In Bangkok

กทม.สั่งจับตาฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนโออาร์ซี ชูต้นแบบคัดแยกขยะเขตบางนา



กรุงเทพฯ-บางนาจับตาฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนโออาร์ซีพรีเมียร์ ชูต้นแบบคัดแยกขยะ AIA East Gateway กำจัดเศษอาหารให้เป็นศูนย์ สำรวจสวนหย่อมโครงการดาดฟ้าลาซาล จัดระเบียบผู้ค้าถนนสรรพาวุธและซอยสุขุมวิท 103 

(5 เม.ย.67) เวลา 15.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางนา ประกอบด้วย 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท โอ อาร์ ซี พรีเมียร์ จำกัด ถนนริมทางรถไฟสายเก่า ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ดูแลทำความสะอาดพื้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองสะสม ตรวจสอบบ่อคายกากปูนเป็นประจำไม่ให้มีเศษปูนล้นออกมา ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 5 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 8 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 7 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำสถานที่ต้นทาง 13 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารสำนักงานเอไอเอ อีสต์ เกตเวย์ (AIA East Gateway) ถนนเทพรัตน พื้นที่ 167,000 ตารางเมตร พนักงาน 580 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานคัดแยกขยะอินทรีย์ แม่บ้านรวบรวมนำมาไว้จุดที่กำหนด เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะนำขยะอินทรีย์เข้าเครื่องผลิตปุ๋ยที่ติดตั้งอาคาร ซึ่งเป็นการกำจัดเศษอาหารให้เป็นศูนย์ ด้วยนวัตกรรมกำจัดเศษอาหาร 24 ชั่วโมง 2.ขยะรีไซเคิล ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานคัดแยกขยะรีไซเคิล แม่บ้านรวบรวมนำมาไว้ที่ห้องสำหรับเก็บขยะรีไซเคิล เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบนำไปขาย 3.ขยะทั่วไป ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานคัดแยกขยะทั่วไปที่เหลือจากการคัดแยก แม่บ้านรวบรวมนำมาไว้ที่ห้องสำหรับเก็บขยะทั่วไป รอเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานคัดแยกขยะอันตราย แม่บ้านรวบรวมนำมาไว้ที่ห้องสำหรับเก็บขยะอันตราย รอเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะมีดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,630 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2,254 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 281 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 95 กิโลกรัม/เดือน 

สำรวจสวน 15 นาที สวนหย่อมโครงการดาดฟ้าลาซาล ถนนสุขุมวิท 105 ซึ่งโครงการได้จัดสรรพื้นที่ว่างตรงกลางจัดทำเป็นสวนหย่อม เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) โดยปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นและสวยงาม ได้แก่ 1.สวนบึงในฝัน สวรรค์บางนา พื้นที่ พื้นที่ 11 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา โดยปลูกเสริมต้นทองอุไร ต้นหูกระจง จัดสวนหย่อมและมุมพักผ่อน เพิ่มลานกีฬา สนามเปตอง สนามตะกร้อ จุดถ่ายรูปและนั่งเล่นริมบึง 2.สวนหย่อมใต้ทางด่วนสี่แยกบางนา พื้นที่ 8 ไร่ 18 ตารางวา เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษฯ โดยปลูกเสริมต้นทองอุไร ปลูกไม้ดอก ปรับพื้นที่ทางเดินและปูตัวหนอน สวน 15 นาที (สวนใหม่) ได้แก่ 1.สวนหย่อมประติมากรรมสี่แยกบางนา (ควายเหล็ก) พื้นที่ 2 งาน 65 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินของกรมทางหลวง โดยปลูกเสริมต้นทองอุไร ต้นชะแมบทอง ต้นประดู่ ต้นเข็มพิษณุโลก จัดวางเก้าอี้นั่ง 2.สวนหย่อมคลองเคล็ด ซอยบางนา-ตราด 23 พื้นที่ 520 ตารางวา ปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ ปูหญ้า ประดับภาพวาดตามแนวรั้วทางเดินริมคลอง 3.สวนหย่อมโครงการดาดฟ้าลาซาล ถนนสุขุมวิท 105 พื้นที่ 640 ตารางเมตร อยู่ระหว่างประสานขอใช้พื้นที่จัดทำสวน 4.สวนหย่อมข้างโครงการวันอุดมสุข พื้นที่ 128 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 

ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณถนนสรรพาวุธ (หน้าองค์การแก้วเดิม) และซอยสุขุมวิท 103 (อุดมสุข) ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 214 ราย ได้แก่ 1.ปากซอยสุขุมวิท 103 (อุดมสุข) รวมผู้ค้า 124 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. ผู้ค้า 87 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-23.00 น. ผู้ค้า 37 ราย 2.ถนนสรรพาวุธ (หน้าองค์การแก้วเดิม) ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 3.ปากซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) รวมผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. ผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-21.00 น. ผู้ค้า 10 ราย 4.ปากซอยสุขุมวิท 66/1 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 5.หน้าเดอะเครน ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา รวมผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ผู้ค้า 4 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-20.00 น. ผู้ค้า 9 ราย และ 6.หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีบางนา รวมผู้ค้า 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-21.00 น. ผู้ค้า 5 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 9 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 213 ราย ได้แก่ 1.ถนนเทพรัตน (ขาออก) ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-24.00 น. 2.ซอยสุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุขเลขคี่) รวมผู้ค้า 49 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. ผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-23.00 น. ผู้ค้า 31 ราย 3.ซอยสุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุขเลขคู่) ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-24.00 น. 4.ถนนสรรพาวุธ ฝั่งซ้ายหน้าวัดบางนานอก ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-12.00 น. 5.ถนนสรรพาวุธ ซอย 2 (เลียบด่วน) ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. 6.ถนนสรรพาวุธ ท่าน้ำวัดบางนานอก ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. 7.ซอยเพี้ยนพิน ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-20.00 น. 8.ซอยสุขุมวิท 105 (ลาซาล) ผู้ค้า 47 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. และ 9.ถนนเทพรัตน (ขาเข้า) ผู้ค้า 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกหรือยุบรวมพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนเทพรัตน (ขาออก) ผู้ค้า 6 ราย 2.ถนนสรรพาวุธ ซอย 2 (เลียบด่วน) ผู้ค้า 14 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ขีดสีตีเส้นพื้นที่ทำการค้า บริเวณถนนสรรพาวุธ (หน้าองค์การแก้วเดิม) เพื่อกำหนดขอบเขตให้เป็นระเบียบ สำรวจจำนวนผู้ค้าที่ยังทำการค้าอยู่จริง ส่วนซอยสุขุมวิท 103 (อุดมสุข) ซึ่งมีการปรับปรุงทางเท้า ให้เขตฯ ประสานสำนักการโยธาดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด รวมถึงรื้อย้ายสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำทางเท้าไปในคราวเดียวกัน 

ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางประภัสสร จำนงบุตร ผู้อำนวยการเขตบางนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล