Think In Truth

เจาะลึก...'พลังงาน'ขุมทรัพย์ใต้แผ่นดิน (ตอนที่ 2) โดย ....พินิจ จันทร



หลังจากที่ทำให้ทำคนไทยตื่นเต้นดีใจเป็นกันใหญ่ตามที่ได้รายงานไปในตอนที่ 1 คือจากการที่รัฐบาลออกมาประกาศพบแหล่งแร่ลิเทียมในแหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม จ.พังงา และแหล่งแร่โซเดียมอีกเป็นจำนวนมาก ในภาคอีสาน ถือเป็นแร่หลัก หรือวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% จะทำให้ไทยเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง และฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาคแห่งนี้ 

แต่แล้วความหวังของคนไทยก็ต้องฝันสลายเมื่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกมาชี้แจงว่าแหล่งลิเทียมที่แหล่งเรืองเกียรติ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา มีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ หรือ Mineral Resource เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน และสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 25 จะนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน

พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่าMineral Resourcมีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resourceซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ

นอกจากนี้แล้วจากข้อมูลทางด้านวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องแร่ธาตุได้ออกมาระบุว่า

1. สินแร่(หิน) Lepidolite 25 ล้านตัน ไม่ใช่ลิเธียมออกไซด์ 25 ล้านตัน ตามที่ตีข่าวใหญ่โต มีลิเธียมออกไซด์ ไม่เกิน 0.45% ของหินชนิดนี้ที่แหล่งนี้

2. แหล่งเล็กมาก ต่อให้เอา 2 แหล่ง และต่อให้มีหินแร่รวมกัน 25 ล้านตัน ก็คาดว่าขุดหินแร่มาใช้ได้อย่างเก่งแค่ 10 ล้านตัน ถ้าแยกแร่ได้ดีเยี่ยม ก็เหลือลิเธียมออกไซด์ไม่เกิน 3 หมื่นตัน

3. ที่สำคัญสุดคือเกรดต่ำ ต่อให้นำสินแร่ขึ้นมาได้ ยกสินแร่ให้ฟรี ๆ ก็ไม่เอา เพราะเกรดต่ำมาก 0.45% ปกติเกรดที่คุ้มค่าการลงทุนแต่งแร่ คือ 0.9% ค่าสกัดให้เป็นลิเธียมออกไซด์ ต่อตันอาจแพงกว่าราคานำเข้าเสียอีก ประมาณว่า แหล่งนี้ต้องใช้หินแร่(สินแร่) ถึง 300 ตัน จึงจะสกัดลิเธียมออกไซด์ได้ 1 ตัน

ดร.ประหยัด นันทศีล นักธรณีวิทยาและอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การพบแร่ลิเทียมในแร่เลพิโดไลต์ที่มีในสายแร่เพกมาไทต์นั้น ในมุมของนักธรณีวิทยาแล้วรู้กันมานานแล้วว่ามีในไทย ตั้งแต่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลงมาอุทัยธานี และกาญจนบุรี ไล่ลงไปทางใต้ จนถึงประเทศอินโดนิเซีย ว่ามีโอกาสที่จะพบแร่ตัวนี้ เพราะปกติมีโอกาสเกิดร่วมกับแร่ดีบุก

ส่วนแหล่งแร่ที่มีธาตุโซเดียมนั้นก็พบว่ามีอยู่ใต้แผ่นดินอีสานมานานแล้ว แต่ไม่มีใครพัฒนามาทำแบตเตอรี่แทนลิเทียมเท่านั้น ดังนั้นการพบว่าธาตุโซเดียมอาจจะทำหน้าที่ได้เหมือนธาตุลิเทียมได้นั้นนับว่าเป็นข่าวดี แต่การนำมาใช้งานจริงๆ นั้นต้องทำการศึกษาอีกระยะหนึ่ง

แม้การค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมในไทยเป็นทางเลือกหนึ่งก็จริง แต่ต้องทำงานกันอย่างหนักในเชิงวิศวกรรมทางเคมี เพราะแร่เลปิโดไลต์ (Lepidolite) อยู่ในกลุ่มไมก้า มีสูตรเคมีซับซ้อน ทำให้การสกัด Li ออกมาย่อมยากกว่าเป็นธรรมดา

“เป็นสิ่งที่ดีในการค้นพบแหล่งใหม่ เพียงแต่ว่าเทคโนโลยีการสกัดเอาธาตุลิเทียมออกมาจากแร่เลพิโดไลต์นั้นยังไม่คุ้มทุน ซึ่งนักวิศวกรรมเคมีกำลังพยายามพัฒนาวิธีสกัดที่คุ้มทุน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด”

ธาตุลิเทียมในแร่สปอดูมีน สกัดได้ง่าย ไม่เคยพบในไทยแต่หากว่าเป็นธาตุลิเทียมในแร่สปอดูมีน (Spodumene) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของแร่ในกลุ่มไพรอกซีน ก็มีองค์ประกอบของธาตุลิเทียมอยู่ และมีสูตรเคมีที่ซับซ้อนน้อยกว่า และสกัดได้ง่ายกว่า แต่ในประเทศไทยยังไม่พบแร่ตัวนี้ เรามีแต่แร่ Lepidoliteที่มักจะเกิดร่วมกับแหล่งแร่ดีบุก แต่จะมีปริมาณแร่เลพิโดไลต์มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่สภาพธรณีวิทยาของแต่ละแหล่ง

กรณีแหล่งแร่ของธาตุโซเดียมที่พบในภาคอีสานของไทย ก็คือชั้นหินเกลือ หรือ evaporiteจากหมวดหินมหาสารคาม เพราะเคยมีทะเลมาก่อน ทำให้ได้ชั้นหินเกลือที่หนามากๆ ที่ชาวบ้านนำมาทำเกลือสินเธาว์ นับว่าเป็นความรู้ใหม่ที่โซเดียมสามารถมาทำเป็นหน้าที่เหมือนลิเทียมได้เช่นกัน แต่ยังคงเป็นขั้นของการทดลองในห้องปฏิบัติการ การนำมาใช้งานจริงนั้นยังคงต้องศึกษากันอีกสักพัก ซึ่งในชั้นหินเกลือ มีเกลือแกงที่เป็นสารประกอบเคมีโซเดียมคลอไรด์ หรือเรียกว่าแร่เฮไลต์ (Halite) อยู่เป็นจำนวนมากที่สุด

แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราให้ความสนใจเฉพาะเกลือที่มีโพแทสเซียมที่จะนำมาทำปุ๋ย เราเลยรู้จักหน่วยหินนี้ในนามของแหล่งแร่โพแทช แต่ถ้าเทียบปริมาณแล้วปริมาณแร่ที่มีธาตุโพแทสเซียมนั้นก็น้อยกว่าเกลือแกงที่มีธาตุโซเดียมอยู่น้อยกว่ามาก

“อันนี้เป็นข่าวดีที่พบว่าสามารถนำโซเดียมมาแทนลิเทียมได้ แต่ก็ต้องศึกษาอีกไม่น้อย หากจะนำมาใช้งายจริง ส่วนประเด็นของลิเทียมในแร่เลพิโดไลต์ทางภาคใต้นั้นต้องพิจารณาว่าภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน และเงื่อนไข ระเบียบการ หรือกฎหมายเหมืองแร่ของไทยในปัจจุบันนั้นมีความคุ้มทุนหรือไม่ คงต้องถามคนในวงการเหมือง และนักลงทุนดู”

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพบแหล่งแร่ลิเทียมและโซเดียม แร่หลักในการผลิตแบตเตอรี่อีวี โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เรียกร้องให้เร่งดึงเอกชนลงทุนเพื่อดันไทยเป็นฐานผลิตแบตอีวีควบคู่รถอีวี ว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเพื่อสอดรับกับนโยบายสนับสนุนฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% (อีวี) ซึ่งเรื่องนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กพร.เร่งพิจารณาสนับสนุนการลงทุนเหมืองของเอกชนแต่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าไทยจะมีศักยภาพค้นพบแร่ลิเทียมในหลายพื้นที่ของไทย โดยปัจจุบันมีเอกชน 3 รายสนใจเข้าลงทุนเหมืองลิเทียม ประกอบด้วย บริษัท สยามโลหะอุตสาหกรรม จำกัด ได้อาชญาบัตรพิเศษ (สำรวจ)แล้ว 3 แปลง ระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562-14 กุมภาพันธ์ 2567 ใน ต.ท่าอยู่ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เนื้อที่รวมกว่า 23,000 ไร่

ทั้งนี้จากอาชญาบัตรพิเศษ 3 แปลง พบแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณแร่ดิบประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง โดยลิเทียมจากแหล่งเรืองเกียรติ หากมีการอนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมือง คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน

นอกจากนี้ยังมีเอกชนอีก 2 รายที่ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษ 1 ราย คือ บริษัท พีวีเคไมน์นิ่ง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เนื้่อที่รวมเกือบ 20,000 ไร่ และคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ 1 ราย คือ บริษัท สลามมาลาโด ต.ถ้ำทะลุ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เนื้อที่รวมกว่า 4,700 ไร่ โดย กพร.อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตให้สำรวจ

นายอดิทัตกล่าวว่า สำหรับปริมาณสำรองทั้งหมดของไทยต้องเก็บข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะตัวเลขของไทยตอนนี้เป็นปริมาณแร่ดิบ ยังไม่ใช่ปริมาณสำรองแร่ที่ต้องสำรวจและวิเคราะห์ในขั้นตอนต่อไป ดังนั้น ไทยจึงยังไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณสำรองเทียบกับประเทศอื่นของโลกได้ ประกอบกับการสำรวจแร่ลิเทียมปัจจุบันดำเนินการกันทั่วโลกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอีวี ทำให้ข้อมูลแร่ปรับเปลี่ยนได้ตลอดทุกวัน จึงยังไม่บอกไม่ได้ว่าไทยอยู่อันดับใด

นอกจากนี้กรณีที่มีการค้นพบแร่โซเดียม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสาน ซึ่งเป็นแร่ที่มีความเค็มจำนวนมาก สามารถนำมาผลิตแบตอีวีได้เช่นกันนั้น เรื่องนี้ต้องรอผลวิจัยที่ชัดเจนก่อนจึงจะประเมินศักยภาพ การลงทุนเหมืองในอนาคตได้

ถ้าจะว่าไปแล้วประเทศไทยได้สำรวจและค้นพบแหล่งพลังงานที่สำคัญทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะแหล่งปิโตเลียม (แก๊ส) บ่อน้ำมันและแร่ธาตุอีกมากมาย (อ่านในตอนต่อไป) ซึ่งพลังงานเหล่านี้ล้วนเป็นขุมทรัพย์ใต้ดินของคนไทยแต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่เป็นไปตามรัฐบาลประกาศเอาว่าประเทศไทยจะมีความรุ่งโรจน์และคนไทยจะมีความร่ำรวยกันถ้วนหน้าก็หาไม่.