมาเลเซียคนนี้

 

ผมไปเสร็จ ผมถึงบางอ้อเลยว่าทำไมความพยายามสร้างคอคอดกระหรือแม้กระทั่งไม่ขุดเป็นคลองแต่ทำเป็นเหมือนสะพานบกเชื่อม 2 ฝัง (Land Bridge) ตะวันตก(อันดามัน) มาตะวันออก(อ่าวไทย) จึงไม่เกิดซักที เพราะถ้าเกิดท่าเรือทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียแห้งตายทั้งคู่ เพราะสินค้าที่เป็นสินค้าผ่าน (Transhipment) จะไม่ไปทางใต้แน่ รวมทั้งน้ำมันเพราะประหยัดการเดินทางอย่างน้อย 8 วัน มันบอกอะไรให้รู้อย่างหนึ่งว่าประเทศไทยของเราอยู่มาอย่างไม่ค่อยจะมียุทธศาสตร์ เราแก้ปัญหาวันต่อวัน เราไม่ค่อยคิดอะไรเป็น Long Term เพราะการเมืองเราไม่พัฒนา มีการทะเลาะเบาะแว้ง รัฐบาลจะอยู่สั้น ก็เลยไม่มีข้าราชการ องค์กรรัฐ เอกชนก็ไม่เคยคิดจะทำอะไรที่เป็น Long Term อย่างมียุทธศาสตร์ สงสัยคงต้องมีหลักสูตรหมากรุกสากลในโรงเรียนเสียแล้ว เพราะจะสอนให้เด็กได้คิดวิธีเดินแบบมียุทธศาสตร์ มีสมาธิ และรู้เขา รู้เรา

วันนี้เรารู้เรายังน้อย แต่รู้โลกรู้ภูมิภาคยิ่งน้อยไปอีก เราอยู่ในโลกของการแข่งขัน ถึงแม้เราจะบอกว่าเราไม่แข่งกับใคร เขาก็บอกว่าโลกมันเชื่อมโยงกันหมดแล้ว คน สินค้า เงินทอง ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ มันไม่หยุดนิ่ง มันเดินทางไปได้ทั่วโลก คุณไม่แข่งผมก็จะแข่งกับคุณ นี่คือความจริงของโลกปัจจุบันครับ

ผมขอให้ระดับประเทศ ระดับองค์กรในประเทศน้อยใหญ่ ทั้งรัฐและเอกชนต้องอยู่อย่างมียุทธศาสตร์ จึงจะเอาตัวรอดในโลกใหม่ครับ ขอให้โชคดีเป็นของคนไทยและประเทศไทยครับ.

อย่างไรก็ตามแลนด์บริดจ์ “ระนอง-ชุมพร” หรือช่องแคบ “มะละกา” จะเป็นประตูสู่เอเชีย ยังสามารถตั้งคำถามว่าจะช่วงชิงประตูสู่เอเชียจากช่องแคบมะละกาได้หรือไม่

1.ในขณะที่รัฐบาลกำลังทุ่มสรรพกำลังผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ให้เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร เกิดขึ้นจริง จะช่วงชิงประตูสู่เอเชียจากช่องแคบมะละกาได้หรือไม่ ?

2.ช่องแคบมะละกาตั้งอยู่ระหว่างประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์กับประเทศอินโดนีเซีย (เกาะสุมาตรา) เป็นเส้นทางการเดินเรือที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของโลก

3.ท่าเรือสิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในการรองรับเรือที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกา โดยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมานานหลายปี ไม่ว่าจะพิจารณาจากน้ำหนักสินค้าทุกประเภท หรือจากปริมาณคอนเทนเนอร์ก็ตาม

4.ปัจจัยหลักที่จูงใจให้เรือมาใช้บริการที่ท่าเรือสิงคโปร์จำนวนมากก็คือ มีทำเลที่ดีทำให้เกิดเป็นศูนย์รวมของเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลกกว่า 200 สาย ให้บริการเชื่อมโยงท่าเรือกว่า 600 แห่งทั่วโลก

5.คาดกันว่าถ้ามีแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะช่วยร่นระยะทางและระยะเวลาการเดินเรือระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของไทยได้เมื่อเทียบกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา หลายคนเห็นด้วยว่าระยะทางนั้นสั้นกว่า แต่ไม่แน่ใจว่าระยะเวลาจะสั้นกว่าหรือไม่

ทั้งหลายทั้งมวลที่ได้หยิบยกขึ้นมารายงานนี้ก็เพื่อให้คนไทย ร่วมกันตัดสินใจและชั่งน้ำหนักดูว่า “แลนด์บริดจ” เห็นควรจะเดินหน้าต่อไปหรือว่าดองเค็มเอาไว้เหมือนกับ “คอคอดกระ” หรือ “คลองไทย” ซึ่งแม้ว่าจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่ดูเหมือนว่าอะไรที่มันต้องลงทุนมหาศาลกับประเทศไทยแล้วถ้าไม่สามารถแบ่งปันผลประโยชน์ให้ลงตัว ถ้าไม่มีพลังอำนาจพิเศษแล้วก็ยากจะบรรลุผลได้โดยง่าย.